คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4028/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในหนังสือเลิกจ้างได้ระบุเหตุผลแห่งการเลิกจ้างโจทก์ว่า โจทก์ทำงานด้วยความสะเพร่าทำให้มีสิ่งปลอมปนในผลิตภัณฑ์ที่ส่งให้ลูกค้า เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ย่อมเห็นได้ว่าที่โจทก์ทำงานด้วยความสะเพร่าจนทำให้มีสิ่งปลอมปนในผลิตภัณฑ์ที่จำเลยส่งไปให้แก่ลูกค้าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (3) นั่นเอง จึงเป็นกรณีที่จำเลยให้การต่อสู้คดีโดยระบุเหตุผลแห่งการเลิกจ้างตรงตามที่จำเลยได้ให้เหตุผลในหนังสือเลิกจ้างแล้ว
เมื่อโจทก์ได้กระทำความผิดโดยทำงานด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง และจำเลยได้ลงโทษโจทก์ในความผิดนี้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยด้วยการพักงานเป็นเวลา 3.5 วัน โดยไม่จ่ายค่าจ้าง ถือได้ว่าความผิดดังกล่าวได้หมดไปด้วยการลงโทษพักงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างแล้ว จำเลยผู้เป็นนายจ้างย่อมไม่อาจนำความผิดดังกล่าวมาเป็นเหตุเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ได้อีก
การกระทำของโจทก์โดยการข่มขู่ผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่สนใจหรือละเลยหรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบคำสั่งกฎข้อบังคับของจำเลย ละทิ้งหน้าที่ในการปฏิบัติงานโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา อันเป็นความผิดตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ 3.2.4 ข้อ 3.1.9 และข้อ 3.2.14 ซึ่งตามมาตรการลงโทษสำหรับความผิดตามข้อ 3.2.4 และข้อ 3.2.14 จะต้องเป็นการกระทำผิดในครั้งที่ 3 จึงจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ส่วนความผิดตามข้อ 3.1.9 จะต้องเป็นการกระทำความผิดในครั้งที่ 2 จึงจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย แต่ทั้งนี้จำเลยจะต้องตักเตือนเป็นหนังสือก่อนที่จะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยในสามกรณีดังกล่าว เมื่อปรากฏว่าโจทก์กระทำความผิดในแต่ละกรณีเป็นครั้งที่ 1 จึงถือได้ว่าตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยมิได้กำหนดให้การกระทำผิดของโจทก์ทั้งสามกรณีดังกล่าวเป็นความผิดในกรณีร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทันที จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เมื่อโจทก์ละทิ้งหน้าที่ในขณะปฏิบัติงาน จึงเป็นกรณีที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่การงานไปเสีย จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้ทันทีโดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินรวมทั้งสิ้น 348,165.525 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยให้การต่อสู้คดีโดยระบุเหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ว่า โจทก์ทำงานสะเพร่าโดยประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง เป็นการยกข้อต่อสู้อื่นนอกเหนือจากเหตุผลที่ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างตามเอกสารหมาย จ.ล.3 ซึ่งกล่าวเพียงว่าโจทก์ทำงานด้วยความสะเพร่าเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายเท่านั้น จำเลยย่อมจะยกเหตุดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การไม่ได้ การที่ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นพิพาทว่าโจทก์ได้กระทำผิดข้อบังคับของจำเลย และทำงานโดยประมาทเลินเล่อจนทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงหรือไม่ แล้ววินิจฉัยว่าโจทก์กระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง เป็นกระบวนพิจารณาที่มิชอบนั้น เห็นว่า ในหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย จ.ล.3 ได้ระบุเหตุผลแห่งการเลิกจ้างโจทก์ว่าโจทก์ทำงานด้วยความสะเพร่าทำให้มีสิ่งปลอมปนในผลิตภัณฑ์ที่ส่งให้ลูกค้า เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ย่อมเห็นได้ว่าที่โจทก์ทำงานด้วยความสะเพร่าจนทำให้มีสิ่งปลอมปนในผลิตภัณฑ์ที่จำเลยส่งไปให้แก่ลูกค้าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (3) นั่นเอง จึงเป็นกรณีที่จำเลยให้การต่อสู้คดีโดยระบุเหตุผลแห่งการเลิกจ้างตรงตามที่จำเลยได้ให้เหตุผลในหนังสือเลิกจ้าง กระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างเหตุผลว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง โดยโจทก์ทำงานด้วยความสะเพร่าทำให้ผลิตภัณฑ์ผงชูรสที่ส่งไปให้ลูกค้ามีสิ่งปลอมปนถึง 4 ครั้ง ซึ่งจำเลยได้ลงโทษโจทก์จากการกระทำความผิดดังกล่าวด้วยการพักงานเป็นเวลา 3.5 วันโดยไม่จ่ายค่าจ้างแล้ว จำเลยจะนำความผิดที่ได้ลงโทษแล้วมาเป็นเหตุเลิกจ้างอีกหาได้ไม่นั้น ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยประกอบธุรกิจผลิตเครื่องปรุงรสโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2534 ตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการแผนกผลิต มีหน้าที่ดูแลการผลิตต้มซอสในช่วงระหว่างปี 2543 ถึง 2545 โจทก์ทำงานประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงโดยโจทก์ไม่ใช้ความระมัดระวังดูแลขั้นตอนการผลิตซอสผง และไม่ดูแลคุณภาพสินค้า ทำให้มีสิ่งปลอมปนในผลิตภัณฑ์ซึ่งจำเลยส่งให้แก่ลูกค้าถึง 4 ครั้ง จำเลยได้ลงโทษโจทก์จากการกระทำความผิดดังกล่าวด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือและพักงานเป็นเวลา 3.5 วัน โดยไม่จ่ายค่าจ้างตามหนังสือแจ้งความผิดทางวินัยเอกสารหมาย จ.ล.1 ดังนี้เห็นว่า เมื่อโจทก์ได้กระทำความผิดโดยทำงานด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงและจำเลยได้ลงโทษโจทก์ในความผิดนี้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเอกสารหมาย จ.ล.6 ด้วยการพักงานเป็นเวลา 3.5 วัน โดยไม่จ่ายค่าจ้าง ถือได้ว่าความผิดดังกล่าวได้หมดไปด้วยการลงโทษพักงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างแล้ว จำเลยผู้เป็นนายจ้างย่อมไม่อาจนำความผิดดังกล่าวมาเป็นเหตุเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ได้อีก อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ที่โจทก์อุทธรณ์ในข้อต่อมาว่า ความผิดอื่น ๆ ที่จำเลยอ้างเป็นเหตุเลิกจ้างตามหนังสือเลิกจ้างลงวันที่ 6 สิงหาคม 2545 เอกสารหมาย จ.ล.3 ล้วนแต่เป็นการกระทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.ล.2 มิใช่ในกรณีร้ายแรง จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์นั้น ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์ได้กระทำความผิดโดยกระทำการข่มขู่ผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่สนใจหรือละเลยหรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบคำสั่งกฎข้อบังคับของจำเลย ละทิ้งหน้าที่ในการปฏิบัติงานโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา อันเป็นความผิดต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.ล.2 ดังนี้เห็นว่า สำหรับการกระทำของโจทก์ต่าง ๆ ดังที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมานั้น เป็นความผิดต่อข้อ 3.2.4 ข้อ 3.1.9 และข้อ 3.2.14 ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมาย จ.ล.2 ตามลำดับ ซึ่งตามมาตรการลงโทษสำหรับความผิดตามข้อ 3.2.4 และข้อ 3.2.14 จะต้องเป็นการกระทำผิดในครั้งที่ 3 จึงจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ส่วนความผิดตามข้อ 3.1.9 จะต้องเป็นการกระทำผิดในครั้งที่ 2 จึงจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย แต่ทั้งนี้จำเลยจะต้องตักเตือนเป็นหนังสือก่อนที่จะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยในสามกรณีดังกล่าว เมื่อปรากฏว่าโจทก์กระทำความผิดในแต่ละกรณีเป็นครั้งที่ 1 จึงถือได้ว่า ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยมิได้กำหนดให้การกระทำผิดของโจทก์ทั้งสามกรณีดังกล่าวเป็นความผิดในกรณีร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทันที จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ สำหรับค่าจ้างอัตราสุดท้ายของโจทก์นั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 24,780 บาท จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธอัตราค่าจ้างดังกล่าวต้องถือว่าจำเลยให้การรับว่าโจทก์มีค่าจ้างอัตราสุดท้ายตามคำฟ้องโจทก์จริง โจทก์ทำงานติดต่อกันครบหกปีแต่ไม่ครบสิบปี จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสองร้อยสี่สิบวันเป็นเงิน 198,240 บาทตามฟ้อง สำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่ในขณะปฏิบัติงานโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา จึงเป็นกรณีที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่การงานไปเสีย จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้ทันทีโดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 198,240 บาท และเงินสมทบจำนวน 120,189.525 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share