คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 764/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 5 เม็ด น้ำหนักรวม 0.43 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว จำนวน 2 เม็ด ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อในราคา 200 บาท อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายนั้น เป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่าง ๆ ตามมาตรา 158(5) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ส่วนการที่เมทแอมเฟตามีนของกลางที่เป็นสารบริสุทธิ์จะมีน้ำหนักเท่าใดนั้น เป็นเรื่องที่จะนำสืบในชั้นพิจารณาเพื่อประกอบดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลเท่านั้น
แม้ในชั้นสอบสวนจำเลยจะมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 241 ที่ให้ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ก็ตาม แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเลยว่าในชั้นสอบสวนจำเลยได้แสดงความประสงค์ ต่อพนักงานสอบสวนว่าต้องการทนายความหรือผู้ใดเข้าฟังการสอบปากคำแล้วพนักงานสอบสวนไม่ดำเนินการให้ ทั้งไม่มีกฎหมายใดบังคับให้พนักงานสอบสวนต้องแจ้งสิทธิดังกล่าวให้ผู้ต้องหาทราบก่อนทำการสอบสวน ดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนไม่ระบุแจ้งสิทธินั้นให้จำเลยทราบในบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเสียก่อนทำการสอบปากคำ ก็ไม่ทำให้การสอบสวนไม่ชอบแต่อย่างใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 5 เม็ด น้ำหนักรวม 0.43 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและได้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจำนวน 2 เม็ด น้ำหนักไม่ปรากฏชัด ให้แก่ผู้ล่อซื้อในราคา 200 บาท อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เหตุเกิดที่แขวงจอมทอง เขตจอมทอง กรุงเทพมหานครเจ้าพนักงานจับกุมจำเลยได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนจำนวน 5 เม็ด และธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อฉบับละ 100 บาท จำนวน 2 ฉบับ เป็นของกลางก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2541 ให้ลงโทษจำคุก 3 เดือนโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามคดีหมายเลขแดงที่ 5819/2541ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15,66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางกับบวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ 5819/2541ของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่ามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำคุก 5 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุก 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี8 เดือน บวกโทษจำคุก 3 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ 5819/2541 ของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเข้ากับโทษในคดีนี้เป็นจำคุก 6 ปี 11 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยอายุ 19 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 หนึ่งในสาม ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำคุก 3 ปี 4 เดือน ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุก 3 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 6 ปี 8 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสามแล้วคงจำคุก4 ปี 5 เดือน 10 วัน บวกโทษจำคุก 3 เดือนตามคดีหมายเลขแดงที่ 5819/2541ของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ที่รอการลงโทษไว้เข้ากับโทษในคดีนี้เป็นจำคุก 4 ปี 8 เดือน 10 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่าโจทก์บรรยายฟ้องโดยมิได้ระบุปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีนของกลาง ฟ้องของโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษหรือไม่ เห็นว่าคำฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 5 เม็ด น้ำหนักรวม 0.43 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจำนวน 2 เม็ด ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อในราคา 200 บาท อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน คำฟ้องโจทก์ดังกล่าวเป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่าง ๆ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 158(5) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว สำหรับเมทแอมเฟตามีนของกลางที่เป็นสารบริสุทธิ์จะมีน้ำหนักเท่าใดนั้น เป็นเรื่องที่จะนำสืบในชั้นพิจารณาเพื่อประกอบดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลเท่านั้น คำฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)แล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการต่อไปมีว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนโดยมิชอบเพราะในชั้นสอบสวนไม่ให้จำเลยให้ทนายความหรือผู้ที่จำเลยไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำจำเลยหรือไม่ เห็นว่า แม้ในชั้นสอบสวนจำเลยจะมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 241 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ในชั้นสอบสวน ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้” ก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนเลยว่าในชั้นสอบสวนจำเลยได้แสดงความประสงค์ต่อพันตำรวจตรีชุณห์เกษม ปิ่นรอด พนักงานสอบสวนพยานโจทก์ว่าจำเลยต้องการให้ทนายความหรือผู้ใดเข้าฟังการสอบปากคำจำเลยแล้วพันตำรวจตรีชุณห์เกษมไม่ดำเนินการให้ตามความประสงค์ของจำเลยนั้นแต่ประการใด ทั้งไม่มีกฎหมายใดบังคับให้พนักงานสอบสวนต้องแจ้งสิทธิดังกล่าวให้ผู้ต้องหาได้ทราบก่อนทำการสอบสวน การที่พันตำรวจตรีชุณห์เกษมไม่ระบุแจ้งสิทธินั้นให้จำเลยทราบในบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.6 เสียก่อนที่จะทำการสอบปากคำจำเลย ก็ไม่ทำให้การสอบสวนไม่ชอบดังที่จำเลยกล่าวอ้างอีกเช่นกันโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…”

พิพากษายืน

Share