คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8900/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ค้าน้ำมันตามบทบัญญัติมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 ได้แก่ ผู้ค้าน้ำมันที่มีปริมาณการค้าแต่ละชนิด หรือรวมกันทุกชนิดปีละตั้งแต่หนึ่งแสนเมตริกตันขึ้นไป หรือเป็นผู้ค้าน้ำมันชนิดก๊าซปิโตรเลียมเหลวแต่เพียงชนิดเดียวที่มีปริมาณการค้าปีละตั้งแต่ห้าหมื่นเมตริกตันขึ้นไป โดยที่คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 เป็นการกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง บทบัญญัติตามข้อ 17 วรรคหนึ่งและวรรคสอง เป็นมาตรการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีก๊าซสำหรับประชาชนใช้ในการหุงต้มอย่างพอเพียง จึงกำหนดเป็นบทบังคับผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 ซึ่งจัดว่าเป็นผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ให้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติด้วยการจัดให้มีการบรรจุก๊าซใส่ถังก๊าซหุงต้มและจำหน่ายให้ทั่วถึงทุกอำเภอที่มีการใช้ถังก๊าซหุงต้มซึ่งแสดงเครื่องหมายการค้าของตน หรือมอบหมายให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 รายอื่นหรือผู้บรรจุก๊าซ เป็นผู้ดำเนินการแทนได้แต่ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน การฝ่าฝืนคำสั่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวที่จะเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.แก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516 มาตรา 3 และ 8 ผู้กระทำจะต้องเป็นผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 และกระทำการฝ่าฝืนด้วยการไม่จัดให้มีการบรรจุก๊าซหุงต้มและจำหน่ายให้ทั่วถึงทุกอำเภอที่มีการใช้ถังก๊าซหุงต้มซึ่งแสดงเครื่องหมายการค้าของตนหรือได้มอบหมายให้ผู้อื่นดำเนินการดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516 มาตรา 3, 8 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 28 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2514 ข้อ 6 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516 มาตรา 3, 8 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีถังก๊าซหุงต้มที่มีเครื่องหมายการค้าของผู้ค้าน้ำมันรายอื่น จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 1 ปี และปรับจำเลยทั้งสามคนละ 8,000 บาท ฐานร่วมกันบรรจุก๊าซลงในถังก๊าซหุงต้มที่มีเครื่องหมายการค้าของผู้ค้าน้ำมันรายอื่น จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 1 ปี และปรับจำเลยทั้งสามคนละ 8,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 2 ปี และปรับจำเลยทั้งสามคนละ 16,000 บาท จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 1 ปี และปรับจำเลยทั้งสามคนละ 8,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสามว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516 มาตรา 3, 8 หรือประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 28 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2514 ข้อ 6 เห็นว่า คดีนี้จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันมีถังก๊าซหุงต้มที่มีเครื่องหมายการค้าของบริษัทยูนิคแก๊สแอนด์ปิโตรเคมิคัลล์ จำกัด ยี่ห้อยูนิคแก๊ส และบริษัทอุตสาหกรรมแก๊สสยาม จำกัด ยี่ห้อสยามแก๊ส ผู้ค้าน้ำมันรายอื่น ในเขตสถานีบรรจุก๊าซของตนรวม 28 ถัง โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ค้าน้ำมันรายอื่นที่เป็นเจ้าของถังก๊าซหุงต้มที่มีเครื่องหมายการค้าของผู้ค้าน้ำมันรายอื่น และจำเลยทั้งสามร่วมกันบรรจุก๊าซลงในถังก๊าซหุงต้มที่มีเครื่องหมายการค้าของบริษัทยูนิคแก๊สแอนด์ปิโตรเคมิคัลล์ จำกัด ยี่ห้อยูนิคแก๊ส และบริษัทอุตสาหกรรมแก๊สสยาม จำกัด ยี่ห้อสยามแก๊ส ซึ่งเป็นผู้ค้าน้ำมันรายอื่น ในเขตสถานีบรรจุก๊าซของตนรวม 17 ถัง โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ค้าน้ำมันรายอื่นที่เป็นเจ้าของถังก๊าซหุงต้มที่มีเครื่องหมายการค้าของผู้ค้าน้ำมันรายนั้น และไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ซึ่งการกระทำของจำเลยทั้งสามที่ร่วมกันมีถังก๊าซหุงต้มของผู้ค้าน้ำมันอื่นในเขตสถานีบรรจุก๊าซของตนโดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ค้าน้ำมันอื่นที่เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น เป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2529) ข้อ 74 (1) วรรคสาม เพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2545) ข้อ 3 และที่ร่วมกันบรรจุก๊าซลงในถังก๊าซหุงต้มที่มีเครื่องหมายการค้าของผู้ค้าน้ำมันอื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ค้าน้ำมันอื่นที่เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น เป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2529) ข้อ 74 (1) วรรคหนึ่งและวรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2531) ข้อ 23 ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 28 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2514 การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดตามข้อ 6 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว ที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516 มาตรา 3, 8 โดยอ้างว่าการที่จำเลยทั้งสามร่วมกันบรรจุก๊าซลงในถังก๊าซหุงต้มที่มีเครื่องหมายการค้าของผู้ค้าน้ำมันอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 เรื่อง กำหนดมาตรการแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ข้อ 17 นั้น เห็นว่า คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 เรื่อง กำหนดมาตรการแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ข้อ 17 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เพื่อให้มีก๊าซสำหรับประชาชนใช้ในการหุงต้มอย่างพอเพียง ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 ซึ่งขายหรือจำหน่ายก๊าซที่บรรจุในถังก๊าซหุงต้ม ต้องจัดให้มีการบรรจุก๊าซใส่ถังก๊าซหุงต้มและจำหน่ายให้ทั่วถึงทุกอำเภอที่มีการใช้ถังหุงต้มซึ่งแสดงเครื่องหมายการค้าของตน และข้อ 17 วรรคสอง บัญญัติว่า ในการบรรจุก๊าซหรือจำหน่ายตามวรรคหนึ่ง ผู้ค้าน้ำมันอาจมอบหมายให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 รายอื่น หรือผู้บรรจุก๊าซ เป็นผู้ดำเนินการแทนได้โดยต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน… ส่วนผู้ค้าน้ำมันตามบทบัญญัติมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 ได้แก่ ผู้ค้าน้ำมันที่มีปริมาณการค้าแต่ละชนิด หรือรวมกันทุกชนิดปีละตั้งแต่หนึ่งแสนเมตริกตันขึ้นไป หรือเป็นผู้ค้าน้ำมันชนิดก๊าซปิโตรเลียมเหลวแต่เพียงชนิดเดียวที่มีปริมาณการค้าปีละตั้งแต่ห้าหมื่นเมตริกตันขึ้นไป โดยที่คำสั่งนายกรัฐมนตรีเป็นการกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง บทบัญญัติตามข้อ 17 วรรคหนึ่งและวรรคสอง เป็นมาตรการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีก๊าซสำหรับประชาชนใช้ในการหุงต้มอย่างพอเพียง จึงกำหนดเป็นบทบังคับผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 ซึ่งจัดว่าเป็นผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ ให้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติด้วยการจัดให้มีการบรรจุก๊าซใส่ถังหุงต้มและจำหน่ายให้ทั่วถึงทุกอำเภอที่มีการใช้ถังหุงต้มซึ่งแสดงเครื่องหมายการค้าของตน หากผู้ค้าน้ำมันไม่บรรจุก๊าซหรือจำหน่ายก๊าซหุงต้มด้วยตนเองก็อาจมอบหมายให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 รายอื่น หรือผู้บรรจุก๊าซ เป็นผู้ดำเนินการแทนได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน จึงเป็นที่เห็นได้ว่าการฝ่าฝืนคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 ข้อ 17 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ที่จะเป็นความผิดตามฟ้องได้ผู้กระทำจะต้องเป็นผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 และกระทำการฝ่าฝืนด้วยการไม่จัดให้มีการบรรจุก๊าซหุงต้มและจำหน่ายให้ทั่วถึงทุกอำเภอที่มีการใช้ถังหุงต้มซึ่งแสดงเครื่องหมายการค้าของตน หรือได้มอบหมายให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 รายอื่น หรือผู้บรรจุก๊าซดำเนินการบรรจุก๊าซหรือจำหน่ายแทนตนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการบรรจุก๊าซเป็นตัวแทนค้าต่างจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และไม่ปรากฏชัดว่าจำเลยทั้งสามเป็นผู้ค้าน้ำมันที่มีคุณสมบัติตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสามจะร่วมกันบรรจุก๊าซลงในถังก๊าซหุงต้มที่มีเครื่องหมายการค้าของผู้ค้าน้ำมันอื่น ก็คงเป็นความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 28 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2514 ข้อ 6 โดยหาได้มีความผิดตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516 มาตรา 3, 8 ด้วยไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสามจะไม่ได้ยกขึ้นเป็นข้อฎีกาโดยตรง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 28 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2514 ข้อ 6 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ฐานร่วมกันมีถังก๊าซหุงต้มมีเครื่องหมายการค้าของผู้ค้าน้ำมันอื่น ปรับคนละ 5,000 บาท และฐานร่วมกันบรรจุก๊าซลงในก๊าซหุงต้มที่มีเครื่องหมายการค้าของผู้ค้าน้ำมันอื่น ปรับคนละ 5,000 บาท ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงปรับกระทงละ 2,500 บาท รวมโทษทุกกระทงแล้วเป็นปรับ 5,000 บาท ให้ยกฟ้องข้อหาความผิดตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share