แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้จำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ซึ่งศาลจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นได้ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บังคับว่าเมื่อมีการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษแล้ว ศาลต้องลงโทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเสมอไป แต่เป็นดุลพินิจของศาลที่จะไม่ลงโทษผู้กระทำความผิดนั้นให้น้อยกว่าอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ก็ได้ ปัญหาว่าจำเลยให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษหรือไม่ ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยยกขึ้นชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องพร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15, 66, 97, 100/2, 102 ริบยาเสพติดให้โทษของกลางและเพิ่มโทษจำเลย กับริบรถจักรยานยนต์ 1 คัน และโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่องของกลางให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30 และมาตรา 31
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ริบธนบัตรรัฐบาลไทย จำนาน 37,000 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินของกลางให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27, 29, 31
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ประกาศในหนังสือพิมพ์
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลเกี่ยวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาและมีคำสั่งว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสาม (ที่ถูก ต้องระบุมาตรา 15 วรรคสาม (2) ด้วย) ลงโทษประหารชีวิต เมื่อลงโทษประหารชีวิตก็ไม่อาจเพิ่มโทษตามที่โจทก์ขอ จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน และให้ความร่วมมือแก่เจ้าพนักงานตำรวจในชั้นจับกุมมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 (ที่ถูก ต้องระบุประกอบด้วยมาตรา 52 (2) ด้วย) คงจำคุก 50 ปี ริบยาเสพติดให้โทษของกลาง และริบรถจักยานยนต์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ เงินสด ของกลางให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยต้องได้รับการลดโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 หรือไม่ เห็นว่า ปัญหาข้อนี้ แม้จำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยซึ่งจำเลยยกขึ้นได้ในชั้นฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเมื่อตามคำฟ้องกับทางนำสืบของโจทก์ปรากฏว่าหลังถูกจับกุมจำเลยได้ให้การต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่ายังมีเมทแอมเฟตามีนอีกจำนวนหนึ่งที่นางสาวเมตตาซุกซ่อนไว้ที่ห้องพักเลขที่ 702 เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจไปยึดเมทแอมเฟตามีนได้อีกจำนวน 20,000 เม็ด และดำเนินคดีแก่นางสาวเมตตาเป็นอีกคดีหนึ่ง กรณีนับได้ว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ซึ่งศาลจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นได้ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 แต่บทบัญญัติมาตราดังกล่าวไม่ได้บังคับว่าเมื่อมีการให้ข้อมูลที่สำคัญและประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษแล้ว ศาลจะต้องลดโทษหรือลงโทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเสมอไป เมื่อคำนึงถึงจำนวนเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยตกลงขายให้นายบริพัตรกับจำนวนเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแล้ว นับว่ามีจำนวนมากเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมอย่างยิ่ง การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษประหารชีวิตก่อนลดโทษให้จึงเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน