คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 809/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือถึงบริษัทโจทก์ให้นำส่งภาษีเงินได้ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายของบริษัท ฟ. ซึ่งอยู่ต่างประเทศเมื่อโจทก์ถือว่าเป็นคำสั่งถึงบริษัทที่มีชื่อไม่ตรงกับชื่อโจทก์เจ้าพนักงานประเมินก็ชอบที่จะออกคำสั่งใหม่ระบุชื่อโจทก์เสียให้ถูกต้องและยกเลิกคำสั่งฉบับเดิมได้ ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติห้าม
บริษัท ฟ. ได้จดทะเบียนสิทธิบัตรการผลิตยางไว้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โจทก์ได้ออกหุ้นชำระเต็มมูลค่าให้แก่บริษัท ฟ. เพื่อตอบแทนที่บริษัทนั้นยอมให้แบบและความรู้ทางวิศวกรรมในการผลิตยางตามที่โจทก์กับบริษัท ฟ.ทำสัญญากันไว้ ดังนี้บริษัท ฟ. ได้รับหุ้นจากโจทก์เป็นค่าแห่งสิทธิ คือสิทธิบัตรในการผลิตยาง จึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(ก) แม้หุ้นจะมิใช่ตัวเงินก็เป็นทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับซึ่งคิดคำนวณได้เป็นเงินจึงเป็นเงินได้ตามความหมายของมาตรา 39 โจทก์จึงมีหน้าที่เป็นผู้หักภาษีเงินได้นำส่งอำเภอท้องที่ตามมาตรา 70
หนังสือเจ้าพนักงานประเมินที่มีถึงโจทก์ แจ้งให้โจทก์จัดการนำเงินภาษีซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายของบริษัท ฟ. พร้อมเงินเพิ่มไปชำระ ไม่ใช่เป็นการประเมินภาษี แต่เป็นการแจ้งให้โจทก์นำภาษีไปชำระ ซึ่งเท่ากับเป็นคำเตือนนั่นเองเมื่อโจทก์เห็นว่าคำเตือนนั้นคำนวณภาษีไม่ถูกต้อง ก็ควรที่จะโต้แย้งตามวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยจัดการให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์รับคำอุทธรณ์ของโจทก์ และพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดให้เป็นไปโดยชอบด้วยเหตุผลและเป็นไปตามประมวลรัษฎากร หากไม่จำเป็นต้องให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต้องพิจารณาก็ขอศาลเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินที่ กค.0804/390 ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2507 ที่ กค.0804/334 ลงวันที่ 19 พฤษภาคม2508 และคำสั่งของจำเลยที่ 2 ที่ กค.0804/5885 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2515ห้ามมิให้จำเลยเรียกเก็บภาษีอากรตามฟ้องจากโจทก์

จำเลยทั้งสองให้การร่วมกันต่อสู้คดี

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ข้อเท็จจริงที่ไม่ได้โต้เถียงกันได้ความว่า โจทก์กับบริษัทไฟร์สโตนไทร์แอนด์รับเบอร์กำปนีแห่งสหรัฐอเมริกาตกลงกันตามสำเนาหนังสือสัญญาฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2505 โจทก์ออกหุ้นชำระเต็มมูลค่าให้แก่บริษัทไฟร์สโตนไทร์แอนด์รับเบอร์กำปนีแห่งสหรัฐอเมริกาจำนวน 15% ของหุ้นทั้งหมดของโจทก์ คิดเป็นจำนวนหุ้น 6,750 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท เป็นเงิน 6,750,000 บาท

เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือที่ กค.0804/390 ลงวันที่ 12 ตุลาคม2507 ถึงบริษัทไฟร์สโตน (ประเทศไทย) จำกัด ให้นำส่งภาษีเงินได้ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย ของบริษัทไฟร์สโตนไทร์แอนด์รับเบอร์กำปนีแห่งสหรัฐอเมริกา โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ว่าเป็นคำสั่งถึงบริษัทที่ชื่อไม่ตรงกับชื่อโจทก์ และโต้แย้งว่าไม่มีภาษีเงินได้ที่โจทก์จะต้องชำระ

เจ้าพนักงานประเมินมีคำสั่งใหม่ที่ กค.0804/334 ลงวันที่ 19 พฤษภาคม2508 ถึงโจทก์ แจ้งยกเลิกคำสั่งเดิมและสั่งให้โจทก์นำเงินภาษีเงินได้ไปชำระโดยระบุชื่อโจทก์ถูกต้อง โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์อีกว่าไม่มีภาษีที่โจทก์จะต้องชำระ

ต่อมาจำเลยที่ 2 ในฐานะอธิบดีกรมสรรพากรมีคำสั่งที่ กค.0804/5885ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2515 แจ้งให้โจทก์ทราบว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีมติไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์และสั่งยืนยันให้โจทก์นำภาษีเงินได้ไปชำระ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อโจทก์ถือว่าคำสั่งเดิมของเจ้าพนักงานประเมินเป็นคำสั่งถึงบริษัทที่มีชื่อไม่ตรงกับชื่อโจทก์ ก็ชอบที่เจ้าพนักงานประเมินจะออกคำสั่งฉบับใหม่ระบุชื่อโจทก์เสียให้ถูกต้อง โดยยกเลิกคำสั่งฉบับเดิมที่ระบุชื่อไม่ตรงกับชื่อโจทก์นั้นเสีย ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติห้ามมิให้เจ้าพนักงานประเมินกระทำเช่นนั้น

ปัญหาที่ว่า หุ้นที่โจทก์ออกให้แก่บริษัทไฟร์สโตนไทร์แอนด์รับเบอร์กำปนีแห่งสหรัฐอเมริกาเป็นเงินได้พึงประเมินหรือไม่ ได้ความว่า การที่โจทก์ออกหุ้นดังกล่าวนั้น เป็นไปตามข้อสัญญาระหว่างโจทก์กับบริษัทไฟร์สโตนไทร์แอนด์รับเบอร์กำปนีแห่งสหรัฐอเมริกาคือเพื่อตอบแทนที่บริษัทไฟร์สโตนไทร์แอนด์รับเบอร์กำปนีแห่งสหรัฐอเมริกาได้ให้ข้อสนเทศและบริการแก่โจทก์ โจทก์ต้องจัดสรรหุ้นให้แก่บริษัทนั้นเป็นหุ้นที่ชำระเต็มมูลค่าแล้ว ภาษีที่จะต้องเสียโจทก์รับเป็นผู้เสียเองโดยตรง ข้อสนเทศและบริการได้แก่การยอมให้แบบและความรู้ทางวิศวกรรมโดยละเอียด กับบริการให้สามารถทำการปลูกสร้างติดตั้งเครื่องอุปกรณ์ และดำเนินกิจการโรงงานในประเทศไทย เพื่อผลิตยางนอก ยางในยางรอง ยางหล่อดอก และวัสดุที่ใช้ในการซ่อม การผลิตยางนี้บริษัทไฟร์สโตนไทร์แอนด์รับเบอร์กำปนีแห่งสหรัฐอเมริกาได้จดทะเบียนสิทธิบัตรการผลิตยางไว้ที่สหรัฐอเมริกา ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า บริษัทไฟร์สโตนไทร์แอนด์รับเบอร์กำปนีแห่งสหรัฐอเมริกาได้รับหุ้นจากโจทก์เป็นค่าแห่งสิทธิ คือสิทธิบัตรในการผลิตยางซึ่งบริษัทไฟร์สโตนไทร์แอนด์รับเบอร์กำปนีแห่งสหรัฐอเมริกา อันเป็นสิทธิที่โจทก์ยอมรับนับถือโดยยอมจ่ายค่าตอบแทนสิทธิเช่นว่านี้เป็นหุ้น จึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา 40(3) แม้จะเป็นหุ้นไม่ใช่ตัวเงินหุ้นนั้นก็เป็นทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งคิดคำนวณได้เป็นเงินจึงเป็นเงินได้ตามความหมายของประมวลรัษฎากร มาตรา 39 เมื่อเป็นเงินได้พึงประเมิน โจทก์จึงมีหน้าที่เป็นผู้หักภาษีเงินได้พึงประเมินนำส่งอำเภอท้องที่ตามบทบังคับของมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร การจ่ายเงินได้พึงประเมินไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเงินจริง ๆ เพราะคำนวณค่าหุ้นออกมาได้แน่นอนแล้วว่าเป็นเงินจำนวนเท่าใด ย่อมคิดหักเป็นภาษีออกมาได้ มิฉะนั้นแล้วอาจมีการหลีกเลี่ยงภาษี คือแทนที่จะจ่ายเป็นตัวเงิน ก็จ่ายเป็นทรัพย์สินอย่างอื่นแทนเสียเนื้อความของหนังสือ กค.0804/334 ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2508 หาใช่เป็นการประเมินภาษีไม่หากเป็นการแจ้งให้โจทก์จัดการนำเงินค่าภาษีไปชำระอย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ได้มีมติไม่รับคำอุทธรณ์แล้ว คำสั่งของเจ้าพนักงานเท่ากับเป็นคำเตือนนั่นเอง คำสั่งเช่นว่านี้มิได้ขัดต่อกฎหมาย เมื่อโจทก์เห็นว่าคำเตือนนั้นคำนวณภาษีไม่ถูกต้องอย่างไร โจทก์ก็ชอบที่จะโต้แย้งตามวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ สรุปแล้ว การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีมติไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาก็ดี และการที่จำเลยที่ 2 มีคำสั่งแจ้งให้โจทก์ทราบก็ดี ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาทุกข้อฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share