คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 74/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 โจทก์ที่ 1มรณะ หลังจากโจทก์ที่ 1 มรณะเกินกว่า 1 ปี จำเลยที่ 1ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์ที่ 1 ต่อมาบ.จึงยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 1 แต่การเข้าเป็นคู่ความแทนที่คู่ความผู้มรณะนั้น แม้จะร้องขอเข้ามาเมื่อเกินกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นมรณะก็ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 ประกอบด้วยมาตรา 132(3) ก็ให้อยู่ในอำนาจของศาลที่จะใช้ดุลพินิจสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่ก็ได้แล้วแต่จะพิจารณาเห็นสมควรที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งอนุญาตให้ บ.เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 1 ผู้มรณะ โดยไม่จำหน่ายคดีโจทก์ที่ 1จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2527 จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอรับรองการทำประโยชน์ต่อเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอเมืองพิจิตรว่าที่ดินเนื้อที่ 5 ไร่ 90 ตารางวา ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิจิตรจังหวัดพิจิตร เป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งได้ทำประโยชน์แล้ว โดยจำเลยที่ 1 แบ่งซื้อมาจากนายสอาด สุรรัตน์ และได้ปลูกบ้านอยู่อาศัยขุดบ่อเลี้ยงปลามา 18 ปีแล้ว ซึ่งเป็นความเท็จ เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานหลงเชื่อและจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ให้จำเลยที่ 1ความจริงแล้วที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 นายพวงประเสริฐศรี นายอำคาและนายสัยร่วมกันซื้อมาตั้งแต่ปี 2510และแบ่งการครอบครองเป็นส่วนสัดตลอดมา หลังจากนั้น นายสัยได้ขายส่วนของตนให้แก่โจทก์ที่ 3 ต่อมาเมื่อเดือนมกราคม 2528โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 2 ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้จำเลยที่ 1 จึงได้บอกกล่าวจำเลยทั้งสองให้แก้ไขหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ถูกต้อง จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอศาลบังคับจำเลยให้เพิกถอนการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ทะเบียนเลขที่ 1545 หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องที่ดินของโจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้แบ่งซื้อที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่ามาจากนายสอาด สุรรัตน์ ตั้งแต่ปี 2509นายสอาดส่งมอบที่พิพาทให้จำเลยที่ 1 ครอบครอง เมื่อปี 2510สามีจำเลยที่ 1 ได้ขายที่พิพาทให้นางพวง ประเสริฐศรี นายพวงได้ปลูกบ้านหนึ่งหลังคือบ้านเลขที่ 20/9 เมื่อปี 2516 สามีจำเลยที่ 1 ได้ประกันตัวนายพวงซึ่งถูกกล่าวหาว่าทุจริตต่อหน้าที่ต่อพนักงานอัยการจังหวัดพิจิตร ต่อมานายพวงหลบหนีสามีจำเลยที่ 1 ถูกปรับฐานผิดสัญญาประกัน 100,000 บาท จึงฟ้องนายพวงเป็นคดีแพ่งให้ใช้เงิน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้นายพวงชำระเงินแก่สามีจำเลยที่ 1 แต่นายพวงไม่ชำระ สามีจำเลยที่ 1จึงได้ขอบังคับคดีมีการยึดทรัพย์บ้านเลขที 20/9 ขายทอดตลาดสามีจำเลยที่ 1 ซื้อได้ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 กับสามีก็ครอบครองบ้านเลขที่ 20/9 พร้อมที่พิพาทตลอดมาเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีแล้วเมื่อปี 2527 จำเลยที่ 1 ได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมายและครอบครองที่พิพาทตลอดมา โจทก์ทั้งสามไม่เคยครอบครองที่พิพาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า การเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจเพิกถอนโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2โจทก์ที่ 1 มรณะ ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า ไม่มีผู้ขอเข้ามาแทนที่โจทก์ที่ 1 ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ที่ 1 มรณะขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์ที่ 1 หลังจากนั้นนางบุญเกิดตั้งสิทธิโชค ภริยาโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 1 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งอนุญาตให้นางบุญเกิดเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 1 และให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์ที่ 1
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ทะเบียนเลขที่ 1545 เฉพาะส่วนที่ทับที่ดินซึ่งโจทก์ทั้งสามมีสิทธิครอบครองตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ห้ามจำเลยที่ 1 และบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์ทั้งสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ฉบับแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งอนุญาตให้นางบุญเกิด ตั้งสิทธิโชคภริยาโจทก์ที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 1 ซึ่งมรณะ และยกคำร้องของจำเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ปัญหานี้ได้ความว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 โจทก์ที่ 1 มรณะ หลังจากโจทก์ที่ 1 มรณะเกินกว่า 1 ปีจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์ที่ 1ต่อมานางบุญเกิดจึงยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 1ศาลฎีกาเห็นว่าการเข้าเป็นคู่ความแทนที่คู่ความผู้มรณะนั้นแม้จะร้องขอเข้ามาเมื่อเกินกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นมรณะก็ตาม แต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 42 ประกอบด้วยมาตรา 132(3) ให้อยู่ในอำนาจของศาลที่จะใช้ดุลพินิจสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่ก็ได้แล้วแต่จะพิจารณาเห็นสมควรที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งอนุญาตให้นางบุญเกิดเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 1 ผู้มรณะ โดยไม่จำหน่ายคดีโจทก์ที่ 1ตามคำร้องของ จำเลยที่ 1 เป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบแล้วฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share