คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1340/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ขอนำยึดที่ดินที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินที่ทาง ส.ป.ก. ได้จัดไว้เพื่อให้ผู้ถือครองคือจำเลยซึ่งเป็นเกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ขณะโจทก์นำยึดที่ดินยังไม่ได้ออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 แก่จำเลย และพ้นระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาประกาศกำหนดเป็นเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว เมื่อที่ดินดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการดำเนินการปฏิรูป แม้จำเลยจะเป็นผู้ถือครองแต่ก็หาใช่ว่าจำเลยจะได้สิทธิในที่ดินไม่เพราะเป็นเรื่องในอนาคต โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้ยึดที่ดินแปลงดังกล่าวมาขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้โจทก์

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน157,886 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2542เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 5,591.83 บาทกับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000บาท จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์จึงขอให้บังคับคดีและนำยึดที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินระวาง/กลุ่มที่ 1463 แปลงเลขที่ 1 บ้านช่องลม หมู่ที่ 7 ตำบลบางปิด อำเภอแหลมงอบจังหวัดตราด โดยอ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 1 เพื่อบังคับชำระหนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีความเห็นควรงดเว้นการยึดทรัพย์รายนี้ และร้องต่อศาลชั้นต้นให้กำหนดการอย่างใด ๆเพื่อมิให้ตนต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 283 วรรคสอง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ที่ดินที่โจทก์ขอนำยึดไม่ได้อยู่ในเขตป่าสงวนสามารถเปลี่ยนการครอบครองและเข้าทำประโยชน์ได้ อนุญาตให้โจทก์ยึดที่ดินดังกล่าว และให้ปลดเปลื้องความรับผิดของเจ้าพนักงานบังคับคดี

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่า ที่ดินที่โจทก์ขอนำยึดเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินที่ทาง ส.ป.ก. ได้จัดไว้เพื่อให้ผู้ถือครองคือจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในที่ดินขณะโจทก์นำยึดที่ดินยังไม่ได้ออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01แก่จำเลยที่ 1 และพ้นระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาประกาศกำหนดเป็นเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์มีสิทธิร้องขอให้ยึดที่ดินที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือครองเพื่อบังคับชำระหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาได้หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 26 กำหนดให้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินอันเป็นสาธารณ-สมบัติของแผ่นดิน หรือที่ดินที่สงวนหรือหวงห้ามไว้ตามความต้องการของทางราชการเมื่อกระทรวงการคลังได้ให้ความยินยอมแล้ว หรือที่ดินในเขตป่าสงวนให้มีผลเป็นการถอนสภาพ ส่วนที่ดินที่มีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้ง หรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดินก็ให้ ส.ป.ก. มีอำนาจนำที่ดินนั้นมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบมาตรา 36 ทวิ ที่บัญญัติว่า บรรดาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ใด ๆ ที่ ส.ป.ก. ได้มาตามพระราชบัญญัตินี้ หรือได้มาโดยประการอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไม่ให้ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุและให้ ส.ป.ก.เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม แสดงว่าที่ดินใดอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและผู้ครอบครองไม่สามารถแสดงสิทธิใด ๆ ตามกฎหมาย ที่ดินเหล่านั้นย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ส.ป.ก. ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ดังนี้เมื่อพิจารณาที่ดินที่โจทก์นำยึดอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและจากรายงานการยึดที่ดินตามเอกสารลำดับที่ 40 ประกอบคำแถลงของโจทก์ลงวันที่ 4 กันยายน 2543 ที่โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินของจำเลยที่ 1 โดยระบุเพียงเนื้อที่และเขตติดต่อ แสดงว่าที่ดินแปลงนี้เป็นที่ดินที่ไม่มีเอกสารใด ๆ สำหรับที่ดิน นอกจากนี้ตามเอกสารหมายเลข 1ท้ายคำแถลงของโจทก์ที่ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดที่ดินแปลงดังกล่าวยังได้ความว่าอยู่ระหว่างที่ ส.ป.ก. ทำการรังวัดปักหลักเขต ที่ดินแปลงดังกล่าวจึงถือว่าเป็นของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 2 ซึ่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินฯ ให้อำนาจส.ป.ก. นำไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ตามมาตรา 8 กรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงเป็นของ ส.ป.ก. หาใช่ของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์จะมีสิทธินำยึดไม่ ทั้งยังถือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ห้ามยึดตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1307 อีกด้วย ที่โจทก์อ้างในคำแก้ฎีกาว่า โจทก์นำยึดที่ดินหลังพ้นระยะเวลา 3 ปีตามที่พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินฯ มาตรา 28 บัญญัติห้ามการจำหน่ายด้วยประการใด ๆ หรือก่อให้เกิดภาระติดพันซึ่งที่ดินในเขตปฏิรูปเพราะกฎหมายมีวัตถุประสงค์เพื่อมิให้กระทบสิทธิของผู้ครอบครองหรือเจ้าของสิทธิเดิมที่ต้องได้รับความเสียหายจากพระราชบัญญัติฉบับนี้ แสดงว่าที่ดินแปลงที่โจทก์นำยึดไม่ตกอยู่ในบังคับห้ามจำหน่ายจ่ายโอนและการบังคับคดีแล้วนั้น เห็นว่า ความในมาตรา 28 วรรคหนึ่งดังกล่าวเป็นเพียงกำหนดเวลาเพื่อความสะดวกแก่ ส.ป.ก. ในการดำเนินการปฏิรูปที่ดินเท่านั้น หาใช่ว่าเมื่อพ้นระยะเวลา 3 ปี แล้ว ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ส.ป.ก. จะกลับคือไปสู่ผู้ถือครองเดิมไม่ ส่วนที่ว่าที่ดินในเขตปฏิรูปมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ประชาชนครอบครอง จึงมิใช่ต้องห้ามจำหน่ายจ่ายโอนโดยเด็ดขาด แม้จะเป็นความจริง แต่เมื่อพิจารณาความในมาตรา 19(7) ประกอบระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2525 กำหนดคุณสมบัติเกษตรกรผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปและกฎหมายในมาตราอื่น ๆสรุปได้ว่าผู้ที่จะมีสิทธิได้ที่ดินในเขตปฏิรูปต้องเป็นเกษตรกรเท่านั้น ซึ่งหากยอมให้มีการยึดทรัพย์ ผู้ซื้อทรัพย์ได้อาจมิใช่เกษตรกรตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินฯ เมื่อที่ดินดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการดำเนินการปฏิรูป แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ถือครองแต่ก็หาใช่ว่าจำเลยที่ 1 จะได้สิทธิในที่ดินไม่เพราะเป็นเรื่องในอนาคต โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้ยึดที่ดินแปลงดังกล่าวมาขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้โจทก์ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1”

พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการยึดที่ดินตามรายการการยึดทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดี

Share