คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6778/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 1 (พ.ศ.2507) ออกตามความใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ ข้อ 4 วรรคหนึ่ง ผู้มีอำนาจเสนอรายงานขอตั้งวัดคือผู้ได้รับอนุญาตสร้างวัด ทายาท หรือผู้แทน แม้ พ. ผู้เสนอรายงานขอตั้งวัดจะไม่ใช่ทายาทของจำเลยผู้ได้รับอนุญาตสร้างวัด และจำเลยไม่ได้แต่งตั้งโดยชัดแจ้งให้ พ. เป็นผู้แทนเสนอรายงานขอตั้งวัดก็ตาม แต่ในระหว่างสร้างวัดและขอตั้งวัดจำเลยไม่ได้โต้แย้งหรือคัดค้านการดำเนินการของ พ. พฤติการณ์ของจำเลยแสดงให้เห็นว่าจำเลยแต่งตั้งโดยปริยายให้ พ. เป็นผู้แทนของจำเลยในการเสนอรายงานขอตั้งวัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 797 วรรคสอง แล้ว เมื่อกระทรวงศึกษาธิการโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมได้ประการตั้งวัดโจทก์ให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2542 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 22 มิถุนายน 2542 แล้ว การขอตั้งวัดโจทก์ให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาจึงดำเนินการโดยชอบแล้ว โจทก์ย่อมมีฐานะเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ มาตรา 31 วรรคสอง และมีอำนาจฟ้อง
ขณะยื่นฟ้องคดีก่อน กระทรวงศึกษาธิการยังไม่ได้ประกาศตั้งวัดโจทก์ให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลจึงไม่มีอำนาจฟ้องและยกฟ้องโจทก์ แต่ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งวัดโจทก์ให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โจทก์ย่อมมีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีอำนาจฟ้อง ประเด็นที่วินิจฉัยในทั้งสองคดีมิได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำอันต้องห้ามมิให้รื้อร้องฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมในการโอนทางทะเบียนฝ่ายเดียว หากจำเลยไม่ดำเนินการดังกล่าว ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 11368 แก่โจทก์ โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมในการโอนทางทะเบียนฝ่ายเดียว หากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ที่ดินอันเป็นที่ตั้งของวัดโจทก์ในปัจจุบันเดิมเป็นที่ดินของพระเท้ง บิดาจำเลย ในปี 2526 พระเท้ง ได้ยกที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลย ต่อมาพระเท้งกับจำเลยได้แจ้งความประสงค์จะยกที่ดินดังกล่าวซึ่งได้ออกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3445 ให้สร้างวัดแก่หลวงปู่ชม หลวงปู่ชมจึงก่อสร้างศาลาบำเพ็ญกุศลขึ้นในที่ดินเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2530 จำเลยได้ทำหนังสือสัญญายกที่ดินให้สร้างวัด และยื่นคำขออนุญาตสร้างวัดต่อนายอำเภอกบินทร์บุรี หลังจากนั้นศึกษาธิการอำเภอกบินทร์บุรีได้พิจารณาดำเนินการตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2507) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และได้ออกหนังสืออนุญาตให้สร้างวัดภายในวันที่ 9 สิงหาคม 2535 ในระหว่างเวลาดังกล่าวโจทก์ได้สร้างเสนาสนะต่างๆ แล้ว และจำเลยได้นำที่ดินแปลงดังกล่าวไปขอออกโฉนดที่ดินเป็นโฉนดเลขที่ 11368 ตำบลกบินทร์ อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2535 แต่จำเลยมิได้จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ หลังจากนั้นศึกษาธิการอำเภอกบินทร์บุรีได้แจ้งให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2537 จำเลยได้ทำบันทึกว่าจะจัดการโอนที่ดินให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 1 มกราคม 2538 แต่จำเลยไม่ไปโอน โจทก์ดำเนินการเพื่อขอตั้งวัดจนกระทรวงศึกษาธิการประกาศตั้งวัดโจทก์ให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2542 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อต่อมาว่า การขอตั้งวัดโจทก์ให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาได้ดำเนินการโดยชอบตามกฎหมายแล้วหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าดาบตำรวจพิชิตไม่ใช่ทายาทหรือผู้แทนของจำเลย จึงไม่มีอำนาจเสนอรายงานขอตั้งวัดโจทก์ การดำเนินการขอตั้งวัดโจทก์ให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่เป็นนิติบุคคลที่จะมีอำนาจฟ้อง เห็นว่า ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 1 (พ.ศ.2507) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ข้อ 4 วรรคหนึ่ง ผู้มีอำนาจเสนอรายงานขอตั้งวัดคือผู้ได้รับอนุญาตสร้างวัด ทายาทหรือผู้แทน แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าดาบตำรวจพิชิตผู้เสนอรายงานขอตั้งวัดจะไม่ใช่ทายาทของจำเลยผู้ได้รับอนุญาตสร้างวัด และจำเลยไม่ได้แต่งตั้งโดยชัดแจ้งให้ดาบตำรวจพิชิตเป็นผู้แทนเสนอรายงานขอตั้งวัดก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่าในระหว่างสร้างวัดและขอตั้งวัดจำเลยไม่ได้โต้แย้งหรือคัดค้านการดำเนินการของดาบตำรวจพิชิต พฤติการณ์ของจำเลยแสดงให้เห็นว่าจำเลยแต่งตั้งโดยปริยายให้ดาบตำรวจพิชิตเป็นผู้แทนของจำเลยในการเสนอรายงานขอตั้งวัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797 วรรคสอง แล้ว เมื่อกระทรวงศึกษาธิการโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมได้ประกาศตั้งวัดโจทก์ให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2542 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 22 มิถุนายน 2542 แล้ว การขอตั้งวัดโจทก์ให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาจึงดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 31 วรรคสอง และมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อสุดท้ายว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 236/2540 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ขณะยื่นฟ้องคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 236/2540 ของศาลชั้นต้น กระทรวงศึกษาธิการยังไม่ได้ประกาศตั้งวัดโจทก์ให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนา ศาลฎีกาในคดีดังกล่าวจึงวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลจึงไม่มีอำนาจฟ้อง และพิพากษายืนให้ยกฟ้องโจทก์ แต่ขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งวัดโจทก์ให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โจทก์จึงย่อมมีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีอำนาจฟ้อง ประเด็นที่วินิจฉัยในทั้งสองคดีมิได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำอันต้องห้ามมิให้รื้อร้องฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share