แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เดิมที่พิพาทเป็นที่ชายตลิ่งที่น้ำท่วมถึงจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1304(2) ที่พิพาทเพิ่งกลายเป็นที่งอกหลังจากมีการสร้างถนน ดังนั้น ก่อนหน้าที่พิพาทเป็นที่งอกแม้โจทก์จะครอบครองมานานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ หลังจากที่พิพาทกลายเป็นที่งอกอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแล้ว โจทก์ครอบครองไม่ถึง 10 ปี โจทก์ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382
แม้โจทก์จะมีคำขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินที่สั่งให้ออกโฉนดที่ดินแก่จำเลยอันเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ก็ตาม แต่โจทก์ก็ฟ้องด้วยว่าขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองที่พิพาท ห้ามจำเลยเข้ามายุ่งเกี่ยว จำเลยให้การว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยโดยเป็นที่งอกจากที่ดินมีโฉนดของจำเลย กรณีจึงเป็นเรื่องพิพาทกันด้วยกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอันเป็นคดีมีทุนทรัพย์ คดีของโจทก์จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมอยู่ด้วยกัน โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 ข้อ 3 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า โจทก์เป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองที่พิพาทห้ามจำเลยที่ 1 เข้ามายุ่งเกี่ยวและขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 2 ลงวันที่ 11พฤษภาคม 2525 ที่มีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการออกโฉนดที่พิพาทให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของและไม่มีสิทธิครอบครองที่พิพาท ที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นที่ดินซึ่งงอกออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 530 ของจำเลยที่ 1 ที่พิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ตามกฎหมายจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินทั้งแปลงตลอดมา โจทก์มิได้เข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อปี 2515 จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินที่งอกประมาณ 70ตารางวา ออกเป็นโฉนดที่ดินอีกแปลงหนึ่งต่างหากและเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรีมีคำสั่งให้ออกโฉนดให้จำเลยที่ 1 ตามขั้นตอนของกฎหมายโดยชอบทุกประการ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ตกเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถนางนันทิยา จันทรพิทักษ์ ผู้พิทักษ์ได้ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ดำเนินคดีต่อไปได้ และโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ทนายจำเลยที่ 2 ไม่ค้าน ศาลชั้นต้นอนุญาตและมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ที่พิพาทเป็นที่งอกของที่ดินโฉนดเลขที่ 530 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์เป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองที่พิพาทหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อที่พิพาทเป็นที่งอกของที่ดินโฉนดเลขที่ 530 ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมเป็นเจ้าของที่พิพาทด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308 ดังนั้น โจทก์จะเป็นเจ้าของที่พิพาทได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ครอบครองที่พิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของครบ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 และเห็นว่าเดิมที่พิพาทเป็นที่ชายตลิ่งที่น้ำท่วมถึง จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) ที่พิพาทเพิ่งกลายเป็นที่งอกหลังจากมีการสร้างถนนเมื่อ 4 ถึง 5 ปี มานี้เอง ดังนั้น ก่อนหน้าที่พิพาทเป็นที่งอกแม้โจทก์จะครอบครองมานานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ หลังจากที่พิพาทกลายเป็นที่งอกอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ครอบครองไม่ถึง 10 ปี โจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของที่พิพาท
อนึ่ง คดีนี้แม้โจทก์จะมีคำขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 2 ที่สั่งให้ออกโฉนดที่ดินแก่จำเลยที่ 1 อันเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยก็ตาม แต่โจทก์ก็ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์เป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองที่พิพาท ห้ามจำเลยที่ 1 เข้ามายุ่งเกี่ยว จำเลยที่ 1 ให้การว่าที่พิพาทเป็นที่งอกจากที่ดินมีโฉนดของจำเลยที่ 1 ที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง กรณีจึงเป็นเรื่องพิพาทกันด้วยกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอันเป็นคดีมีทุนทรัพย์หรือคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ คดีของโจทก์จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมอยู่ด้วย โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 ข้อ 3 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งต้องเสียในอัตราสองบาทห้าสิบสตางค์ต่อทุกหนึ่งร้อยบาทตามข้อ 1(ก) แต่ไม่ให้น้อยกว่าสองร้อยบาทตามอัตราในข้อ 2(ก) หรือข้อ 2(ข) แล้วแต่กรณีดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน200 บาท แก่โจทก์นั้นจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่คืนค่าขึ้นศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้โจทก์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ