คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10616/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คำร้องขอให้ศาลออกหมายจับผู้คัดค้านทั้งสองระบุว่า ผู้คัดค้านทั้งสองมีพฤติการณ์กระทำผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 โดยเหตุเกิดระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม 2539 ถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2539 เมื่อความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ที่ผู้ร้องขอให้ออกหมายจับมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงมีอายุความสิบห้าปีนับแต่วันกระทำความผิดตามมาตรา 95 (2) แห่ง ป.อ. ความผิดตามที่ผู้ร้องขอให้ศาลออกหมายจับดังกล่าวจึงขาดอายุความนับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2554 และมีผลทำให้หมายจับดังกล่าวสิ้นผลไปด้วยนับแต่วันดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 68
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 74/1 ที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับวันที่ 19 เมษายน 2554 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังการกระทำความผิดของผู้คัดค้านทั้งสองและการนับอายุความโดยมิให้นับระยะเวลาที่หลบหนีเข้าด้วยตามมาตราดังกล่าวมีผลทำให้ผู้คัดค้านทั้งสองถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาได้ทั้งที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ตัวผู้คัดค้านทั้งสองมาฟ้องภายใน 15 ปี ซึ่งไม่เป็นคุณแก่ผู้คัดค้านทั้งสอง จึงต้องนำอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (2) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะผู้คัดค้านทั้งสองกระทำความผิดมาบังคับใช้เพราะเป็นคุณแก่ผู้คัดค้านทั้งสองมากกว่า จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเรื่องการนับอายุความตามมาตรา 98 และมาตรา 74/1 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาใช้บังคับแก่ผู้คัดค้านทั้งสองได้
แม้ความผิดตามหมายจับที่ศาลชั้นต้นออกให้แก่ผู้ร้องขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (2) และสิ้นผลไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 68 แล้วก็ตาม แต่เนื่องจากหมายจับดังกล่าวมีข้อความว่า (จนกระทั่งจับตัวได้ตามมาตรา 74/1 ประกอบมาตรา 98 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2550 และฉบับที่ 2 พ.ศ.2554)) กรณีจึงมีเหตุสมควรที่ศาลชั้นต้นจะสั่งเพิกถอนหมายจับดังกล่าวเสีย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากวันที่ 26 กรกฎาคม 2554 ผู้ร้องร่วมยื่นฟ้องผู้คัดค้านทั้งสองว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 97 วรรคสอง การที่ผู้ร้องร่วมจะมีอำนาจฟ้องคดีเองหรือแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องคดีแทนได้นั้น จะต้องผ่านขั้นตอนการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างผู้ร้องร่วมกับอัยการสูงสุดเสียก่อน และคณะทำงานดังกล่าวไม่อาจหาข้อยุติเกี่ยวกับการฟ้องคดีได้ เมื่อตามคำฟ้องยังไม่ได้ดำเนินการให้ครบถ้วนตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติดังกล่าวแล้ว ผู้ร้องร่วมจึงไม่มีอำนาจฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง ผู้ร้องร่วมไม่อุทธรณ์ หลังจากนั้นคณะทำงานร่วมระหว่างผู้แทนอัยการสูงสุดและผู้แทนผู้ร้องร่วมดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม คณะทำงานไม่อาจหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการฟ้องคดีได้ ผู้ร้องร่วมดำเนินการให้มีการแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องคดีแทน และให้ผู้ร้องดำเนินการให้ได้ตัวผู้คัดค้านทั้งสอง ต่อมาวันที่ 22 กันยายน 2554 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายจับผู้คัดค้านทั้งสองในความผิดดังกล่าวอีก ศาลชั้นต้นออกหมายจับผู้คัดค้านทั้งสองเป็นหมายจับที่ 1563/2554 และหมายจับที่ 1564/2554 โดยระบุที่ตอนท้ายของหมายจับทั้งสองฉบับด้วยว่า จนกระทั่งจับตัวได้ตามมาตรา 74/1 ประกอบมาตรา 98 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2550 และฉบับที่ 2 พ.ศ.2554) วันที่ 18 ตุลาคม 2554 ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนหมายจับดังกล่าว อ้างว่า ศาลชั้นต้นเคยมีคำพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าวแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ไต่สวนและมีคำสั่งให้เพิกถอนหมายจับผู้คัดค้านทั้งสองเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2554 โดยวินิจฉัยว่า คดีที่พนักงานสอบสวนผู้ร้องขอให้ศาลออกหมายจับขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (2) แล้ว ผู้ร้องไม่อุทธรณ์ ต่อมาวันที่ 14 ธันวาคม 2554 ผู้ร้องร่วมยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเพิกถอนหมายจับผู้คัดค้านทั้งสอง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องร่วมมีว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งเพิกถอนหมายจับผู้คัดค้านทั้งสองชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องขอให้ศาลออกหมายจับผู้คัดค้านทั้งสองนั้น ผู้ร้องระบุว่า ผู้คัดค้านทั้งสองมีพฤติการณ์กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยเหตุเกิดระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม 2539 ถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2539 เมื่อความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่ผู้ร้องขอให้ออกหมายจับมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงมีอายุความสิบห้าปีนับแต่วันกระทำความผิดตามมาตรา 95 (2) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามที่ผู้ร้องขอให้ศาลออกหมายจับดังกล่าวจึงขาดอายุความนับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2554 และมีผลทำให้หมายจับดังกล่าวสิ้นผลไปด้วยนับแต่วันดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 68 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า หมายจับคงใช้ได้อยู่จนกว่าจะจับได้ เว้นแต่ความผิดอาญาตามหมายนั้นขาดอายุความหรือเจ้าพนักงานหรือศาลผู้ออกหมายนั้นได้ถอนหมายคืน แม้หมายจับดังกล่าวจะมีข้อความระบุที่ด้านล่างว่าให้มีผลจนกระทั่งจับตัวได้ตามมาตรา 74/1 ประกอบมาตรา 98 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2552 และฉบับที่ 2 พ.ศ.2554) และผู้ร้องร่วมฎีกาว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 74/1 บัญญัติถึงการนับอายุความไว้เป็นการเฉพาะว่า “ในการดำเนินคดีอาญาตามหมวดนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดี มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ” ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงกฎหมายวิธีสบัญญัติเกี่ยวกับวิธีนับอายุความและไม่ขัดต่อการนับอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา เพราะไม่มีผลเป็นการขยายอายุความ แต่เมื่อการนับอายุความเช่นนั้นแตกต่างจากบทบัญญัติเรื่องอายุความในประมวลกฎหมายอาญาที่บัญญัติให้นับแต่วันกระทำความผิดเท่านั้น โดยไม่มีข้อยกเว้นไม่ให้นับวันที่หลบหนีรวมเข้าด้วยเหมือนดังที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 74/1 บัญญัติไว้ และตามมาตรา 3 แห่งประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติว่า ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำผิดให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว…” เมื่อบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 74/1 ที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวมีผลใช้บังคับวันที่ 19 เมษายน 2554 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังการกระทำความผิดของผู้คัดค้านทั้งสองและการนับอายุความโดยมิให้นับระยะเวลาที่หลบหนีเข้าด้วยตามมาตราดังกล่าวมีผลทำให้ผู้คัดค้านทั้งสองถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาได้ทั้งที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ตัวผู้คัดค้านทั้งสองมาฟ้องภายใน 15 ปี ซึ่งไม่เป็นคุณแก่ผู้คัดค้านทั้งสอง จึงต้องนำอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (2) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะผู้คัดค้านทั้งสองกระทำความผิดมาบังคับใช้เพราะเป็นคุณแก่ผู้คัดค้านทั้งสองมากกว่า จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเรื่องการนับอายุความตามมาตรา 98 และมาตรา 74/1 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาใช้บังคับแก่ผู้คัดค้านทั้งสองได้ และแม้ความผิดตามหมายจับที่ศาลชั้นต้นออกให้แก่ผู้ร้องขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (2) และสิ้นผลไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 68 แล้วก็ตาม แต่เนื่องจากหมายจับดังกล่าวมีข้อความว่า (จนกระทั่งจับตัวได้ตามมาตรา 74/1 ประกอบมาตรา 98 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2550 และฉบับที่ 2 พ.ศ.2554)) กรณีจึงมีเหตุสมควรที่ศาลชั้นต้นจะสั่งเพิกถอนหมายจับดังกล่าวเสีย ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งเพิกถอนหมายจับผู้คัดค้านทั้งสองจึงชอบแล้ว และเมื่อวินิจฉัยแล้วว่าหมายจับดังกล่าวสิ้นผลไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 68 กรณีจึงไม่มีเหตุต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องร่วมมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าเป็นผู้ร้องร่วมหรือไม่ เนื่องจากเหตุที่ผู้ร้องร่วมร้องขอเข้ามาเป็นผู้ร้องร่วม ก็โดยประสงค์จะขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเพิกถอนหมายจับดังกล่าว ดังนั้น ไม่ว่าศาลจะสั่งไปในทางใดก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้ร้องร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share