แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับลูกหนี้ซึ่งเป็นโมฆะ แม้ไม่มีผลทำให้ฐานะของคู่กรณีแห่งนิติกรรมมาแต่ต้นเปลี่ยนแปลงไป แต่คำร้องของผู้ร้องที่ขอให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินพิพาทและให้ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขาย คืนเงินค่าที่ดินพิพาทที่ได้รับไว้จากลูกหนี้ให้แก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้นั้น เป็นเพียงวิธีการที่ผู้ร้องใช้อำนาจเพื่อเก็บรวบรวมเงินของลูกหนี้เข้ารวมไว้ในกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลาย แต่การที่ผู้คัดค้านที่ 1 เรียกให้ผู้ร้องส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นการใช้สิทธิติดตามเอาที่ดินพิพาทกลับคืนเป็นของตนเองอันเป็นข้อพิพาทต่างหากระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้ร้องในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่อาจมีคำขอให้ลูกหนี้คืนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 มาในคำคัดค้านคำร้องของผู้ร้องได้
นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับลูกหนี้เป็นโมฆะ การคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ต้องนำบทบัญญัติลาภมิควรได้มาใช้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ผู้คัดค้านที่ 1 มีหน้าที่ต้องคืนเงินค่าที่ดินพิพาทที่ได้รับจากลูกหนี้ซึ่งเป็นลาภมิควรได้จนเต็มจำนวน เว้นแต่ผู้คัดค้านที่ 1 จะได้รับไว้โดยสุจริต จึงมีหน้าที่ต้องคืนเพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืนตามมาตรา 412 และเป็นหนี้เงินต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เวลาผิดนัดเป็นต้นไป
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลูกหนี้ (จำเลย) เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2533 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2534 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2534
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เดิมลูกหนี้ซึ่งมีชื่อว่า นายทนงเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 120114 ถึง 120117 และที่ดินโฉนดเลขที่ 107714 ซึ่งที่ดินทั้งห้าโฉนดดังกล่าวได้ถูกบังคับจำนองตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 6849/2527 ของศาลชั้นต้นโดยนางสาวพรพนาซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 120114 ถึง 120116 ได้จากการขายทอดตลาดในคดีดังกล่าว เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2537 และในวันเดียวกันนางสาวพรพนาได้ขายต่อให้ผู้คัดค้านที่ 1 แล้วผู้คัดค้านที่ 1 จดทะเบียนจำนองแก่ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) และไถ่ถอนจากการจำนองเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2537 ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 120117 ผู้คัดค้านที่ 2 ซื้อได้จากการขายทอดตลาดในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2537 วันที่ 30 ธันวาคม 2537 ลูกหนี้ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 120114 ถึง 120114 ถึง 120116 และที่ดินโฉนดเลขที่ 120117 จากผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ แล้วลูกหนี้จดทะเบียนจำนองแก่ผู้คัดค้านที่ 3 ในวันเดียวกัน การซื้อขายและจำนองเกี่ยวกับที่ดินทั้งสี่โฉนดดังกล่าวของลูกหนี้ได้กระทำขึ้นภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด ซึ่งลูกหนี้ไม่มีอำนาจกระทำการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของตนเองจึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มีผลให้นิติกรรมซื้อขายและจำนองของลูกหนี้ตกเป็นโมฆะ ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 120114 ถึง 120116 ตำบลวังทองหลาง อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับลูกหนี้ ที่ดินโฉนดเลขที่ 120117 ตำบลวังทองหลาง อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ระหว่างผู้คัดค้านที่ 2 กับลูกหนี้ ตามสัญญาซื้อขายที่ดินฉบับลงวันที่ 30 ธันวาคม 2537 ทั้งสองฉบับและให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 120114 ถึง 120117 ตำบลวังทองหลาง อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ระหว่างผู้คัดค้านที่ 3 กับลูกหนี้ ตามสัญญาจำนองฉบับลงวันที่ 30 ธันวาคม 2537 ตามมาตรา 22 และ 24 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 โดยให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 คืนเงินที่ได้รับไว้จากการขายที่ดินให้แก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ จำนวน 3,450,616.44 บาท และ 1,183,068.49 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 2,100,000 บาท และ 720,000 บาท ตามลำดับนับแต่วันยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านว่า ลูกหนี้โดยเจตนาทุจริตรู้อยู่ว่าถูกพิทักษ์ทรัพย์มาแต่ต้น หลีกเลี่ยงกฎหมายโดยเปลี่ยนชื่อ แล้วซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากผู้คัดค้านที่ 1 ทั้งๆ ที่ไม่มีอำนาจกระทำการใดๆ เกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของตนได้ การจ่ายเงินค่าที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ผู้คัดค้านที่ 1 จึงเป็นการกระทำตามอำเภอใจและโดยรู้อยู่ว่าไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ต้องรับผิดคืนค่าที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ลูกหนี้และเงินที่ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับจากลูกหนี้ในฐานลาภมิควรได้ไม่มีเหลือคืนให้ลูกหนี้ ทั้งลูกหนี้ชำระค่าที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2537 คดีจึงขาดอายุความ ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้สุจริตไม่ต้องรับผิดในเรื่องดอกเบี้ย ขอให้พิพากษาว่าผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ต้องชำระเงินคืนลูกหนี้หรือกองทรัพย์สินของลูกหนี้และให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินและการจดทะเบียนจำนองเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 120114 ถึง 120116 ตำบลวังทองหลาง อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่ 1 และลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่ 3 ตามสัญญาซื้อขายและสัญญาจำนองฉบับลงวันที่ 30 ธันวาคม 2537 และให้ลูกหนี้ส่งมอบที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวคืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1
ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ไม่ยื่นคำคัดค้าน
ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์แทนโจทก์เดิมยื่นคำคัดค้านว่า การซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายและผู้คัดค้านที่ 3 รับจำนองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากลูกหนี้โดยสุจริต หากศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายและสัญญาจำนองก็ขอให้มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 คืนเงินจำนวน 3,450,616.44 บาท และ 1,183,068.49 บาท พร้อมดอกเบี้ยจากต้นเงิน 2,100,000 บาท และ 720,000 บาท ตามลำดับ นับจากวันยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 120114 ถึง 120117 (ที่ถูก 120116) ตำบลวังทองหลาง อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับลูกหนี้ ที่ดินโฉนดเลขที่ 120117 ตำบลวังทองหลาง อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ระหว่างผู้คัดค้านที่ 3 กับลูกหนี้ ตามสัญญาจำนองฉบับลงวันที่ 30 ธันวาคม 2537 และให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 คืนเงินที่ได้รับไว้จากการขายที่ดินให้แก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้จำนวน 3,450,616.44 บาท และ 1,183,168.49 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 2,100,000 บาท และ 720,000 บาท ตามลำดับ นับถัดจากวันยื่นคำร้อง จนกว่าจะชำระเสร็จ ยกคำขอของผู้คัดค้านที่ 1 ให้ผู้คัดค้านทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง ส่วนค่าทนายความผู้ร้องว่าความเองจึงไม่กำหนดให้
ผู้คัดค้านที่ 1 อุทธรณ์ ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ที่ผู้คัดค้านที่ 1 อุทธรณ์ว่า เมื่อสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 120114 ถึง 120116 ระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับลูกหนี้ตกเป็นโมฆะ ผู้คัดค้านที่ 1 กับลูกหนี้จะต้องกลับสู่ฐานะเดิม ลูกหนี้จึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้ผู้คัดค้านที่ 1 การที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าผู้คัดค้านที่ 1 จะต้องไปว่ากล่าวเป็นคดีต่างหากจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับลูกหนี้ ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำโดยฝ่าฝืนมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 และตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 แม้การซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะไม่มีผลทำให้ฐานะของคู่กรณีแห่งนิติกรรมมาแต่ต้นเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม แต่คำร้องของผู้ร้องที่ขอให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินพิพาทและให้ผู้คัดค้านที่ 1 คืนเงินค่าที่ดินพิพาทที่ได้รับไว้จากลูกหนี้ให้แก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้นั้น เป็นเพียงวิธีการที่ผู้ร้องใช้อำนาจเพื่อเก็บรวมรวมเงินของลูกหนี้ที่ได้ชำระค่าที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายดังกล่าวนั้นเข้ารวมไว้ในกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (2) ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลาย แต่การที่ผู้คัดค้านที่ 1 เรียกให้ผู้ร้องส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นการใช้สิทธิติดตามเอาที่ดินพิพาทที่ได้โอนให้แก่ลูกหนี้ในระหว่างล้มละลายกลับคืนเป็นของตนเองอันเป็นข้อพิพาทต่างหากระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้ร้องในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ทั้งที่ดินพิพาทลูกหนี้ก็ได้นำไปจดทะเบียนจำนองแก่ผู้คัดค้านที่ 3 และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการจำนองนั้น จึงอาจมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทกระทบต่อสิทธิของผู้คัดค้านที่ 3 ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่อาจมีคำขอให้ลูกหนี้คืนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 มาในคำคัดค้านคำร้องของผู้ร้องในคดีล้มละลายนี้ได้ ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าผู้คัดค้านที่ 1 จะต้องไปว่ากล่าวเป็นคดีต่างหากนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้คัดค้านที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ที่ผู้คัดค้านที่ 1 อุทธรณ์ต่อไปว่า แม้นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะ แต่ลูกหนี้ได้ชำระค่าที่ดินพิพาทตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนเป็นบุคคลล้มละลาย ลูกหนี้จึงไม่มีสิทธิได้รับคืนเงินค่าที่ดินพิพาท หากผู้คัดค้านที่ 1 ต้องคืนเงินดังกล่าวก็มีหน้าที่คืนแต่ต้นเงินที่ได้รับจำนวน 2,100,000 บาท การที่ผู้คัดค้านที่ 1 และลูกหนี้ต้องกลับสู่ฐานะเดิม ผู้คัดค้านที่ 1 จึงมิได้เป็นหนี้ลูกหนี้ ย่อมไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดในเรื่องดอกเบี้ย ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับค่าที่ดินจากลูกหนี้โดยสุจริตและไม่มีลาภมิควรได้เหลือที่จะคืนให้แก่ผู้ร้องนั้น เห็นว่า แม้นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับลูกหนี้เป็นโมฆะซึ่งการคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ต้องนำบทบัญญัติลาภมิควรได้มาใช้บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคสอง ก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่าลูกหนี้ได้ชำระค่าที่ดินพิพาทให้ผู้คัดค้านที่ 1 ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนเป็นบุคคลล้มละลายไม่มีอำนาจทำสัญญาซื้อขายและชำระค่าที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ภาระการพิสูจน์ย่อมตกแก่ผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ไม่สืบพยาน ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า ลูกหนี้ได้ทำสัญญาซื้อขายและชำระค่าที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ตามอำเภอใจดังที่ผู้คัดค้านที่ 1 อ้าง ลูกหนี้จึงมีสิทธิได้รับคืนเงินค่าที่ดินพิพาท และผู้คัดค้านที่ 1 มีหน้าที่ต้องคืนเงินค่าที่ดินพิพาทที่ได้รับจากลูกหนี้ ซึ่งเป็นลาภมิควรได้จนเต็มจำนวน เว้นแต่ผู้คัดค้านที่ 1 จะได้รับไว้โดยสุจริต จึงมีหน้าที่ต้องคืนลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 412 การที่ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่สืบพยานให้เห็นเป็นอย่างอื่น ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมมีหน้าที่ต้องคืนเงินค่าที่ดินพิพาทเต็มจำนวน 2,100,000 บาท และเป็นหนี้เงินต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เวลาผิดนัดเป็นต้นไป ที่ศาลชั้นต้นให้ผู้คัดค้านที่ 1 รับผิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเสร็จนั้นชอบแล้วอุทธรณ์ข้อนี้ของผู้คัดค้านที่ 1 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ