คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 466/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 อยู่จังหวัดเชียงใหม่ไปหาจำเลยที่ 2 ที่จังหวัดเชียงรายเพื่อติดต่อขอซื้อเมทแอมเฟตามีน โดยให้จำเลยที่ 2 ไปซื้อที่อำเภอท่าขี้เหล็กประเทศสหภาพพม่า และนัดจำเลยที่ 1 มารับที่ตึกแถว จำเลยที่ 3 นำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรตามที่จำเลยที่ 1 ต้องการ โดยให้จำเลยที่ 2 ติดต่อซื้อ จึงเป็นการนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรโดยการแบ่งหน้าที่กันทำต้องตามคำนิยามของคำว่า “นำเข้า” ในมาตรา 4 แห่ง พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 แล้ว ซึ่งการนำหรือสั่งเข้ามาผู้กระทำผิดมิได้มีเฉพาะตัวจำเลยที่ 3 ผู้ที่นำเข้าเท่านั้น เพราะความผิดฐานนี้ไม่ได้อาศัยสภาพจิตใจหรือคุณสมบัติเฉพาะตัวของบุคคล หรือแนวเขตแดนเป็นสาระสำคัญจำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานร่วมกันนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาเสพติดให้โทษเพื่อจำหน่ายด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2540 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยทั้งสามร่วมกันนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายซึ่งเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1จำนวน 5,000 เม็ด หนัก 449.730 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 65.885 กรัม และจำเลยทั้งสามร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายเจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสามพร้อมเมทแอมเฟตามีน ดังกล่าว เงินสดจำนวน 16,260บาท ที่ใช้ในการติดต่อซื้อเมทแอมเฟตามีน ตะกร้าพลาสติก 1 ใบ ที่ใช้ซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีนเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 65, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91ริบของกลาง

จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่ปฏิเสธข้อหาร่วมกันนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายซึ่งเมทแอมเฟตามีน

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 65 วรรคสอง, 66 วรรคสอง (ที่ถูกมาตรา 66วรรคหนึ่ง), 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง,65 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90ให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยทั้งสาม คำรับในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52(1) คงจำคุกจำเลยทั้งสามตลอดชีวิต ริบของกลาง

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ภาค 5 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังฟ้อง จำเลยทั้งสามร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 5,000 เม็ดคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 65.885 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจำเลยที่ 1 ไปติดต่อขอซื้อจากจำเลยที่ 2 และหลังจากนั้นจำเลยที่ 2ได้ให้จำเลยที่ 3 ไปซื้อมาจากประเทศสหภาพพม่าแล้วนำเข้ามายังประเทศไทยเพื่อจำหน่าย คดีสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยุติแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เพียงว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายหรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจโทพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเฉลิม พันตำรวจตรีชยันต์ ปัญญาเครือ พันตำรวจตรีศักดิ์ชัย พวงสมบัติ นายดาบตำรวจสัมฤทธิ์ พัฒนปฏิธานและจ่าสิบตำรวจบัญญัติ เตมีศักดิ์ เบิกความประกอบเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.5 และ ป.จ.1 ถึง ป.จ.5 (ศาลจังหวัดเชียงใหม่) ว่า วันที่ 7 มิถุนายน 2540 ตอนเช้า สายลับนัดจ่าสิบตำรวจบัญญัติไปพบที่หน้าธนาคารออมสิน สาขาแม่สาย โดยแจ้งว่าจะมีผู้หญิงผิวขาวขนเมทแอมเฟตามีนจากฝั่งประเทศสหภาพพม่ามาส่งที่ตึกแถวเลขที่ 183ชั้นสองห้อง 3 เอ บริเวณบ้านเกาะทราย จ่าสิบตำรวจบัญญัติจึงรายงานให้พันตำรวจตรีชยันต์วางแผนจับกุมโดยขอกำลังจากพันตำรวจโทพงษ์ศักดิ์มาร่วม โดยสั่งให้นายดาบตำรวจสัมฤทธิ์ไปเฝ้าอยู่บริเวณท่าเรือบ้านเกาะทรายครั้นเวลา 12.40 นาฬิกา จำเลยที่ 3หิ้วตะกร้าพลาสติกใส่ผักข้ามเรือมาจากประเทศสหภาพพม่า แล้วเดินเข้ามาที่ตึกแถวดังกล่าว ต่อมาพันตำรวจตรีชยันต์ไปเคาะประตูเรียกโดยมีพันตำรวจโทพงษ์ศักดิ์กับพวกตามมาสมทบ จำเลยที่ 3 ออกมาเปิดประตู พันตำรวจโทพงษ์ศักดิ์กับพวกจึงแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจค้น พบกะปิวางอยู่กลางห้อง มือของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เปื้อนกะปิ นายดาบตำรวจสัมฤทธิ์ค้นกะปิพบห่อกระดาษพันด้วยเทปกาวสีน้ำตาล 3 ห่อเมื่อแกะออกตรวจสอบสองห่อแรก พบเมทแอมเฟตามีนบรรจุในถุงพลาสติกสีฟ้าห่อละ10 ถุง ห่อที่สามมีถุงพลาสติกสีฟ้า 5 ถุง แต่ละถุงมีเมทแอมเฟตามีนบรรจุอยู่ 200 เม็ดรวมเป็นเมทแอมเฟตามีน 5,000 เม็ด จึงควบคุมจำเลยทั้งสามพร้อมของกลางส่งพันตำรวจตรีศักดิ์ชัยดำเนินคดี จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนว่า ได้ร่วมกันนำเข้าเพื่อจำหน่ายซึ่งเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว และมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เห็นว่าพยานโจทก์ทุกปากเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเบิกความเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ทั้งไม่เคยรู้จักจำเลยทั้งสามหรือมีสาเหตุโกรธเคือง อันควรระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลยทั้งสาม พยานโจทก์ทุกปากเบิกความได้สอดคล้องต้องกันโดยไม่ปรากฏข้อพิรุธ เหตุที่ได้จับกุมจำเลยทั้งสามก็เพราะจ่าสิบตำรวจบัญญัติได้รับแจ้งจากสายลับ จึงได้รายงานให้พันตำรวจตรีชยันต์ทราบและได้วางแผนจับกุมโดยได้ให้นายดาบตำรวจสัมฤทธิ์ไปเฝ้าอยู่บริเวณท่าเรือบ้านเกาะทรายเมื่อจำเลยที่ 3 ถือตะกร้าพลาสติกใส่ผักข้ามเรือเดินเข้าไปยังตึกแถวดังกล่าว เจ้าพนักงานตำรวจจึงเข้าไปตรวจค้นและจับกุมจำเลยทั้งสามทันที นับว่าเป็นเหตุการณ์กระชั้นชิดต่อเนื่องกันกับที่จำเลยที่ 3 นำเมทแอมเฟตามีนจากประเทศสหภาพพม่าเข้ามาในประเทศไทยเหตุที่ไม่ตรวจค้นจับกุมจำเลยที่ 3 ตั้งแต่แรก ก็ได้ความจากพันตำรวจตรีชยันต์ว่าเพราะต้องการจับกุมผู้อื่นที่ร่วมกระทำความผิดด้วย แม้ในตะกร้าพลาสติกนั้นจะไม่รู้ว่าบรรจุอะไร แต่ก็ได้ความว่าขณะเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นนั้น จำเลยทั้งสามนั่งอยู่รวมกันกลางห้องโดยมีผักวางอยู่และมีถุงกะปิอยู่ด้วย 1 ถุง โดยมือของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เปื้อนกะปิซึ่งในถุงกะปิดังกล่าวมีเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนอยู่แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้หยิบผักและถุงกะปิดังกล่าวออกมา ซึ่งผักและถุงกะปิวางอยู่พร้อมตะกร้าพลาสติก เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 3 ต้องนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาโดยซุกซ่อนใส่ไว้ในตะกร้าพลาสติกโดยเอาผักวางทับไว้เพื่อมิให้เห็นเป็นพิรุธ นอกจากนี้ก็ตรวจค้นพบธนบัตรเป็นเงิน 16,260 บาท ในกระเป๋าหนังสีดำที่กระเป๋ากางเกงด้านขวาของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนว่า ได้เตรียมเงินดังกล่าวมาซื้อเมทแอมเฟตามีนโดยได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ไปซื้อมาจากประเทศสหภาพพม่า จำเลยที่ 2 จึงติดต่อให้จำเลยที่ 3 นำเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเข้ามาในประเทศ ซึ่งคำให้การของจำเลยทั้งสามมีรายละเอียดตรงกันทั้งจำเลยทั้งสามได้ให้การรับสารภาพในวันที่ถูกจับกุมนั้นเอง อีกทั้งได้พาเจ้าพนักงานตำรวจไปชี้ที่เกิดเหตุให้ทำบันทึกและถ่ายรูปประกอบคำรับสารภาพ จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจ คำให้การของจำเลยที่ 1 จึงใช้ยันจำเลยที่ 1 ได้ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดเชียงใหม่ ได้ขึ้นมาหาจำเลยที่ 2 ที่จังหวัดเชียงรายเพื่อติดต่อขอซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 2 เป็นจำนวนมาก โดยให้จำเลยที่ 2 ไปซื้อเมทแอมเฟตามีนที่อำเภอท่าขี้เหล็กประเทศสหภาพพม่า ในเช้าวันเกิดเหตุโดยจำเลยที่ 2 นัดแนะให้จำเลยที่ 1 มารับที่ตึกแถวเกิดเหตุ จำเลยที่ 3 ก็นำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรตามที่จำเลยที่ 1 ต้องการซื้อ โดยให้จำเลยที่ 2 ติดต่อซื้อมาให้ จึงเป็นการที่จำเลยที่ 3 นำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรโดยการแบ่งหน้าที่กันทำต้องตามคำนิยามของคำว่า “นำเข้า” ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งหมายความว่านำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว ซึ่งการนำหรือสั่งเข้ามานั้นผู้กระทำผิดมิได้มีเฉพาะตัวจำเลยที่ 3 ผู้ที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเท่านั้นความผิดฐานนี้มิได้อาศัยสภาพจิตใจหรือคุณสมบัติเฉพาะตัวของบุคคล หรือแนวเขตแดนเป็นสาระสำคัญ อันผู้กระทำผิดมิอาจแบ่งงานกันกระทำความผิดได้ มิฉะนั้นแล้วผู้ที่ร่วมกันไปซื้อเมทแอมเฟตามีนจากต่างประเทศ แล้วให้ผู้หญิงถือเข้ามาในประเทศโดยผู้ร่วมกระทำผิดนั้นมารอรับเมทแอมเฟตามีนในประเทศจะไม่มีความผิดไปด้วย เมื่อเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 65.885 กรัม อันต้องด้วยข้อสันนิษฐานเด็ดขาด (ตั้งแต่ 20 กรัม ขึ้นไป) ซึ่งถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามมาตรา 15 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และแม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาจะได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5)มาตรา 8 และมาตรา 19 ให้ยกเลิกความในมาตรา 15 มาตรา 65 และ 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่คดีนี้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณ จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับจำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานร่วมกันนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาเสพติดให้โทษเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักตามฟ้อง”

พิพากษายืน

Share