คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3895/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดว่า ลูกจ้างซึ่งทำงานที่ท่าอากาศยานดอนเมืองจะได้รับเงินช่วยค่าอาหารเดือนละ 600 บาท เงินช่วยค่าพาหนะเดือนละ 350 บาท หากแต่งเครื่องแบบของบริษัทจำเลยจะได้รับเงินช่วยค่าซักรีดเดือนละ 150 บาทดังนี้ เห็นได้ว่าลูกจ้างซึ่งทำงานที่ท่าอากาศยานดอนเมืองต้องเสียค่าอาหาร ค่าพาหนะ มากกว่าลูกจ้างซึ่งทำงานที่หน่วยงานอื่นหรือต้องเสียค่าซักเครื่องแบบซึ่งเป็นเครื่องแบบของจำเลย จำเลยจึงจ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าวเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายนั้นๆ หาใช่เป็นการจ่ายตอบแทนการทำงานไม่เงินดังกล่าว จึงไม่เป็นค่าจ้าง
จำเลยจ่ายเงินเดือนเดือนที่ 13 ในเดือนธันวาคมของแต่ละปีให้ลูกจ้างตามข้อบังคับฯ โดยไม่มีการทำงานในเดือนที่ 13 เงินเดือน เดือนที่ 13 จึงเป็นการจ่ายให้เพื่อแสดงน้ำใจและเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ไม่เป็นการตอบแทน การทำงานโดยตรง จึงไม่เป็นค่าจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๒๐,๒๗๐ บาท ค่าอาหารเดือนละ ๖๐๐ บาท ค่ารถเดือนละ ๕๐๐ บาท ค่าซักผ้าเดือนละ ๑๕๐ บาท และเงินเดือนเดือนละ ๑๓ ปีละ ๑ ครั้ง เป็นเงิน ๒๐,๒๗๐ บาท รวมเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างครั้งสุดท้ายเดือนละ ๒๓,๓๑๓.๓๓ บาท ต่อมาจำเลยให้โจทก์ออกจากงานเนื่องจากเกษียณอายุ โจทก์มีสิทธิได้รับบำเหน็จได้รับบำเหน็จตามข้อบังคับคิดจากเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วย ๓๖ ปี จำเลยไม่จ่ายให้แก่โจทก์และต้องจ่ายดอกเบี้ย โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างครั้งสุดท้าย ๑๘๐ วัน และยังมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเพิ่มอีก ๑๒ เดือน จำเลยไม่จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ นอกจากนี้โจทก์ทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุดทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ทำงานผลัดดึกหลายครั้งแต่จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าทำงานผลัดดึกไม่ครบโดยไม่นำเงินช่วยค่าอาหาร ค่ารถ ค่าซักผ้า และส่วนเฉลี่ยของเงินเดือนเดือนที่ ๑๓ มารวมคำนวณด้วย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินบำเหน็จ ค่าชดเชย ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุดค่าทำงานผลัดดึกที่ค้างชำระ พร้อมด้วยดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้อง
จำเลยให้การว่า เงินช่วยค่าอาหาร เงินช่วยค่าพาหนะ เงินช่วยค่าซักรีด และเงินเดือนเดือนที่ ๑๓ มิใช่ค่าจ้างจะนำมารวมคำนวณเป็นค่าจ้างมิได้ จำเลยได้คำนวณจ่ายเงินให้โจทก์ ๖๖๘,๙๑๐ บาท ซึ่งมีเงินบำเหน็จและค่าชดเชยรวมกันอยู่แต่โจทก์ไม่ยอมรับ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามข้อบังคับเพิ่มจากค่าชดเชยตามกฎหมายอีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เงินช่วยค่าอาหาร เงินช่วยค่าพาหนะ เงินช่วยค่าซักรีดและเงินเดือนเดือนที่ ๑๓ ไม่เป็นค่าจ้างจะนำมาคำนวณเงินบำเหน็จ ค่าชดเชย ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และค่าทำงานผลัดดึกมิได้ ค่าชดเชยตามข้อบังคับของจำเลยโจทก์ไม่อาจเรียกเพิ่มอีก พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จ ๖๖๘,๙๑๐ บาท ค่าชดเชย ๑๒๑,๖๒๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย คำขออื่นให้ยกเสีย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า โจทก์อุทธรณ์ว่าเงินช่วยค่าอาหาร เงินช่วยค่าพาหนะ เงินช่วยค่าซักรีด และเงินเดือนเดือนที่ ๑๓ เป็นค่าจ้างต้องนำมารวมคำนวณเงินบำเหน็จ ค่าชดเชย ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดค่าล่วงเวลาในวันหยุดและค่าทำงานผลัดดึกด้วย ข้อนี้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดให้คำนวณเงินบำเหน็จจากอัตราเงินเดือนคูณด้วยจำนวนปีของการเป็นลูกจ้าง และได้นิยามคำว่า “เงินเดือน” ไว้ว่าหมายถึงตัวเงินเดือนเดือนสุดท้ายของลูกจ้างไม่นับรวมเงินชดเชยอื่น ๆ เช่น เงินค่าล่วงเวลา โบนัสหรือเบี้ยเลี้ยงต่าง ๆ ดังนี้ เงินช่วยค่าอาหาร ค่าพาหนะ ค่าซักรีดและเงินดือนเดือนที่ ๑๓ หาใช่ “ตัวเงินเดือน” อันจะเป็นเงินเดือนที่ต้องนำมาคำนวณเงินบำเหน็จไม่ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานฯ กำหนดว่า ลูกจ้างซึ่งทำงานที่ท่าอากาศยานดอนเมือง จะได้รับเงินช่วยค่าอาหารเดือนละ ๖๐๐ บาท ลูกจ้างซึ่งต้องทำงานที่ท่าอากาศยานดอนเมืองโดยต้องแต่งเครื่องแบบของบริษัท จะได้รับเงินช่วยค่าซักรีดเดือนละ ๑๕๐ บาท และลูกจ้างซึ่งทำงานที่ท่าอากาศยานดอนเมือง จะได้รับเงินช่วยค่าพาหนะเดือนละ ๓๕๐ บาท เห็นได้ว่า ลูกจ้างที่กล่าวนี้ต้องเสียค่าอาหาร ค่าพาหนะมากกว่าลูกจ้างซึ่งทำงานที่หน่วยอื่น หรือต้องเสียค่าซักเครื่องแบบซึ่งเป็นเครื่องแบบของจำเลย จำเลยจึงจ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าวให้เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายนั้น ๆ หาใช่เป็นการจ่ายตอบแทนการทำงานไม่ เงินช่วยค่าอาหาร ค่าพาหนะ ค่าซักรีด จึงไม่เป็นการจ้าง ส่วนเงินเดือนเดือนที่ ๑๓ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานฯ กำหนดว่า ในเดือนธันวาคมของแต่ละปีบริษัทจะจ่ายเงินเดือน เดือนละ ๑๓ ของปีให้แก่ลูกจ้างทุกคน ยกเว้นลูกจ้างที่ยังไม่พ้นกำหนดระยะทดลองงาน เห็นว่า หามีการทำงานในเดือนที่ ๑๓ ไม่ จำเลยจ่ายเงินนี้ในโอกาสสิ้นปี เป็นการแสดงน้ำใจต่อกัน เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ไม่เป็นการตอบแทนการทำงานโดยตรง จึงไม่เป็นค่าจ้างเช่นเดียวกัน
พิพากษายืน.

Share