แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีไม่ได้ร้องขอให้ศาลสั่งว่าบริษัทจำเลยที่ 1 ล้มละลาย แต่ความรับผิดร่วมกันในการยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นการยื่นรายการของบริษัทและนำเงินของบริษัทไปชำระค่าภาษี เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านอกจากสิทธิเรียกร้องในเงินที่จำเลยที่ 1 ฝากไว้แก่ธนาคารซึ่งโจทก์ได้อายัดและนำมาชำระค่าภาษีบางส่วนแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก และไม่มีการแบ่งปันทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 คืนแก่ผู้ถือหุ้นจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีของจำเลยที่ 1 เป็นส่วนตัว
บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7(2) เป็นการกำหนดว่า ศาลภาษีอากรมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากร มิใช่บทบัญญัติว่าผู้ใดจะต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอาก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมีอำนาจหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ต่อมาได้จดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2541 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2541 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2538 โจทก์ออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีจำเลยที่ 1 เนื่องจากมีเหตุเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีและยื่นแบบประมาณการกำไรสุทธิไว้ไม่ถูกต้องสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2534 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2534 และรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2535 ผลการตรวจสอบพบว่า กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2534 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม2534 จำเลยที่ 1 ไม่แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับรายได้รายจ่ายของกิจการไม่ยื่นงบดุล บัญชีทำการและบัญชีกำไรขาดทุนจึงถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด. 50) ส่วนในรอบระยะเวลาบัญชีระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2535 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2535 จำเลยที่ 1มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล เจ้าพนักงานของโจทก์จึงประเมินให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งสองรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังยื่นแบบประมาณการกำไรสุทธิ (ภ.ง.ด.51) ขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 ของกำไรตามผลการตรวจสอบทั้งสองรอบระยะเวลาบัญชี จึงต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม คิดเป็นเงินค่าภาษี เบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามการประเมินทั้งสิ้น 4,314,834 บาท โจทก์ได้แจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 1 ทราบเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2541 จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมิน ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ให้บางส่วน ยังคงค้างชำระภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มคำนวณถึงเดือนเมษายน 2543เป็นเงิน 4,147,669.78 บาท จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ทราบรายละเอียดการประเมินภาษีอากรแล้วแต่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จดทะเบียนเลิกบริษัทและจดทะเบียนเสร็จสิ้นการชำระบัญชีโดยมิได้นำเงินค่าภาษีอากรไปชำระแก่โจทก์อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชี ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระหนี้ค่าภาษีอากรจำนวน 4,147,669.78 บาท พร้อมเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนในค่าภาษีอากรจำนวน 4,066,511.78 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลภาษีอากรกลาง เนื่องจากฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 ผู้ชำระบัญชีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ทำให้โจทก์เสียหาย เป็นการกล่าวหาว่าจำเลยที่ 2 ทำละเมิด การรับผิดชำระค่าเสียหายถือเป็นการเรียกค่าสินไหมทดแทน ศาลต้องพิจารณาตามมาตรา 420 และ 438 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 จำเลยที่ 1 มิได้มีรายได้ตามการประเมิน จำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้ได้รับสัมปทานหรือได้รับอนุญาตจากประเทศสหภาพพม่าให้เข้าจับสัตว์น้ำเค็มในเขตน่านน้ำของประเทศดังกล่าว ภายหลังจำเลยที่ 1 มิได้ดำเนินกิจการเองแต่ได้ให้บุคคลภายนอกใช้สิทธิแทน จำเลยที่ 1 คิดค่าใช้สิทธิโดยในช่วงปี 2534 และ 2535 จำเลยที่ 1 มีรายได้เป็นค่าสิทธิ 1,200,000 บาทหักรายจ่ายแล้วจำเลยที่ 1 มีผลขาดทุน การประเมินของเจ้าพนักงานของโจทก์เป็นการกลั่นแกล้งจำเลยที่ 1 เจ้าพนักงานของโจทก์มิได้แจ้งการประเมินภาษีตามฟ้องแก่จำเลยที่ 1โดยชอบด้วยกฎหมายจำเลยที่ 1 จึงไม่ทราบและไม่ได้ใช้สิทธิในการอุทธรณ์ หากมีหนี้ค่าภาษีอากรอยู่จริงก็เป็นอันระงับไปแล้วโดยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือน การชำระบัญชีของจำเลยที่ 2 กระทำไปโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดให้ผู้ชำระบัญชีต้องร่วมรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรกับนิติบุคคลที่ตนได้ชำระบัญชี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินภาษีอากรจำนวน 4,147,668.78 บาท แก่โจทก์ ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลภาษีอากรกลางโดยคู่ความมิได้อุทธรณ์โต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 และบุคคลอื่นอีก 2 คน เป็นกรรมการ กรรมการคนหนึ่งคนใดมีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2538 เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีอากรของจำเลยที่ 1 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 และ 2535 เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 จำเลยที่ 1 มีรายได้ทั้งสิ้น 18,678,280 บาท แต่จำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยไม่แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับรายได้และรายจ่าย ถือว่าเป็นการไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษี ส่วนในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 จำเลยที่ 1 มีรายได้ทั้งสิ้น19,263,610 บาท แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล เจ้าพนักงานประเมินจึงประเมินเรียกเก็บภาษีในอัตราร้อยละ5 ของยอดรายได้ก่อนหักรายจ่ายตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร คิดเป็นเงินภาษีที่ต้องชำระเพิ่มสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534เป็นเงิน 1,831,828 บาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 เป็นเงิน 1,828,404 บาท เมื่อนำกรณีตามการประเมินดังกล่าวมาคำนวณย้อนกลับเพื่อหากำไรสุทธิพบว่าจำเลยที่ 1 ประมาณการกำไรสุทธิตามแบบการประมาณการครึ่งปีทั้งสองรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิ ตามผลการตรวจสอบโดยไม่มีเหตุอันสมควรวันที่ 24 มิถุนายน 2541 เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมทั้งสิ้น 4,314,834 บาท จำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2541 โจทก์ได้อายัดสิทธิเรียกร้องในเงินที่จำเลยที่ 1 ฝากไว้กับธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาระนองจำนวน 193,322.22 บาท และได้นำเงินนั้นมาชำระหนี้ค่าภาษีแล้วบางส่วน ต่อมาวันที่ 13 สิงหาคม 2541 จำเลยที่ 1จดทะเบียนเลิกบริษัท โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชี และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2541 นอกจากสิทธิเรียกร้องในเงินฝากของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์อายัดไว้แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นจึงไม่มีการแบ่งปันทรัพย์สินคืนแก่ผู้ถือหุ้น
โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่า จำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ยังมิได้ชำระหนี้ค่าภาษีให้ครบถ้วน กลับไปจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีจำเลยที่ 1 เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ค่าภาษีแก่โจทก์พิเคราะห์แล้วจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1250 และมาตรา 1266 ที่จะต้องชำระสะสางการงานของบริษัทจำเลยที่ 1 ให้เสร็จไป กับจัดการให้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ถ้าจำเลยที่ 2 พิจารณาเห็นว่าเมื่อเงินค่าหุ้นได้ใช้เสร็จหมดแล้ว สินทรัพย์ก็ยังไม่พอกับหนี้สิน จำเลยที่ 2 ต้องร้องขอต่อศาลทันทีเพื่อให้ออกคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ล้มละลาย นอกจากนี้ประมวลรัษฎากร มาตรา 72 ยังบัญญัติให้ผู้ชำระบัญชีและผู้จัดการบริษัทมีหน้าที่ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานประเมินทราบการเลิกบริษัทภายใน 15 วันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิกบริษัท หากไม่ปฏิบัติตามเจ้าพนักงานประเมินอาจสั่งให้บริษัทนั้นเสียเงินภาษีเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าของจำนวนภาษีที่ต้องเสีย อีกทั้งผู้ชำระบัญชีและผู้จัดการบริษัทมีหน้าที่และความรับผิดร่วมกันในการยื่นรายการและเสียภาษีตามแบบ เห็นว่า แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ร้องขอให้ศาลสั่งว่าจำเลยที่ 1 ล้มละลาย แต่ความรับผิดร่วมกันในการยื่นรายการและเสียภาษีดังกล่าวเป็นการยื่นรายการของบริษัทและนำเงินของบริษัทไปชำระค่าภาษี เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นอกจากสิทธิเรียกร้องในเงินที่จำเลยที่ 1 ฝากไว้แก่ธนาคารซึ่งโจทก์ได้อายัดและนำมาชำระค่าภาษีบางส่วนแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก และไม่มีการแบ่งปันทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 คืนแก่ผู้ถือหุ้นจำเลยที่ 2 จึงหาต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีของจำเลยที่ 1 เป็นส่วนตัวไม่ อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์อุทธรณ์ข้อหลังว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดชำระหนี้ค่าภาษีในมูลสัญญาจัดตั้งบริษัทซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับความรับผิดในหนี้ค่าภาษีของจำเลยที่ 1 คดีของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ถือได้ว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7(2) จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในหนี้ค่าภาษีอากรต่อโจทก์ เห็นว่า บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นการกำหนดว่า ศาลภาษีอากรมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากร หาใช่บทบัญญัติว่าผู้ใดจะต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรไม่ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น ชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน