คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2559/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานชอบแล้ว คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ชอบที่จะยกอุทธรณ์ของโจทก์ได้ โดยไม่จำต้องวินิจฉัยหักลดเงินภาษีที่โจทก์ได้ชำระแล้วให้เพราะว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะวินิจฉัยหักหรือลดให้เฉพาะแต่ในกรณีที่เห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องเท่านั้น ส่วนเงินที่โจทก์ไม่ได้โต้แย้งและชำระภาษีไปบางส่วนแล้ว ย่อมเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้รับชำระภาษีจากโจทก์ที่จะทำการหักและลดให้ต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้ตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ต.5/1041/2/02877 ลงวันที่ 28 กันยายน2527 และเลขที่ ต.5/1041/22878 ลงวันที่ 28 กันยายน 2527 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ 209/2528ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2528 ให้โจทก์ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้และเงินเพิ่มจำนวน 18,898,206 บาท
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้วมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับรายรับดอกเบี้ยของโจทก์ชอบหรือไม่ ในข้อนี้ปรากฏข้อเท็จจริงจากพยานเอกสารของโจทก์และจำเลยทั้งสี่ว่า เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2525 เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้หมายเรียกโจทก์ให้ส่งมอบบัญชีและเอกสารให้เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 เพื่อทำการตรวจสอบตามเอกสารหมาย ล.3วันที่ 23 กรกฎาคม 2525 โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายพิชัยเชี่ยวนาวิน นำสมุดบัญชีและเอกสารไปมอบให้เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 พร้อมทั้งไปให้ถ้อยคำและชี้แจงรายละเอียด ดังปรากฏรายละเอียดตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ล.5 และตามคำให้การของนายพิชัยกับบันทึกของเจ้าพนักงานตรวจสอบภาษีอากรเอกสารหมายล.12 และ ล.13 ต่อมาวันที่ 28 กันยายน 2527 นายพิชัยได้ไปรับทราบผลการคำนวณภาษีเงินได้พร้อมทั้งได้ทำบันทึกข้อตกลงยินยอมการชำระภาษีตามเอกสารหมาย ล.18 ล.19 ล.20 และ ล.21 อันดับที่ 136และ 138 และในวันเดียวกันนั้นเจ้าพนักงานตรวจสอบภาษีอากรของจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลไปยังโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.25 จ.60 และ จ.61 วันที่ 6 พฤศจิกายน 2527โจทก์อุทธรณ์การประเมิน วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2528 จำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 ได้วินิจฉัยยกอุทธรณ์ของโจทก์ตามคำวินิจฉัยเอกสารหมายล.26 เห็นว่า ตามบันทึกเอกสารหมาย ล.18 แผ่นที่ 2 นายพิชัยได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ไว้ว่า “กรณีที่เจ้าพนักงานคำนวณดอกเบี้ยรับเป็นรายรับเพิ่มขึ้นโดยถือว่าบริษัทโจทก์กู้เงินมาแล้วนำเงินนั้นไปให้บริษัทในเครือใช้โดยไม่คิดค่าตอบแทน ทำให้รายรับเพื่อคำนวณภาษีของโจทก์ไม่ถูกต้องจึงคำนวณดอกเบี้ยสำหรับเงินที่ให้บริษัทในเครือยืมไปใช้ ตามอัตราดอกเบี้ยของท้องตลาดคือ ร้อยละ 15 ต่อปีนั้น นายพิชัยขอชี้แจงว่า การที่โจทก์ให้บริษัทในเครือยืมเงินไปก็เพื่อให้บริษัทเหล่านั้นผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์ให้แก่โจทก์ เพื่อใช้ในการประกอบรถยนต์สำเร็จรูป เป็นการให้ประโยชน์แก่โจทก์ด้วยนอกจากนี้โจทก์ได้กู้เงินมาจากต่างประเทศโดยเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.25 ต่อปี โจทก์จึงเห็นว่า การที่เจ้าพนักงานคำนวณดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงเป็นอัตราที่สูงเกินไปหากเจ้าพนักงานคำนวณดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ก็ขอให้คำนวณเท่ากับอัตราที่โจทก์ได้กู้ยืมมา ส่วนประเด็นเกี่ยวกับการตรวจสอบอื่น ๆนายพิชัยไม่โต้แย้งแต่ประการใด” ต่อมาในวันที่ 28 กันยายน 2527นายพิชัยได้ให้ถ้อยคำตามบันทึกเอกสารหมาย ล.21 แผ่นที่ 2 ว่า”ตามที่โจทก์ได้โต้แย้งกรณีที่เจ้าพนักงานได้ประเมินรายรับค่าดอกเบี้ยรับจากการให้บริษัทในเครือกู้ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ว่าเป็นอัตราที่สูงเกินไปเนื่องจากการที่โจทก์ให้บริษัทในเครือยืมเงินไปก็เพื่อให้บริษัทเหล่านั้นผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์ให้แก่โจทก์เพื่อใช้ในการประกอบรถยนต์สำเร็จรูปเป็นการให้ประโยชน์แก่โจทก์ด้วย ทั้งโจทก์กู้เงินมาจากต่างประเทศในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13.25 ต่อปีดังนั้นโจทก์จึงเห็นว่า เจ้าพนักงานควรจะคำนวณดอกเบี้ยรับของโจทก์ในอัตราร้อยละ 13.25 ต่อปี สำหรับเรื่องนี้เจ้าพนักงานได้แจ้งให้นายพิชัยทราบว่า ได้เสนอข้อโต้แย้งของโจทก์ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาแล้ว ผู้บังคับบัญชาได้อนุมัติให้คำนวณดอกเบี้ยรับจากการให้บริษัทในเครือกู้ยืมเงินมาเป็นรายรับของโจทก์ในอัตราร้อยละ13.25 ต่อปี เนื่องจากข้อโต้แย้งของโจทก์มีเหตุผลและสมควรรับฟังได้”และในเอกสารดังกล่าวหน้า 3 ตอนท้าย นายพิชัยได้ให้ถ้อยคำว่า”นายพิชัยทราบตามที่เจ้าพนักงานแจ้งให้ทราบตลอดจนได้ตรวจสอบการคำนวณภาษีแล้วยอมรับว่าถูกต้อง โดยไม่มีข้อโต้แย้งแต่ประการใดและยินยอมชำระภาษีให้แก่ทางราชการจนครบถ้วน” นอกจากนี้นายพิชัยยังได้ทำบันทึกข้อตกลงยินยอมการชำระภาษีอากรรวม 20,616,225.70 บาทตามเอกสารหมาย ล.21 แผ่นที่ 1 ซึ่งต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ลดเงินเพิ่มให้คงเหลือรวม 18,898,206 บาท ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์เอกสารหมาย ล.26 ซึ่งนายพิชัยพยานโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยยอมรับว่า ได้ไปรับทราบผลการตรวจสอบภาษีตามเอกสารหมาย ล.21รวม 3 แผ่นจริง ส่วนที่เบิกความว่า พยานได้โต้แย้งว่าโจทก์ใช้เกณฑ์เงินสดมิได้ใช้เกณฑ์สิทธิ์ในการลงบัญชี แต่เจ้าพนักงานของจำเลยมิได้บันทึกไว้นั้น เป็นคำเบิกความลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักและเหตุผลพอที่จะให้รับฟังเป็นความจริง เพราะนอกจากเอกสารหมาย ล.21แล้ว ในวันเดียวนั้นนายพิชัยได้ทำหนังสือขอลดเงินเพิ่มภาษีถึงเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 โดยมิได้กล่าวถึงข้อโต้แย้งดังกล่าวแต่ประการใด จึงฟังได้ว่านายพิชัยได้ทำบันทึกข้อตกลงยินยอมการชำระภาษีอากรตามเอกสารหมาย ล.21 โดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆจริง เมื่อนายพิชัยผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ได้ทำบันทึกยินยอมชำระภาษีแล้ว ข้อตกลงที่นายพิชัยทำไว้ดังกล่าว จึงมีผลผูกพันโจทก์ให้ต้องรับผิดชำระภาษีเงินได้ตามข้อตกลงดังกล่าว โจทก์จะโต้เถียงว่าการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้ของเจ้าพนักงานจำเลยที่ 1 รวมตลอดทั้งคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ไม่ชอบไม่ได้
ที่โจทก์ฎีกาว่า สำหรับรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี โจทก์มิได้โต้แย้งการประเมิน และได้นำเงินภาษีสำหรับปี พ.ศ. 2523 จำนวน 5,673,080.90 บาท และสำหรับปีพ.ศ. 2524 จำนวน 4,280,814.12 บาท ไปชำระให้จำเลยแล้ว แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มิได้เพิกถอนการประเมินหรือหักเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์ จึงเป็นการซ้ำซ้อนและไม่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น เห็นว่าสำหรับรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี ในเมื่อโจทก์ไม่ได้โต้แย้ง จึงถือได้ว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินในเรื่องดังกล่าวชอบแล้ว และเมื่อรายรับดอกเบี้ยของเงินที่โจทก์นำไปให้บริษัทอื่นกู้ยืมนั้น คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานชอบแล้ว คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ชอบที่จะยกอุทธรณ์ของโจทก์ได้ โดยไม่จำต้องวินิจฉัยหักลดให้เพราะว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะวินิจฉัยหักหรือลดให้เฉพาะแต่ในกรณีที่เห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องเท่านั้น ส่วนที่โจทก์ไม่ได้โต้แย้งและชำระภาษีไปบางส่วนแล้ว ย่อมเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้รับชำระภาษีจากโจทก์ที่จะทำการหักและลดให้ต่อไป
พิพากษายืน

Share