คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6615/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อสัญญายังไม่เลิกกันเพราะการบอกเลิกสัญญาของจำเลย คู่สัญญาจึงยังมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญา กล่าวคือ โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระราคาส่วนที่เหลือและจำเลยมีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งสองห้องแก่โจทก์ แต่ได้ความตามคำให้การของจำเลยว่าจำเลยได้โอนขายห้องชุดทั้งสองห้องแก่บุคคลภายนอกไปแล้วก่อนโจทก์บอกเลิกสัญญา ดังนี้ การชำระหนี้ของจำเลยในการที่จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดแก่โจทก์จึงกลายเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอันเกิดจากการกระทำของจำเลยโดยไม่จำต้องพิจารณาว่าจำเลยอาจซื้อห้องชุดคืนมาโอนให้โจทก์ได้หรือไม่ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 389 โดยหาจำต้องบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ตามมาตรา 387 ก่อน การบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงชอบแล้ว เมื่อสัญญาเลิกกันเพราะโจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญา คู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม กล่าวคือ จำเลยจำต้องคืนราคาห้องชุดที่โจทก์ชำระแล้วแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เวลาที่จำเลยได้รับไว้ ทั้งนี้ตามมาตรา 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ประกอบมาตรา 7

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาจะซื้อห้องชุดจากจำเลย แล้วจำเลยผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 3,207,088.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 2,374,100 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เคยเสนอที่จะให้ลดจำนวนห้องที่โจทก์จะซื้อลงเหลือเพียง 1 ห้อง แต่จำเลยไม่ได้ตกลงด้วย ต่อมาเมื่อจำเลยก่อสร้างห้องชุดเสร็จ จำเลยได้บอกกล่าวให้โจทก์มารับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งสองห้อง แต่โจทก์เพิกเฉยไม่มารับโอนกรรมสิทธิ์และชำระเงินงวดสุดท้ายตามที่กำหนดในสัญญา โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงบอกเลิกสัญญาและริบเงินที่โจทก์ชำระแล้วทั้งหมด จำเลยมีสิทธิโดยชอบที่จะนำห้องชุดออกขายแก่บุคคลภายนอกได้ หลังจากที่สัญญาเลิกกันแล้ว หากจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยมีหน้าที่ต้องคืนเฉพาะเงินที่โจทก์ชำระมาแล้วเท่านั้น โดยจำเลยไม่จำต้องเสียดอกเบี้ยแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับแต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ทำสัญญาจะซื้อห้องชุดจากจำเลย 2 ห้อง คือห้องหมายเลขที่ 1807 บี ทำสัญญาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2537 ในราคา 2,936,330 บาท โจทก์ได้ชำระราคาส่วนหนึ่งแล้วเป็นเงิน 1,174,400 บาท และห้องเลขที่ 2009 บี ทำสัญญาเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2537 ในราคา 2,999,480 บาท โจทก์ได้ชำระราคาส่วนหนึ่งแล้วเป็นเงิน 1,199,700 บาท ส่วนที่เหลือของทั้งสองสัญญาจะชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ต่อมาวันที่ 20 มิถุนายน 2543 โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยและฟ้องเรียกเงินที่โจทก์ชำระแก่จำเลยแล้วคืนพร้อมดอกเบี้ย ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าการบอกเลิกสัญญาของโจทก์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง คดีนี้จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยไม่ได้ตกลงเปลี่ยนแปลงสัญญาเดิมตามข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าโจทก์จำเลยตกลงโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดเหลือห้องเดียว แต่ยังคงถือปฏิบัติตามสัญญาเดิมทั้งสองฉบับทุกประการ หลังจากจำเลยก่อสร้างห้องชุดเสร็จ จำเลยได้บอกกล่าวให้โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์และชำระเงินส่วนที่เหลือ แต่โจทก์ผิดสัญญา จำเลยจึงบอกเลิกสัญญาปัญหาดังกล่าวจำเลยได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำแก้อุทธรณ์แต่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยให้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ตามคำแก้ฎีกาของจำเลยก่อน ในปัญหาว่าสัญญาเลิกกันเพราะจำเลยบอกเลิกสัญญาหรือไม่ นางสาวนิตยา ผู้ช่วยผู้จัดการแผนกบริการลูกค้าของจำเลยเบิกความเป็นพยานจำเลยว่า จำเลยก่อสร้างอาคารชุดเสร็จเมื่อประมาณกลางปี 2540 ได้ติดต่อลูกค้ามารับโอนห้องชุด ลูกค้าหลายรายได้รับโอนห้องชุดไปแล้ว จำเลยแจ้งให้โจทก์มาตรวจและรับโอนห้องชุดกับชำระราคาส่วนที่เหลือ โจทก์มาดูห้องชุดแต่ยังไม่ประสงค์จะรับโอนในขณะนั้น ต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม 2540 จำเลยจึงมีหนังสือแจ้งให้โจทก์รับโอนห้องชุดทั้งสองห้องและชำระเงินส่วนที่เหลือในวันที่ 11 สิงหาคม 2540 โจทก์ได้รับหนังสือของจำเลยแล้วตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 ต่อมาโจทก์ติดต่อสอบถามว่า หากลดห้องชุดเหลือเพียงห้องเดียวและโอนเงินที่ชำระไว้แล้ว สำหรับอีกห้องหนึ่งที่ต้องการยกเลิกมารวมเป็นค่าห้องชุดที่เหลือห้องเดียว ค่าใช้จ่ายต่างๆ จะเป็นอย่างไร พยานได้แจ้งโจทก์ด้วยว่าให้โจทก์ทำเป็นหนังสือเข้ามาเพื่อพยานจะได้เสนอเรื่องให้ผู้มีอำนาจทำสัญญาอนุมัติ หากมีการอนุมัติก็ต้องทำสัญญาฉบับใหม่กันต่อไป แต่โจทก์ไม่ได้ติดต่อกลับมาแต่อย่างใด ต่อมาวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยได้ส่งหนังสือแจ้งให้โจทก์มารับโอนห้องชุดทั้งสองห้องและชำระราคาส่วนที่เหลือในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2541 หากโจทก์ไม่มารับโอนถือว่าโจทก์ผิดสัญญาและจำเลยขอให้ถือหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือบอกเลิกสัญญาตามเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6 แต่โจทก์ไม่มารับโอน โจทก์อ้างตนเองเบิกความเป็นพยานว่า จำเลยนัดให้โจทก์ไปดูห้องชุดเมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2540 โจทก์ไปดูแล้วขณะนั้นยังไม่ทาสีห้อง ลิฟต์ยังไม่เสร็จ ต่อมาประมาณเดือนมกราคม 2541 จำเลยแจ้งให้โจทก์ไปตรวจดูห้องชุดอีกครั้งหนึ่ง โจทก์ไปดูแล้วเห็นว่ายังไม่เสร็จ โจทก์แจ้งให้จำเลยแก้ไขปรับปรุงงาน โจทก์ได้เตรียมเงินไว้เพื่อจะรับโอนห้องชุด แต่ขณะนั้นเศรษฐกิจไม่ดีจึงได้นำเงินไปใช้ในกิจการของโจทก์ก่อน โจทก์ได้ติดต่อจำเลยขอรับโอนห้องชุดห้องเดียวคือห้องเลขที่ 2009 บี ติดต่อกันทางโทรสาร จำเลยตกลงตามเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 โจทก์ไม่ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2541 ของจำเลย ต่อมาเมื่อจำลเยนำห้องชุดออกขายแก่บุคคลภายนอกเป็นการผิดสัญญา โจทก์จึงให้ทนายความบอกเลิกสัญญาตามเอกสารหมาย จ.14 และ จ.15 ปัญหาว่า โจทก์และจำเลยได้ตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดทั้งสองฉบับตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.6 โดยตกลงซื้อขายกันเหลือเพียงห้องเดียวดังที่โจทก์กล่าวอ้างหรือไม่ เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ หากโจทก์จำเลยมีการตกลงแก้ไขจริงน่าจะต้องทำสัญญากันเป็นกิจจะลักษณะ ไม่ใช่เพียงแต่มีโทรสาร 2 แผ่นที่ระบุว่าเป็นรายละเอียดค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ โดยไม่มีรายละเอียดของข้อตกลง ทั้งไม่มีการลงชื่อของคู่สัญญาฝ่ายใดเลย พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักมากกว่า ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์จำเลยได้ตกลงแก้ไขสัญญากันโดยเหลือห้องชุดเพียงห้องเดียวดังที่โจทก์กล่าวอ้าง ปัญหาว่า สัญญาเลิกกันเพราะจำเลยบอกเลิกสัญญาหรือไม่นั้น ตามสัญญาจะซื้อจะขายทั้งสองฉบับกำหนดเรื่องวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ไว้ในสัญญาข้อ 4 ว่า หลังจากจำเลยได้ดำเนินการก่อสร้างห้องชุดแล้วเสร็จ จำเลยจะมีหนังสือแจ้งกำหนดวันนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน สำหรับหนังสือแจ้งวันนัดโอนกรรมสิทธิ์และบอกเลิกสัญญาของจำเลยลงวันที่ 5 สิงหาคม 2540 ตามเอกสารหมาย ล.3 นั้น ปรากฏว่าส่งให้โจทก์ได้เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2540 ตามเอกสารหมาย ล.4 แม้ในหนังสือตามเอกสารหมาย ล.3 จะระบุว่าหากโจทก์ไม่ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่จำเลยแจ้งคือวันที่ 11 สิงหาคม 2540 จะถือว่าโจทก์ผิดสัญญาและให้ถือหนังสือดังกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญาก็ตาม แต่การบอกเลิกสัญญาของจำเลยไม่ชอบด้วยสัญญาข้อ 4 เนื่องจากแจ้งกำหนดวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ทราบล่วงหน้าน้อยกว่า 7 วัน ส่วนหนังสือบอกเลิกสัญญาลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2541 ซึ่งระบุว่าจำเลยนัดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2541 แต่ไม่ปรากฏหลักฐานการส่งหนังสือดังกล่าวแก่โจทก์ แม้จำเลยมีเอกสารหมาย ล.6 มาส่งศาลว่าจำเลยได้แจ้งให้พนักงานสอบสวนลงรายงานประจำวันไว้ว่า จำเลยได้ส่งเอกสารหมาย ล.6 ให้โจทก์แล้ว แต่ไปรษณีย์ตอบรับหายไปก็ตาม แต่ตามเอกสารหมาย ล.6 ก็ปรากฏว่ามีการแจ้งความหลังจากถูกโจทก์ฟ้องแล้ว ทั้งตามเอกสารดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งวันนัดโอนกรรมสิทธิ์จากจำเลยในวันใด การแจ้งวันนัดชอบด้วยสัญญาข้อ 4 หรือไม่ก็ไม่ปรากฏ ซึ่งในข้อนี้โจทก์ก็ยังนำสืบต่อสู้อยู่ว่าโจทก์ไม่เคยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาดังกล่าวจากจำเลย ดังนี้ แม้เอกสารหมาย ล.5 จะมีข้อความว่าหากโจทก์ไม่รับโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2541 ถือว่าโจทก์ผิดสัญญา จำเลยขอให้ถือหนังสือดังกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญา ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยชอบด้วยข้อสัญญา สัญญาจึงหาได้เลิกกันเพราะจำเลยบอกเลิกสัญญาดังที่จำเลยแก้ฎีกาไม่
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์บอกเลิกสัญญาโดยชอบหรือไม่ เมื่อสัญญายังไม่เลิกกันเพราะการบอกเลิกสัญญาของจำเลย คู่สัญญาจึงยังมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญา กล่าวคือ โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระราคาส่วนที่เหลือ และจำเลยมีหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งสองห้องแก่โจทก์ แต่ได้ความตามคำให้การของจำเลยว่าจำเลยได้โอนขายห้องชุดทั้งสองห้องแก่บุคคลภายนอกไปแล้วก่อนโจทก์บอกเลิกสัญญา ดังนี้ การชำระหนี้ของจำเลยในการที่จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดแก่โจทก์จึงกลายเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอันเกิดจากการกระทำของจำเลยโดยไม่จำต้องพิจารณาว่าจำเลยอาจซื้อห้องชุดคืนมาโอนให้โจทก์ได้หรือไม่ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 389 โดยหาจำต้องบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ตามมาตรา 387 ก่อนดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ ทั้งนี้ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1504/2542 ระหว่างนายกุน โจทก์ นางผิว จำเลย การบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงชอบแล้ว เมื่อสัญญาเลิกกันเพราะโจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญา คู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม กล่าวคือ จำเลยต้องคืนราคาห้องชุดที่โจทก์ชำระแล้วแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เวลาที่จำเลยได้รับไว้ ทั้งนี้ตามมาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ประกอบมาตรา 7 ที่จำเลยให้การต่อสู้ว่าหากจำเลยผิดสัญญาจำเลยมีหน้าที่ต้องคืนเฉพาะเงินที่โจทก์ชำระแล้ว โดยจำเลยไม่จำต้องเสียดอกเบี้ยนั้น เห็นว่า แม้สัญญาจะซื้อจะขายข้อ 15.2 จะกำหนดว่าในกรณีจำเลยผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาโดยจำเลยจะคืนเงินที่โจทก์ชำระแล้วทั้งหมด โดยไม่ได้ระบุเรื่องดอกเบี้ยไว้ก็ตาม แต่สัญญาดังกล่าวก็ไม่มีข้อห้ามไม่ให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยจากจำเลยตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในกรณีที่จำเลยผิดสัญญา จะเห็นได้จากสัญญาข้อ 14 วรรคท้าย ที่กำหนดว่าในกรณีที่โครงกานไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้เพราะเหตุที่กล่าวในวรรคแรก (เช่น การก่อจลาจล สงครามกลางเมือง การนัดหยุดงาน ข้อพิพาทแรงงาน การขาดแคลนวัสดุก่อสร้าง) จำเลยยินยอมคืนเงินที่ได้รับมาจากโจทก์ทั้งหมด โดยโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ย ดังนี้ หากคู่สัญญาประสงค์จะห้ามโจทก์เรียกดอกเบี้ยในกรณีโจทก์บอกเลิกสัญญาก็น่าจะระบุไว้เช่นนั้นด้ว แต่ก็หาได้ระบุไว้ไม่ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้ตามกฎหมาย สำหรับจำนวนเงินดอกเบี้ยที่โจทก์คิดตามเอกสารหมาย จ.16 และ จ.17 จากต้นเงินในแต่ละงวดที่โจทก์จ่ายไปก่อนวันที่ 11 กรกฎาคม 2538 โจทก์คิดตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2538 และหลังจากเดือนกรกฎาคม 2538 คิดตั้งแต่วันที่จำเลยรับเงินไป รวมกันทั้งหมดเป็นจำนวนเงินดอกเบี้ยตามที่โจทก์ขอในฟ้องนั้นไม่เกินไปกว่าที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมาย จำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์ด้วย ฎีกาข้ออื่นของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 3,207,088.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยะละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 2,374,100 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share