แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนัดไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาของโจทก์และคำร้องขอฟ้องแย้งอย่างคนอนาถาของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 22 สิงหาคม 2546 เมื่อถึงวันนัดจำเลยทั้งสองขอเลื่อนคดี ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีกับมีคำสั่งยกคำร้องขอฟ้องแย้งอนาถาของจำเลยที่ 1 และนัดฟังคำสั่งสำหรับคำร้องของโจทก์ในวันที่ 26 สิงหาคม 2546 โดยผู้รับมอบฉันทะทนายจำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อรับทราบนัดแล้ว เมื่อถึงวันนัดศาลมีคำสั่งอนุญาตให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาของโจทก์ คำสั่งของศาลที่ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองเลื่อนคดีเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นระหว่างพิจารณา หากจำเลยทั้งสองไม่เห็นด้วยและประสงค์จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นในภายหลังจำเลยทั้งสองจะต้องโต้แย้งคำสั่งไว้ จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 45 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) ซึ่งในช่วงก่อนถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2546 ที่ศาลจะอ่านคำสั่ง จำเลยทั้งสองย่อมมีเวลาเพียงพอที่จะโต้แย้งคัดค้านได้ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีได้
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนัดไต่สวนคำร้องขอฟ้องแย้งอนาถาของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองขอเลื่อนคดี ศาลไม่ให้เลื่อนคดีและถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีพยานมาไต่สวน จึงไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา เท่ากับวินิจฉัยเนื้อหาแห่งคำร้องของจำเลยที่ 1 แล้วว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่คนอนาถา จะใช้สิทธิดำเนินคดีอย่างคนอนาถาไม่ได้ ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่มีคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคท้าย แม้จำเลยที่ 1 ได้อุทธรณ์คำสั่งภายในกำหนดแล้ว แต่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์เฉพาะประเด็นที่ศาลไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 เลื่อนคดีเพียงประเด็นเดียว โดยมิได้อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนอนาถา คำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงเป็นอันยุติแล้ว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากสถานีบริการน้ำมันและร้านค้าและส่งมอบทรัพย์สินคืนโจทก์ โดยโจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การ และจำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องแย้งโดยขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องของโจทก์และของจำเลยที่ 1 ในวันเดียวกันคือ วันที่ 22 สิงหาคม 2546 เมื่อถึงวันนัดทนายจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนการไต่สวน กับมีคำสั่งยกคำร้องขอฟ้องแย้งอย่างคนอนาถาของจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 ประสงค์จะฟ้องแย้ง ให้นำค่าขึ้นศาลมาวางภายใน 7 วัน มิฉะนั้นจะถือว่าไม่ติดใจฟ้องแย้ง และต่อมามีคำสั่งอนุญาตให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามคำร้องของโจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2546 โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่ง สำเนาให้จำเลยทั้งสอง และนัดไต่สวนวันที่ 22 สิงหาคม 2546 หมายแจ้งวันนัดให้จำเลยทั้งสองทราบ ซึ่งผลการส่งหมายดังกล่าวปรากฏว่า ส่งหมายให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้โดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 2 และ 3 สิงหาคม 2546 ตามลำดับ จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2546 และจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งโดยขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในวันเดียวกับวันนัดไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาของโจทก์ โดยศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2546 และทนายจำเลยทั้งสองลงชื่อทราบนัดฟังคำสั่งวันที่ 30 กรกฎาคม 2546 ต่อมาวันที่ 22 สิงหาคม 2546 อันเป็นวันนัดพิจารณา ทนายจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่าติดว่าความที่ศาลจังหวัดภูเก็ตซึ่งได้นัดไว้ก่อนแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองเลื่อนคดีกับมีคำสั่งอนุญาตให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามคำร้องของโจทก์ และมีคำสั่งยกคำร้องขอฟ้องแย้งอย่างคนอนาถาของจำเลยที่ 1 นั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า ในประเด็นเกี่ยวกับคำสั่งอนุญาตให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามคำร้องของโจทก์นั้น คำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองเลื่อนคดีนั้นเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา หากจำเลยทั้งสองไม่เห็นด้วยและประสงค์จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวในภายหลัง จำเลยทั้งสองจะต้องโต้แย้งคำสั่งไว้ จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือน นับแต่วันที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีตามความในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 (2) คดีนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองเลื่อนคดี และให้ไต่สวนพยานโจทก์เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2546 และนัดฟังคำสั่งสำหรับคำร้องของโจทก์ในวันที่ 26 สิงหาคม 2546 โดยผู้รับมอบฉันทะทนายจำเลยทั้งสองได้ลงลายมือชื่อทราบคำสั่งในวันนั้นแล้ว ดังนั้น ในช่วงเวลาก่อนศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะอ่านคำสั่งจำเลยทั้งสองย่อมมีเวลาเพียงพอที่จะโต้แย้งคัดค้านได้ แต่ก็หาได้มีการโต้แย้งคัดค้านไม่ จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะสั่งรับอุทธรณ์ในข้อนี้ของจำเลยทั้งสองขึ้นมาด้วย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็ไม่รับวินิจฉัยให้ อนึ่ง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตโดยเห็นว่าคำร้องขอของโจทก์มีเหตุผลเพียงพอและจำเป็นที่จะคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา จึงเป็นการให้ความคุ้มครองแก่โจทก์ตามกฎหมายก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา ดังนั้น ข้อโต้แย้งของจำเลยทั้งสองในทำนองว่าหากโจทก์ชนะคดีโจทก์ก็มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองอยู่แล้วก็ดี คำสั่งดังกล่าวย่อมเป็นการพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีก็ดี จึงไม่อาจรับฟังได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่เกี่ยวกับคำสั่งยกคำร้องขอฟ้องแย้งอย่างคนอนาถานั้น มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 เลื่อนคดี และมีคำสั่งยกคำร้องในวันเดียวกัน โดยถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่ติดใจดำเนินคดีอย่างคนอนาถาให้ยกคำร้องนั้นไม่ชอบ เพราะในวันนัดไต่สวน จำเลยที่ 1 ขอเลื่อนคดี เนื่องจากทนายจำเลยที่ 1 ติดว่าความที่ศาลจังหวัดภูเก็ตซึ่งนัดไว้ก่อนแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาที่จะไม่มาศาล ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางทำการไต่สวนก่อนมีคำสั่งเรื่องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาของจำเลยที่ 1 ต่อไปนั้น เห็นว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ให้เลื่อนคดีและถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีพยานมาไต่สวน จึงไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา เท่ากับได้วินิจฉัยเนื้อหาแห่งคำร้องของจำเลยที่ 1 แล้วว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่คนอนาถา จะใช้สิทธิดำเนินคดีอย่างคนอนาถาไม่ได้ ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่มีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคท้าย คดีนี้แม้จำเลยที่ 1 ได้อุทธรณ์คำสั่งภายในกำหนดแล้ว แต่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์เฉพาะประเด็นที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 เลื่อนคดีเพียงประเด็นเดียว โดยมิได้อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนอนาถา คำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงเป็นอันยุติ คดีไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาว่าสมควรอนุญาตให้จำเลยที่ 1 เลื่อนคดีเพื่อทำการไต่สวนพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ต่อไปหรือไม่ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน