คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6648/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

หลังจาก พ.ร.ฎ. ปี 2537 สิ้นสุดลง รัฐได้ออก พ.ร.ฎ. ฉบับใหม่ในปี 2542 ซึ่งฝ่ายจำเลยดำเนินการเวนคืนที่ดินและกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยอาศัย พ.ร.ฎ. ฉบับใหม่ การคำนวณดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสองจึงต้องพิจารณาตาม พ.ร.ฎ. ฉบับใหม่ ปรากฏว่า โจทก์ทั้งสองกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2542 ซึ่งตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ กำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันทำสัญญาซื้อขายซึ่งครบกำหนดเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2542 โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสินของเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2542 อันเป็นวันสุดท้ายที่ฝ่ายจำเลยจะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นต้นไป

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวน 73,640,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในต้นเงินดังกล่าว และร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวจากต้นเงินค่าทดแทนต้นไม้ยืนต้น 591,000 บาท จากต้นเงินค่าทดแทนที่ดิน 31,160,000 บาท นับแต่วันที่ 7 เมษายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสี่ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 5,028,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน นับแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 143130 และ 143127 ตำบลบางรักน้อย อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี เนื้อที่ 3 งาน 30 ตารางวา และเนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 1 ตารางวา ตามลำดับ ถูกเวนคืนบางส่วนอันเนื่องจากการดำเนินการของจำเลยทั้งสี่ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอบางบัวทอง อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และเขตตลิ่งชัน เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2537 เพื่อก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดนครอินทร์และถนนต่อเชื่อมสายติวานนท์ – เพชรเกษม – รัตนาธิเบศร์ มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2537 แต่การเวนคืนไม่แล้วเสร็จภายในกำหนด 4 ปี ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงมีการตราพระราชกฤษฎีกาฯ ปี 2542 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2542 โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 143130 ถูกเวนคืนเนื้อที่ 2 งาน 40 ตารางวา และที่ดินโฉนดเลขที่ 143127 ถูกเวนคืนเนื้อที่ 4 ไร่ 76 ตารางวา คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 143130 ให้แก่โจทก์ทั้งสองตารางวาละ 60,000 บาท ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 143127 ตารางวาละ 10,000 บาท และกำหนดเงินค่าทดแทนต้นไม้ยืนต้น 591,000 บาท โจทก์ทั้งสองได้รับเงินค่าทดแทนดังกล่าวแล้วแต่ไม่พอใจจึงยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่รัฐมนตรีฯ ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องเป็นคดีนี้ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ทั้งสองเหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว พิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 143127 อีกตารางวาละ 3,000 บาท เป็นตารางวาละ 13,000 บาท ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 143130 ไม่เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่ฎีกา
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองอีกประการหนึ่งว่า จำเลยทั้งสี่ต้องร่วมกันชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสองนับแต่เมื่อใด โดยโจทก์ทั้งสองฎีกาสรุปได้ว่าจำเลยทั้งสี่ต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินนับแต่วันที่ 7 เมษายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ในปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า หลังจากพระราชกฤษฎีกาฯ ปี 2537 สิ้นสุดลง รัฐได้ออกพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับใหม่ในปี 2542 ซึ่งฝ่ายจำเลยดำเนินการเวนคืนที่ดินและกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยอาศัยพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่ การคำนวณดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสองจึงต้องพิจารณาตามพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่ ปรากฏว่า โจทก์ทั้งสองกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2542 ซึ่งตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 กำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวัน นับแต่วันทำสัญญาซื้อขายซึ่งครบกำหนดเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2542 โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินของเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2542 อันเป็นวันสุดท้ายที่ฝ่ายจำเลยจะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นต้นไป ศาลฎีกาคณะคดีปกครองเห็นว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในปัญหาข้อนี้ไว้ถูกต้องแล้วไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในประเด็นข้อนี้อีก ฎีกาของโจทก์ทั้งสองจึงไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณา ศาลฎีกาคณะคดีปกครองไม่รับฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 219 วรรคสอง ประกอบพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 143127 เพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดไว้อีกจำนวน 25,140,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามอัตราและนับตั้งแต่วันที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้เป็นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 50,000 บาท

Share