คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3698/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาทรัสต์รีซีทที่ระบุข้อตกลงว่า จำเลยที่ 1 จะชำระค่าสินค้าโดยคำนวณเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารโจทก์ต้องชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 หรือตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ตกลงกันไว้ หรือในอัตราแลกเปลี่ยนของโจทก์ ณ วันครบกำหนดชำระเงินตามทรัสต์รีซีท หรือในอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามทรัสต์รีซีท โดยจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์เป็นผู้เลือกที่จะใช้อัตราใดแล้วแต่จะเห็นสมควรเป็นข้อตกลงที่ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนเมื่อโจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินโดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินชิลลิงออสเตรียเป็นเงินไทยในวันครบกำหนดชำระเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงในสัญญา ศาลจึงไม่มีอำนาจบังคับโจทก์ให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินชิลลิงออสเตรียเป็นเงินไทยในวันอื่นที่โจทก์ไม่ได้เลือก จำเลยทั้งสี่จึงไม่อาจอ้างว่าโจทก์คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินชิลลิงออสเตรียเป็นเงินไทยโดยไม่เป็นธรรมได้
บทบัญญัติมาตรา 728 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มิได้บัญญัติว่าการบอกกล่าวบังคับจำนองต้องทำเป็นหนังสือกรณีจึงไม่ตกอยู่ในบังคับของมาตรา 798 วรรคหนึ่ง
โจทก์มอบให้ อ. พนักงานธนาคารโจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 1โดยไม่ได้ทำเป็นหนังสือ แต่เมื่อ อ. มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้รับแล้วไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์จึงนำคดีมาฟ้อง แสดงว่าโจทก์ยอมรับเอาการบอกกล่าวบังคับจำนองของ อ. ถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นตัวการได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำของ อ. ซึ่งเป็นตัวแทนที่บอกกล่าวบังคับจำนอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823 ดังนั้นเมื่อ อ. ซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 1 ผู้จำนอง ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังผู้จำนองตามมาตรา 728 แล้ว
จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้งสิบสองฉบับและไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์เลยนับแต่วันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาฉบับสุดท้ายถึงวันที่โจทก์มีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองเกิน 1 ปี แล้ว และหลังจากโจทก์มีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2541 โจทก์ก็มิได้ดำเนินการฟ้องร้องจำเลยทั้งสี่ในทันทีเมื่อพ้นกำหนด 15 วัน ตามจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนอง แต่มาฟ้องเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2542 แสดงว่าโจทก์ไม่ได้ถือกำหนดเวลา 15 วัน ตามจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองเป็นสาระสำคัญ ถือไม่ได้ว่าจดหมายบอกกล่าวมิได้กำหนดเวลาให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรจึงเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
หนังสือสัญญาค้ำประกันซึ่งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้ค้ำประกันระบุว่าเป็นการค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 อันเกิดจากนิติกรรมใด ๆ ที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำไว้แล้วในขณะทำสัญญาค้ำประกัน และหนี้เกิดจากนิติกรรมใด ๆ ต่อไป ในภายหน้าด้วย การฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้รับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารแสดง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เมื่อโจทก์อ้างส่งหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นพยานเอกสาร การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อุทธรณ์ว่ามีข้อความเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคตของจำเลยที่ 1 ศาลย่อมไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นแตกต่างจากข้อความในหนังสือสัญญาค้ำประกันได้
การที่ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์ซีท ซึ่งจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ ไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
คำแปลเอกสารที่เป็นภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยไม่ถือว่าเป็นเอกสารที่คู่ความอ้างส่งในคดี จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการอ้างเอกสารเป็นพยาน และถือเป็นหน้าที่ของคู่ความทั้งสองฝ่ายที่จะต้องร่วมกันสื่อความหมายของข้อความนั้นให้ศาลได้เข้าใจได้ตรงหรือใกล้เคียงกับความหมายที่แท้จริงของข้อความภาษาต่างประเทศนั้นให้มากที่สุด ดังนั้นหากคำแปลเป็นภาษาไทยไม่ถูกต้อง คู่ความทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมขอแก้ไขเมื่อใดก็ได้ก่อนศาลมีคำพิพากษา
การคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระตามสัญญาทรัสต์รีซีท ต้องปฏิบัติตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์และตามสัญญาทรัสต์รีซีท เมื่อสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 ระบุให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยที่ 1ผิดนัดได้ตามอัตราที่ระบุในสัญญาข้อ 4 และข้อความในสัญญาข้อ 4 ระบุถึงอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระภายในกำหนดเวลาตามสัญญาอันเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดนัดซึ่งแม้สัญญาข้อ 4 จะระบุให้ใช้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศธนาคารโจทก์ย่อมหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าที่ไม่ผิดนัดเท่านั้น ดังนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 เพียงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดตามประกาศธนาคารโจทก์ ไม่ใช่อัตราสูงสุดในกรณีลูกค้าผิดเงื่อนไขหรือผิดสัญญา เพราะตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดข้อ 3(4) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยในอัตราสำหรับลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไขได้เฉพาะกรณีที่ลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไขแล้วเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับโจทก์หลายคราวเพื่อสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ เมื่อผู้ขายจัดส่งสินค้าและเอกสารการขนส่งมา โจทก์ต้องจ่ายค่าสินค้าแก่ผู้ขาย เมื่อสินค้ามาถึงประเทศไทย จำเลยที่ 1 จะชำระค่าสินค้าตามอัตราแลกเปลี่ยนในวันชำระพร้อมค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่าย และดอกเบี้ยแก่โจทก์ ต่อมาผู้ขายได้จัดส่งสินค้ามาและโจทก์ได้จ่ายค่าสินค้าให้ผู้ขายไปแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ชำระค่าสินค้าให้โจทก์ไม่ได้ จำเลยที่ 1 จึงขอรับเอกสารการขนส่งไปออกสินค้า โดยทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 จะชำระค่าสินค้าตามจำนวนและภายในเวลาที่กำหนดไว้โดยคำนวณตามอัตราแลกเปลี่ยนตามวิธีการคำนวณ 4 วิธี ที่โจทก์เลือก ตลอดจนยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยตามรายละเอียดแนบท้ายสัญญา หรือในอัตราสูงสุดที่โจทก์เรียกเก็บได้ตามประกาศธนาคารโจทก์ นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 ไปปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทรวม 12 ฉบับ โจทก์คิดดอกเบี้ยก่อนผิดนัดในอัตราร้อยละ 6.7 ถึง 9.625 ต่อปี และดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 14.75ถึง 25 ต่อปี จนถึงวันฟ้อง โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยน 25.8 ถึง 45.8 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ และ 2.17375 ถึง 3.02625 บาท ต่อ 1 ชิลลิงออสเตรีย แล้วจำเลยที่ 1 ค้างชำระต้นเงินจำนวน 18,859,750.29 บาท และดอกเบี้ยจำนวน 7,052,557.98 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 25,912,308.27 บาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกัน การชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 1 จำนองที่ดินมีโฉนดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันการชำระหนี้ โดยมีข้อตกลงให้บังคับจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 จนครบจำนวนหนี้ โจทก์มีหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ชำระ ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงินจำนวน25,912,308.27 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.75 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน18,859,750.29 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระ ให้บังคับจากทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า โจทก์คำนวณดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราไม่ถูกต้อง โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ดอกเบี้ยที่โจทก์คิดมาทั้งหมดจึงเป็นโมฆะ โจทก์ได้โอนเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ไปชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทหลายครั้ง จำเลยที่ 1 ไม่ได้ค้างชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทอีก สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เพียง 15 วัน ทั้งที่ยอดหนี้มีจำนวนสูงถึง 135,505,681.59 บาท การบอกกล่าวบังคับจำนองจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2มิได้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท หนังสือสัญญาค้ำประกันท้ายคำฟ้องเป็นการค้ำประกันในมูลหนี้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลแพ่งธนบุรีให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามคำฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ให้การว่า สัญญาค้ำประกันท้ายคำฟ้องเป็นการค้ำประกันหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 มิใช่เป็นการค้ำประกันหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทจำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามคำฟ้อง โจทก์มิได้ชำระค่าสินค้าให้ผู้ขาย โจทก์คำนวณอัตราแลกเปลี่ยนไม่ถูกต้องและไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.75 ต่อปี ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกมาจึงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดและเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 4 ให้การว่า โจทก์มิได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้บอกกล่าวบังคับจำนองการบอกกล่าวบังคับจำนองจึงไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดอีก ขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 25,912,308.27 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.75 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 18,859,750.29 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 8 ตุลาคม 2542)จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ให้หนี้ต้นเงินในมูลหนี้ทั้งหมดรวมแล้วไม่เกินจำนวน 126,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.73 หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระ ให้บังคับจากทรัพย์จำนองคือที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 11277 เลขที่ดิน 125 ตำบลหนองอ้อ อำเภอบ้านโป่งจังหวัดราชบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 และทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่

จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่านายชวลิต ธนะชานันท์ และนายจุลกรสิงหโกวินท์ ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนธนาคารโจทก์ได้ร่วมกันลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 มอบอำนาจให้นายสมศักดิ์ วรวิจักษณ์ ดำเนินคดีแทนโจทก์และนายสมศักดิ์ได้ลงชื่อให้หนังสือมอบอำนาจเพื่อมอบอำนาจช่วงให้นางสาวหทัยรัตน์จิรกำจรวิทยา ดำเนินคดีนี้ตามหนังสือมอบอำนาจช่วงเอกสาร จ.3 จำเลยที่ 1 ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศกับโจทก์หลายครั้งเมื่อผู้ขายสินค้าจากต่างประเทศส่งสินค้าแก่ผู้ขนส่ง โจทก์ได้จ่ายเงินค่าสินค้าแก่ผู้ขายแทนจำเลยที่ 1 ไปและเมื่อสินค้าเดินทางมาถึงประเทศไทย จำเลยที่ 1 มิได้นำเงินค่าสินค้าและค่าธรรมเนียมมาชำระแก่โจทก์ แต่ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์เพื่อขอรับเอกสารนำไปรับสินค้าออกไปก่อน แล้วจะนำเงินค่าสินค้าและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมทั้งดอกเบี้ยมาชำระแก่โจทก์ตามจำนวนและภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาทรัสต์รีซีท โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ในหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.73 และจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่11277 ตำบลหนองอ้อ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ดังกล่าวในวงเงินจำนวน 100,000,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.74 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท รวม 12 ฉบับ ดังนี้ ฉบับที่ 1 สัญญาทรัสต์รีซีท ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2539 จำนวน 57,000 ดอลลาร์สหรัฐ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 9.125 ต่อปี กำหนดชำระภายในวันที่ 29 เมษายน 2540 ตามเอกสารหมาย จ.5ฉบับที่ 2 สัญญาทรัสต์รีซีท ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2539 จำนวน 154,000 ชิลลิงออสเตรีย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6.7 ต่อปี กำหนดชำระภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2540ตามเอกสารหมาย จ.12 ฉบับที่ 3 สัญญาทรัสต์รีซีท ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2539 จำนวนเงิน 11,784.50 ดอลลาร์สหรัฐ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 9.0313 ต่อปี กำหนดชำระเงินภายในวันที่ 8 มิถุนายน 2540 ตามเอกสารหมาย จ.17 ฉบับที่ 4 สัญญาทรัสต์รีซีทลงวันที่ 9 ธันวาคม 2539 จำนวน 66,965.24 ดอลลาร์สหรัฐ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ9.0313 ต่อปี กำหนดชำระเงินภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2539 ตามเอกสารหมาย จ.22ฉบับที่ 5 สัญญาทรัสต์รีซีทลงวันที่ 20 ธันวาคม 2539 จำนวน 69,600 ดอลลาร์สหรัฐอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 9.125 ต่อปี กำหนดชำระเงินภายในวันที่ 18 มิถุนายน 2540 ตามเอกสารหมาย จ.27 ฉบับที่ 6 สัญญาทรัสต์รีซีท ลงวันที่ 9 มกราคม 2540 จำนวน62,525 ดอลลาร์สหรัฐ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 9.125 ต่อปี กำหนดชำระภายในวันที่ 13กรกฎาคม 2540 ตามเอกสารหมาย จ.32 ฉบับที่ 7 สัญญาทรัสต์รีซีท ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 จำนวน 62,699.33 ดอลลาร์สหรัฐ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 9.1875 ต่อปีกำหนดชำระเงินภายในวันที่ 5 สิงหาคม 2540 ตามเอกสารหมาย จ.37 ฉบับที่ 8 สัญญาทรัสต์รีซีท ลงวันที่ 8 เมษายน 2540 จำนวน 65,600 ดอลลาร์สหรัฐ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 9.625 ต่อปี กำหนดชำระภายในวันที่ 7 ตุลาคม 2540 ตามเอกสารหมาย จ.42 ฉบับที่ 9 สัญญาทรัสต์รีซีท ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2540 จำนวน57,223.43 ดอลลาร์สหรัฐ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 9.5 ต่อปี กำหนดชำระเงินภายในวันที่ 20 ตุลาคม 2540 ตามเอกสารหมาย จ.47 ฉบับที่ 10 สัญญาทรัสต์รีซีท ลงวันที่29 กรกฎาคม 2540 จำนวน 42,330 ดอลลาร์สหรัฐ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 9.4375 ต่อปีกำหนดชำระเงินภายในวันที่ 26 มกราคม 2541 ตามเอกสารหมาย จ.55 ฉบับที่ 11สัญญาทรัสต์รีซีท ลงวันที่ 11 มีนาคม 2540 จำนวน 29,821.50 ชิลลิงออสเตรียอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6.8125 ต่อปี กำหนดชำระภายในวันที่ 10 กันยายน 2540 ตามเอกสารหมาย จ.61 และฉบับที่ 12 สัญญาทรัสต์รีซีท ลงวันที่ 12 มีนาคม 2540 จำนวน63,575 ดอลลาร์สหรัฐ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 9.1875 ต่อปี กำหนดชำระภายในวันที่9 กันยายน 2540 ตามเอกสารหมาย จ.70 ต่อมานายเอกวิช รัตนเสาวภาคย์ พนักงานธนาคารโจทก์มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยทั้งสี่และบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 1 โดยให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้รวม 34 รายการ รวมทั้งตามสัญญาทรัสต์รีซีทจำนวน12 ฉบับ ในคดีนี้เป็นเงินไทยจำนวน 135,505,681.59 บาท ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย…

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ต่อไปว่าโจทก์คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินชิลลิงออสเตรียเป็นเงินไทยถูกต้องหรือไม่ จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่า แม้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทจะให้สิทธิแก่โจทก์ในการเลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนได้ถึง 4 วิธี แต่ศาลควรพิจารณากำหนดให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนในวันที่โจทก์ชำระเงินค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 แต่ละครั้ง ซึ่งจะเกิดความเป็นธรรมแก่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายนั้น เห็นว่า สัญญาทรัสต์รีซีทเป็นสัญญาอย่างหนึ่ง ที่คู่สัญญาสามารถตกลงเงื่อนไขอย่างใด ๆ ก็ได้กฎหมายก็ยอมรับบังคับให้ผูกพันคู่สัญญา เว้นแต่ข้อตกลงนั้น ๆ จะขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาทรัสต์รีซีทตามคำฟ้องทั้งสิบสองฉบับ ในข้อ 4 ระบุข้อตกลงของคู่สัญญาว่า จำเลยที่ 1จะนำเงินมาชำระค่าสินค้าในจำนวนและกำหนดเวลาที่ระบุไว้แนบท้ายสัญญาโดยคำนวณเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารโจทก์ต้องชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 หรือตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ตกลงกันไว้หรือในอัตราแลกเปลี่ยนของโจทก์ ณ วันครบกำหนดชำระเงินตามทรัสต์รีซีท หรือในอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามทรัสต์รีซีท โดยจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์เป็นผู้เลือกที่จะใช้อัตราใดแล้วแต่จะเห็นสมควร ข้อตกลงดังกล่าวมิได้ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินโดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินชิงลิงออสเตรียเป็นเงินไทยในวันครบกำหนดชำระเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาศาลก็ไม่มีอำนาจบังคับโจทก์ให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินชิลลิงออสเตรียเป็นเงินไทย ในวันอื่นที่โจทก์ไม่ได้เลือก เพราะโจทก์มิได้ปฏิบัติต่อจำเลยที่ 1ให้ผิดจากสัญญาหรือข้อตกลงในสัญญาแต่อย่างใด จำเลยทั้งสี่จึงไม่อาจอ้างว่าโจทก์คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินชิลลิงออสเตรียเป็นเงินไทยโดยไม่เป็นธรรมได้ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ว่า โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 บังคับว่าการบอกกล่าวบังคับจำนองต้องทำเป็นหนังสือและมาตรา 798 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้น ก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย” ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์มิได้มีหนังสือมอบอำนาจให้นายเอกวิช รัตนเสาวภาคย์ บอกกล่าวบังคับจำนองแทน การที่นายเอกวิชทำหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการฟ้องคดีของโจทก์ไม่ถือเป็นการให้สัตยาบัน ทั้งกำหนดชำระหนี้ตามหนังสือบอกกล่าวที่ให้เวลาเพียง 15 วัน ไม่ใช่ระยะเวลาอันสมควรนั้น พิเคราะห์แล้วประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 บัญญัติว่า “เมื่อจะบังคับจำนองนั้นผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรซึ่งกำหนดไว้ในคำบอกกล่าวนั้น…” และมาตรา 798 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ การแต่งตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย” เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 728 มิได้บัญญัติว่า การบอกกล่าวบังคับจำนองต้องทำเป็นหนังสือ กรณีจึงไม่ตกอยู่ในบังคับของมาตรา 798 วรรคหนึ่งดังกล่าว คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์มอบให้นายเอกวิชพนักงานธนาคารโจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้ทำเป็นหนังสือแต่เมื่อนายเอกวิชมีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้รับแล้วไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องแสดงว่าโจทก์ยอมรับเอาการบอกกล่าวบังคับจำนองของนายเอกวิชถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นตัวการได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำของนายเอกวิชซึ่งเป็นตัวแทนที่บอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 823 ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่านายเอกวิชพนักงานธนาคารโจทก์เป็นตัวแทนของโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 1 ผู้จำนอง ก็ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังผู้จำนองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 728แล้ว สำหรับกำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภายใน 15 วัน ตามจดหมายบอกกล่าวนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้งสิบสองฉบับและไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์เลย นับแต่วันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาฉบับสุดท้ายถึงวันที่โจทก์มีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองเป็นเวลาเกิน 1 ปี แล้ว และหลังจากโจทก์มีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนอง ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2541 ตามใบไปรษณีย์ตอบรับเอกสารหมาย จ.77 แต่โจทก์ก็มิได้ดำเนินการฟ้องร้องจำเลยทั้งสี่ในทันทีเมื่อพ้นกำหนด 15 วัน ตามจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนอง แต่มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 8ตุลาคม 2542 แสดงว่าโจทก์ไม่ได้ถือกำหนดเวลา 15 วัน ตามจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองเป็นสาระสำคัญ ถือไม่ได้ว่าจดหมายบอกกล่าวมิได้กำหนดเวลาให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร การที่โจทก์มีจดหมายถึงจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้งสิบสองฉบับซึ่งต้องรับผิดตามคำฟ้องหรือไม่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อุทธรณ์ว่าสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.73 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ตกลงค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ที่ได้ทำในวันเดียวกันเท่านั้น หนี้ตามฟ้องเกิดขึ้นภายหลัง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดนั้นเห็นว่า หนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.73 ซึ่งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่แก่โจทก์ในข้อ 1 มีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นการค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 อันเกิดจากนิติกรรมใด ๆ จำเลยที่ 1 ได้กระทำไว้แล้วในขณะทำสัญญาค้ำประกันนี้ และหนี้เกิดจากนิติกรรมใด ๆ ต่อไปในภายหน้าด้วย การฟ้องร้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้รับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เมื่อโจทก์อ้างส่งหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.73 เป็นพยานเอกสาร การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อุทธรณ์ว่ามีข้อความเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคตของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิได้มีพยานหลักฐานใด ๆ มาสืบ ศาลย่อมไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นแตกต่างจากข้อความในหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.73 ได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามคำฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ต่อไปว่าสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่าพฤติการณ์ของโจทก์เป็นการประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของผู้อื่น หรือรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้น รวมทั้งเงินที่ได้ทดลองออกไปมีกำหนดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(7)โจทก์นำสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับที่ 1 ถึงที่ 8 มาฟ้องเกินกว่า2 ปีแล้ว จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า กรณีตามคำฟ้องเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ และขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตโดยจ่ายเงินค่าสินค้าแก่ผู้ขายในต่างประเทศแทนจำเลยที่ 1 ไปก่อน เมื่อสินค้ามาถึงประเทศไทยแล้ว จำเลยที่ 1 จะนำเงินค่าสินค้าและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มาชำระให้แก่โจทก์ และรับเอาสินค้าไป แต่เมื่อสินค้ามาถึงประเทศไทยแล้ว จำเลยที่ 1 ยังไม่มีเงินชำระค่าสินค้าและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้แก่โจทก์ แต่ประสงค์จะขอรับสินค้าออกไปก่อนจึงมาขอทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์โดยขอรับเอกสารนำไปรับสินค้าออกไปก่อนและจะจ่ายเงินค่าสินค้า ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ภายในเวลาที่กำหนดไว้ การที่โจทก์มาฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้งสิบสองฉบับ ซึ่งจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา จึงเป็นการฟ้องเรียกร้องให้ชำระหนี้ตามมูลหนี้อันเกิดแต่สัญญาทรัสต์รีซีทซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ไม่ใช่กรณีโจทก์ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของจำเลยที่ 1 เรียกเอาเงินที่ได้ทดรองจ่ายแทนจำเลยที่ 1 ดังที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ในข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1ชำระหนี้ตามคำฟ้องให้แก่โจทก์ไปแล้วเพียงใด หรือไม่ จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่า หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทตามคำฟ้องโจทก์ได้นำไปหักบัญชีไว้ในบัญชีเดินสะพัดของจำเลยที่ 1หมดแล้ว ถือว่าหนี้ตามคำฟ้องได้มีการชำระหมดสิ้นแล้ว โดยโจทก์โอนไปเป็นหนี้ตามบัญชีเดินสะพัด โจทก์ชอบที่จะยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้ตามบัญชีเดินสะพัดต่อศาลที่มีเขตอำนาจ ไม่ใช่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และการที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำแปลในเอกสารหมาย จ.8 จ.15 จ.20 จ.25 จ.30 จ.35 จ.40 จ.45 จ.53 จ.59 (ที่ถูกเอกสารหมาย จ.53 และ จ.59 ไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทย) จ.65 และ จ.71 หลังจากที่พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกับเอกสารตามคำแปลเดิมเป็นประโยชน์แก่จำเลยทั้งสี่จึงทำให้จำเลยทั้งสี่เสียเปรียบ เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสี่มิได้ให้การโต้แย้งจำนวนหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้งสิบสองฉบับตามคำฟ้องทั้งรับว่ายังมิได้ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้งสิบสองฉบับให้แก่โจทก์โดยตรง แต่อ้างว่าการที่โจทก์นำหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้งสิบสองฉบับไปโอนหักหนี้ของจำเลยที่ 1 ในบัญชีเดินสะพัดถือว่าหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทตามฟ้องระงับสิ้นไปแล้ว โดยจำเลยทั้งสี่มีจำเลยที่ 2 เป็นพยานปากเดียวมาเบิกความลอย ๆ มิได้นำสืบให้เห็นว่าหนี้ตามบัญชีเดินสะพัดของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่แก่โจทก์มีจำนวนเท่าใด ทั้งที่จำเลยที่ 2 ก็เบิกความรับว่าจำเลยที่ 2 ได้ถูกโจทก์ฟ้องให้ชำระหนี้ตามบัญชีเดินสะพัดที่ศาลแพ่งธนบุรี แม้ในคดีดังกล่าวโจทก์ยังมิได้นำสืบรายละเอียดของหนี้เบิกเงินเกินบัญชีดังที่จำเลยที่ 2 เบิกความแต่จำนวนยอดหนี้ตามบัญชีเดินสะพัดจำเลยที่ 2 ก็น่าจะต้องรู้และสามารถนำจำนวนหนี้มาเปรียบเทียบได้ในเบื้องต้นว่าเป็นจำนวนหนี้ที่รวมเอาหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทตามคำฟ้องคดีนี้ไว้ด้วยหรือไม่ การที่จำเลยที่ 2 มิได้เบิกความถึงจำนวนหนี้ตามบัญชีเดินสะพัดที่ถูกโจทก์ฟ้องที่ศาลแพ่งธนบุรี จึงนับเป็นข้อพิรุธประการหนึ่ง ส่วนเอกสารจ.8 จ.15 จ.20 จ.25 จ.30 จ.35 จ.40 จ.45 จ.65 และ จ.71 ที่โจทก์อ้างว่าส่งประกอบสัญญาทรัสต์รีซีททั้งสิบสองฉบับตามคำฟ้องมีข้อความเป็นภาษาอังกฤษระบุว่าCUSTOMER’S ADVICE ที่หัวกระดาษด้านซ้าย ซึ่งแปลว่า ใบแจ้งแก่ลูกค้านั้น มีรายละเอียดหมายเลขประจำตัวลูกค้าเลขที่สัญญาทรัสต์รีซีท เลขที่คำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต อัตราดอกเบี้ย จำนวนหนี้ อัตราแลกเปลี่ยน และจำนวนหนี้เป็นเงินไทยของหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้งสิบสองฉบับ ด้านล่างของข้อความดังกล่าวจะมีข้อความว่า “your T/R overdue account debitted today” ซึ่งโจทก์ส่งคำแปลเป็นภาษาไทยของเอกสารดังกล่าวมาพร้อมกับการอ้างเอกสารนั้น และข้อความภาษาอังกฤษข้างต้นโจทก์แปลว่า “ธนาคารหักบัญชีของท่านในวันนี้เพื่อชำระภาระทรัสต์รีซีทที่เกินกำหนดชำระ” แต่ต่อมาหลังจากสืบพยานหลักฐานของโจทก์หมดแล้วระหว่างสืบพยานจำเลยทั้งสี่ โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำแปลข้อความดังกล่าวเสียใหม่ เป็นว่า “ธนาคารได้บันทึกหนี้บัญชีทรัสต์รีซีทที่เกินกำหนดชำระของท่านไว้แล้วในวันนี้” เห็นว่า คำแปลเอกสารที่เป็นภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยไม่ถือว่าเป็นเอกสารที่คู่ความอ้างส่งในคดีเป็นเพียงหนังสือประกอบเอกสารอธิบายให้ศาลเข้าใจความหมายของข้อความภาษาต่างประเทศในเอกสารนั้น จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการอ้างเอกสารเป็นพยาน และถือเป็นหน้าที่ของคู่ความทั้งสองฝ่ายที่จะต้องร่วมกันสื่อความหมายของข้อความนั้นให้ศาลได้เข้าใจได้ ตรงหรือใกล้เคียงกับความหมายที่แท้จริงของข้อความภาษาต่างประเทศนั้นให้มากที่สุด ดังนั้นหากคำแปลเป็นภาษาไทยไม่ถูกต้อง คู่ความทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมอาจขอแก้ไขเมื่อใดก็ได้ก่อนศาลมีคำพิพากษาวินิจฉัยชี้ขาดคดี จำเลยทั้งสี่มิได้นำสืบโต้แย้งว่า คำแปลที่โจทก์ขอแก้ไขใหม่นั้นไม่ถูกต้อง ไม่ตรงกับความจริง เพียงแต่โต้แย้งว่าการขอแก้ไขนั้นทำให้จำเลยทั้งสี่เสียเปรียบ เมื่อพิเคราะห์ถึงว่าใบแจ้งแก่ลูกค้าตามเอกสารหมาย จ.8 จ.15 จ.20 จ.25 จ.30 จ.35 จ.40 จ.45 จ.53 จ.59 จ.65 จ.71 และ Advice of Maturinty เอกสารหมายจ.53 และ จ.59 โจทก์ได้ออกไปถึงจำเลยที่ 1 ในช่วงระหว่างวันที่ 29 เมษายน 2540 ถึงวันที่ 12 ตุลาคม 2540 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่โจทก์จะมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทและมีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 1 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2541 นานกว่า 1 ปี ในหนังสือดังกล่าวได้ระบุรายการต่าง ๆ และจำนวนหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับไว้อย่างละเอียด จำเลยทั้งสี่ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วมิได้โต้แย้งว่าหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทดังกล่าวได้ระงับสิ้นไปเพราะหักโอนไปเข้าบัญชีเดินสะพัดของจำเลยที่ 1 จนหมดสิ้นแต่อย่างใดจึงมีเหตุผลให้น่าเชื่อว่าคำแปลที่โจทก์ขอแก้ไขว่า “ธนาคารได้บันทึกหนี้บัญชีทรัสต์รีซีทที่เกินกำหนดชำระของท่านไว้แล้วในวันนี้” เป็นคำแปลที่ถูกต้องหรือใกล้เคียงกับข้อความภาษาอังกฤษในเอกสารดังกล่าว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำแปลเอกสารดังกล่าวและฟังว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้งสิบสองฉบับตามคำฟ้อง กับให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวนั้นชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ทุกข้อฟังขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปรากฏตามคำฟ้องและข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบว่า ในการคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินจำนวนที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระตามสัญญาทรัสต์รีซีทคดีนี้ โจทก์ต้องปฏิบัติตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์ และตามสัญญาทรัสต์รีซีท เอกสารหมาย จ.5 จ.12 จ.17 จ.22 จ.27 จ.32 จ.37 จ.42 จ.47 จ.55จ.61 จ.64 จ.67 และ จ.70 ข้อ 4 ระบุว่าจำเลยที่ 1 ต้องนำเงินมาชำระค่าสินค้าในจำนวนและกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในรายละเอียดแนบท้ายสัญญาทรัสต์รีซีทตลอดจนยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ตามประกาศธนาคารโจทก์ นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 รวมทั้งค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายใด ๆ เกี่ยวกับหนี้ทรัสต์รีซีท และข้อ 7 ระบุว่า ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราตามที่กำหนดในข้อ 4 เมื่อตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 ระบุให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดได้ตามอัตราที่ระบุในสัญญาข้อ 4 และข้อความในสัญญาข้อ 4 ดังกล่าวข้างต้นเป็นกรณีระบุถึงอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระภายในกำหนดเวลาตามสัญญาอันเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดนัดซึ่งแม้สัญญาข้อ 4 นี้จะระบุให้ใช้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศธนาคารโจทก์ก็ตามย่อมหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าที่ไม่ผิดนัดชำระหนี้เท่านั้น ดังนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 เพียงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดตามประกาศธนาคารโจทก์เท่านั้น ไม่ใช่อัตราสูงสุดในกรณีลูกค้าผิดเงื่อนไขหรือผิดสัญญาแต่อย่างใด เพราะตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดเอกสารหมาย จ.9 (แผ่นที่ 2) ข้อ 3(4) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยในอัตราสำหรับลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไขได้เฉพาะกรณีที่ลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไขแล้วเท่านั้น จำเลยที่ 1 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.5 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2539ครบกำหนดชำระหนี้วันที่ 29 เมษายน 2540 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.12เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2539 ครบกำหนดชำระหนี้วันที่ 1 มิถุนายน 2540 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.17 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2539 ครบกำหนดชำระหนี้วันที่ 8มิถุนายน 2540 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.22 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2539 ครบกำหนดชำระหนี้วันที่ 14 มิถุนายน 2540 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.27เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2539 ครบกำหนดชำระหนี้วันที่ 18 มิถุนายน 2540 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.32 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2540 ครบกำหนดชำระหนี้วันที่13 กรกฎาคม 2540 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.37 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์2540 ครบกำหนดชำระหนี้วันที่ 5 สิงหาคม 2540 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมายจ.42 เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2540 ครบกำหนดชำระหนี้วันที่ 7 ตุลาคม 2540 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.47 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2540 ครบกำหนดชำระหนี้วันที่ 20ตุลาคม 2540 และมีการขยายระยะเวลาถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2541 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.55 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2540 ครบกำหนดชำระหนี้วันที่26 มกราคม 2541 และมีการขยายระยะเวลาถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2541 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.61 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2540 ครบกำหนดชำระหนี้วันที่10 กันยายน 2540 และมีการขยายเวลาถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2540 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.67 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2540 ครบกำหนดชำระหนี้วันที่ 9 กันยายน2540 และมีการขยายระยะเวลาถึงวันที่ 9 ตุลาคม 2540 และตามประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อของโจทก์ในช่วงเวลาครบกำหนดชำระหนี้ดังกล่าวมีอัตราสูงสุด คืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี ในระหว่างอัตราร้อยละ 14.25 ถึงร้อยละ 18 ต่อปีแต่เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลาในสัญญาทรัสต์รีซีท โจทก์กลับคิดดอกเบี้ยจากหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทนับแต่วันที่ครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทในอัตราร้อยละ 16.5 ถึงร้อยละ 25 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าที่ไม่ผิดนัดตามประกาศอัตราดอกเบี้ยของโจทก์โดยไม่ตรงตามข้อสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 ประกอบด้วยข้อ 4 ดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นการคิดดอกเบี้ยที่สูงเกินไปโดยไม่ถูกต้องปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ขึ้นมา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ ทั้งนี้ในส่วนของดอกเบี้ยจากเงินต้นจำนวนที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระตามสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.5 นับแต่วันที่ 29 เมษายน 2540 สัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.12 นับแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2540 สัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.17

Share