แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จำเลยที่สั่งให้ โจทก์จ่ายค่าเสียหายแก่ ก. เนื่องจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 หาใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหาย ทรัพย์สินหรือราคาที่สูญเสียไปเพราะการกระทำความผิดอาญาไม่ แม้โจทก์ถูกดำเนินคดีอาญาในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานและเรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ก็ไม่ใช่มูลเหตุเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้อง ในคดีนี้ คดีนี้จึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าว ในการพิพากษาคดีศาลไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา คำร้องทั้งสามฉบับของ ก. กล่าวหาว่าโจทก์เลิกจ้าง ก.ซึ่งเป็นลูกจ้างอันเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม แม้คำร้องสองฉบับแรกจะไม่ระบุว่าโจทก์ได้เลิกจ้าง ก. เพราะเหตุที่ ก.ทำคำร้องและให้หลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน แต่ก็ได้ระบุเหตุดังกล่าวในคำร้องกล่าวหาเพิ่มเติมฉบับที่สาม ซึ่งชอบที่ ก. จะกระทำได้ เมื่อจำเลยได้รับคำร้องดังกล่าวแล้วก็ย่อมจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดได้ว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งในเรื่องดังกล่าวไม่ใช่กรณีที่จะนำบทบัญญัติในเรื่องแก้ไขคำฟ้อง คำให้การ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180,187 มาใช้บังคับ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จำเลยที่วินิจฉัยว่าโจทก์เลิกจ้างลูกจ้างผู้ร้อง เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม
จำเลยทั้งสิบ ให้การว่า โจทก์เลิกจ้างลูกจ้างผู้ร้องเพราะผู้ร้องได้ร้องเรียนและให้หลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมคำสั่งของจำเลยชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าในคดีนี้ศาลจะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาหมายเลขแดงที่ 13530/2532 ของศาลแขวงพระนครใต้ ที่โจทก์ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ว่านางสาวกาญจนาไม่ใช่ลูกจ้างโจทก์ตามข้ออุทธรณ์ของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จำเลยที่สั่งให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายแก่นางสาวกาญจนา ศรีโกมุท เนื่องจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 หาใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายทรัพย์สินหรือราคาที่สูญเสียไปเพราะการกระทำผิดอาญาไม่ แม้โจทก์ถูกดำเนินคดีอาญาในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และเรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำก็ไม่ใช่มูลเหตุเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้ คดีนี้จึงไม่ใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าวในการพิพากษาคดีศาลจึงไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา
โจทก์อุทธรณ์ต่อไปอีกว่า นางสาวกาญจนาทำคำร้องกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมยื่นต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์2 ครั้ง ครั้งแรกตามคำร้องฉบับลงวันที่ 20 มิถุนายน 2532 โดยอ้างว่าถูกเลิกจ้างเพราะเหตุที่ได้ไปเบิกความต่อศาลแรงงานกลาง และครั้งที่สองตามคำร้องฉบับลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2532 โดยอ้างว่าถูกเลิกจ้างโดยเหตุที่ได้ไปเบิกความต่อศาลแขวงพระนครใต้อันไม่เป็นธรรมทั้งสามฉบับของนางสาวกาญจนา พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำร้องทั้งสามฉบับของนางสาวกาญจนา เป็นคำร้องที่กล่าวหาว่าโจทก์เลิกจ้างนางสาวกาญจนาซึ่งเป็นลูกจ้างอันเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมแม้ตามคำร้องฉบับแรกและฉบับที่สองจะไม่ระบุว่าโจทก์ ได้เลิกจ้างนางสาวกาญจนาเพราะเหตุที่ นางสาวกาญจนาทำคำร้องและให้หลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานว่าโจทก์ปฏิบัติฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานและเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ อันเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมแต่ก็ระบุเหตุดังกล่าวในคำร้องกล่าวหาเพิ่มเติมฉบับที่สามซึ่งชอบที่นางสาวกาญจนาจะกระทำได้ เมื่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้รับคำร้องดังกล่าวแล้วก็ย่อมจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดได้ว่าการที่โจทก์เลิกจ้างนางสาวกาญจนาเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือไม่ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 125 ซึ่งในเรื่องดังกล่าวมิใช่เป็นกรณีที่จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 180, 187 มาใช้บังคับ ดังที่โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยปัญหานี้ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.