คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1372/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้มีอำนาจให้ความเห็นว่าพนักงานทดลองงานจะผ่านการทดลองงานหรือไม่ การที่โจทก์อาศัยอำนาจหน้าที่ชักชวนพนักงานหญิงที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาออกไปเที่ยวเตร่กับโจทก์ในเวลาค่ำคืนนอกเวลางาน หากไม่ไป โจทก์จะเสนอความเห็นไม่ยอมให้ผ่านการทดลองงาน หรือโจทก์ชักชวนให้ผู้สมัครงานหญิงไปรับประทานอาหารและฟังเพลงในช่วงเวลาที่จะรับบุคคลดังกล่าวเข้าทำงาน แสดงว่า โจทก์ประสงค์ที่จะกระทำการล่วงเกินทางเพศนั่นเอง นอกจากจะเป็นการประพฤติผิดศีลธรรมหรือจารีตประเพณีอันดีงามของสังคมอันเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยแล้ว ยังมีผลกระทบต่อการบริหารงานบุคคลของจำเลยและความเจริญของกิจการ โดยทำให้พนักงานที่ไม่ยอมกระทำตามความประสงค์โจทก์และถูกโจทก์กลั่นแกล้งขาดขวัญและกำลังใจในการทำงาน การฝ่าฝืนข้อบังคับในการทำงานของโจทก์จึงเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(4) และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583
ศาลแรงงานกลางพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจะพิจารณาจ่ายโบนัสตามผลประกอบการและผลงานของพนักงาน นับแต่ปี 2540 เป็นต้นมาจำเลยไม่ได้จ่ายโบนัสเพราะผลประกอบการขาดทุน อุทธรณ์โจทก์ที่ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับโบนัสในปี 2542 เพราะในปีดังกล่าวจำเลยมีผลกำไรในการประกอบการเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2536 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายควบคุมสินเชื่อได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 25,953 บาท กำหนดจ่ายทุกวันที่ 25 ของเดือน ต่อมาวันที่ 30 กรกฎาคม 2542 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด และไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์จึงมีสิทธิได้ค่าชดเชยเป็นเงิน 207,624 บาทและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 25,953 บาท ทั้งมีสิทธิได้รับบำเหน็จตามสัญญาจ้างและข้อตกลงการจ้างเป็นเงิน 155,718 บาทกับมีสิทธิได้รับโบนัสเป็นเงิน 77,859 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า บำเหน็จและโบนัสตามจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 30กรกฎาคม 2542 ซึ่งเป็นวันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยออกหนังสือรับรองการทำงาน (ใบผ่านงาน) ให้โจทก์ด้วย

จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ฝ่าฝืนกฎหมายและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรง และขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนโดยพยายามล่วงเกินทางเพศต่อลูกจ้างหญิงของจำเลย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ จำเลยไม่เคยมีสัญญาจ้างหรือข้อตกลงการจ่ายบำเหน็จให้โจทก์ส่วนโบนัสจำเลยจะพิจารณาจ่ายให้เป็นกรณีตามผลประกอบการของจำเลยเป็นหลัก ทั้งตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมาจำเลยไม่ได้พิจารณาจ่ายโบนัสให้แก่พนักงานของจำเลยรวมทั้งโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จและโบนัสจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 207,624บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างและวันผิดนัด(วันที่ 30 กรกฎาคม 2542) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “เห็นสมควรวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยและโจทก์ข้อแรกพร้อมกันว่า จำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์หรือไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามเอกสารหมาย ล.4ซึ่งในส่วนที่ 10 ว่าด้วยวินัยในการทำงานและการลงโทษ ข้อ 48(19) ระบุว่าพนักงานต้องไม่ประพฤติตนผิดต่อศีลธรรม จารีตประเพณีอันดีงามของสังคมหากฝ่าฝืนจะถูกลงโทษตามข้อ 50 ซึ่งมีตั้งแต่โทษเบาคือการว่ากล่าวตักเตือนด้วยวาจาไปจนถึงโทษหนักคือการเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามดุลพินิจของจำเลยที่เหมาะสมในการกระทำความผิด โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการแผนกสินเชื่อและเก็บเงิน ต่อมาวันที่ 30 กรกฎาคม2542 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.3 โดยในระหว่างที่โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการแผนกสินเชื่อและเก็บเงิน โจทก์อาศัยอำนาจหน้าที่ในฐานะผู้บังคับบัญชาให้พนักงานหญิงและชายทาบทามพนักงานหญิงผู้ใต้บังคับบัญชาที่โจทก์หมายปองให้ไปดูภาพยนตร์ รับประทานอาหารและฟังเพลงกับโจทก์นอกเวลางานและเวลาค่ำคืน โดยบางครั้งโจทก์เสนอให้ประโยชน์แก่ผู้ที่ติดต่อทาบทาม บางครั้งโจทก์เกี้ยวพาราสีหญิงที่หมายปองเอง ในการสัมภาษณ์หญิงผู้สมัครเข้าทำงานกับจำเลย โจทก์สัมภาษณ์ถึงเรื่องครอบครัวและเรื่องส่วนตัวเกินขอบเขต จากนั้นก็ติดต่อชักชวนให้ผู้สมัครงานหญิงไปฟังเพลง รับประทานอาหารกับโจทก์ สำหรับพนักงานหญิงบางคนที่ไม่ยอมไปกับโจทก์ตามที่ถูกชักชวน หรือไม่ติดต่อทาบทามพนักงานหญิงที่โจทก์หมายปองให้ก็ดี โจทก์ก็ไม่ผ่านงานประจำให้เช่น ไม่ลงชื่ออนุมัติงานล่วงเวลา หรือโจทก์ไม่ยอมให้ผ่านการทดลองงานบ้างดังนี้ เห็นว่า แม้โจทก์จะมิใช่เป็นผู้มีสิทธิขาดในการอนุมัติค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงานผู้ใต้บังคับบัญชา หรือเป็นเพียงผู้ให้ความเห็นว่าพนักงานทดลองงานจะผ่านการทดลองงานหรือไม่ก็ตาม แต่พฤติการณ์ของโจทก์ที่อาศัยอำนาจหน้าที่ของโจทก์ชักชวนพนักงานหญิงที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของโจทก์ออกไปเที่ยวเตร่กับโจทก์ในเวลาค่ำคืนนอกเวลางาน หากพนักงานหญิงผู้นั้นไม่ไปโจทก์จะกลั่นแกล้งเสนอความเห็นไม่ยอมให้พนักงานผู้นั้นผ่านการทดลองงานก็ดีหรือโจทก์ชักชวนให้ผู้สมัครงานหญิงไปรับประทานอาหารและฟังเพลงในช่วงเวลาที่จะรับบุคคลดังกล่าวเข้าทำงานก็ดี เห็นได้ว่าโจทก์มีความประสงค์ที่จะกระทำการล่วงเกินทางเพศต่อพนักงานหญิงผู้ใต้บังคับบัญชา หรือผู้สมัครงานหญิงนั่นเอง หาใช่ว่าโจทก์กระทำไปตามวิสัยของชายเจ้าชู้เท่านั้น การกระทำของโจทก์นอกจากจะเป็นการประพฤติผิดศีลธรรมหรือจารีตประเพณีอันดีงามของสังคมอันเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.4 ข้อ 48(19) แล้ว ยังมีผลกระทบต่อการบริหารงานบุคคลของจำเลย โดยทำให้พนักงานภายใต้บังคับบัญชาโจทก์ที่ไม่ยอมกระทำตามความประสงค์โจทก์และถูกโจทก์กลั่นแกล้งย่อมจะขาดขวัญและกำลังใจในการทำงาน ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อความเจริญของกิจการจำเลย การฝ่าฝืนข้อบังคับในการทำงานของโจทก์จึงเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 119(4) กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายหรือประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงหรือไม่ตามอุทธรณ์ของจำเลยต่อไป ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น เมื่อโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอันเป็นกรณีร้ายแรงแล้ว ย่อมเป็นการกระทำความผิดอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น…

ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับโบนัสในปี 2542 เพราะในปีดังกล่าวจำเลยมีผลกำไรในการประกอบการนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจะพิจารณาจ่ายโบนัสตามผลประกอบการและผลงานของพนักงาน นับแต่ปี 2540 เป็นต้นมาจำเลยไม่ได้จ่ายโบนัสเพราะผลประกอบการขาดทุนอุทธรณ์โจทก์จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมด

Share