คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7064/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ให้การยอมรับว่าได้กู้เงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ น. ตามสำเนาหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 13 จริง ซึ่งตรงกับหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.15 ทั้งรับว่าได้ชำระคืนแก่ผู้ให้กู้ดังกล่าวตลอดมาเพียงแต่ชำระไม่ครบจำนวนตามที่ตกลงกัน ชำระไม่ตรงตามเวลาที่กำหนดในสัญญาและต่อสู้ว่าไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาเท่านั้น จำเลยที่ 1 มิได้ให้การต่อสู้ว่าลายมือชื่อในสัญญากู้เงินดังกล่าวไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 หรือเป็นลายมือชื่อปลอมเท่ากับจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าลายมือชื่อในสัญญากู้เงินดังกล่าว เป็นลายมือชื่อที่แท้จริง ของจำเลยที่ 1 มิใช่ลายมือชื่อปลอมแล้ว แม้จำเลยที่ 3 จะได้ยกข้อต่อสู้ว่าลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ในสัญญากู้เงินดังกล่าว ไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 หรือเป็นลายมือชื่อปลอมก็ตาม ก็เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 3 จะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบให้ฟังได้ตามที่ยกขึ้นให้การต่อสู้ไว้ เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่นำพยานหลักฐานมาสืบโดยแถลงไม่ขอสืบพยาน ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวจึงฟังไม่ได้
หนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวมีเพียงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ผู้กู้ โดยไม่มีลายมือชื่อของบริษัทเงินทุน น. ผู้ให้กู้อยู่ด้วย จึงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง แม้จะมีข้อความว่าหนังสือสัญญากู้เงิน เอกสารดังกล่าวก็มิใช่ตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 104 และบัญชีอากรแสตมป์ลักษณะ 5 แต่อย่างใด หนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวจึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ผู้กู้ ตามความหมายของมาตรา 653 วรรคหนึ่งแล้ว ศาลย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ น. ไปตามฟ้องโดยไม่จำต้องปิดอากรแสตมป์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นวธนกิจ จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,269,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี โดยยอมให้เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองห้องชุดเป็นประกัน แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินตามสัญญา โจทก์ได้รับหนี้ดังกล่าวตามโครงการรวมกิจการระหว่างโจทก์กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเงินทุน 12 บริษัท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,093,400.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 694,076.55 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระเงินกู้ไม่ตรงตามสัญญา บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นวธนกิจ จำกัด (มหาชน) ไม่เคยทวงถามหรือบอกเลิกสัญญา ถือได้ว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นวธนกิจ จำกัด (มหาชน) สละซึ่งประโยชน์แห่งข้อสัญญาที่ตกลงกันไว้ เมื่อมีการรวมกิจการระหว่างโจทก์กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเงินทุน 12 บริษัท จำเลยที่ 1 พยายามชำระเงินคืน แต่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นวธนกิจ จำกัด (มหาชน) ปฏิเสธการรับชำระหนี้โดยไม่มีเหตุผล จำเลยที่ 1 จึงไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ยังไม่มีสิทธิฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กู้เงิน ไม่ได้รับเงินกู้และไม่ได้จำนองทรัพย์เป็นประกันตามฟ้อง ลายมือชื่อในสัญญากู้สัญญาจำนองไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 เป็นลายมือชื่อปลอม จำเลยที่ 3 ไม่ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 689,580.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 เมษายน 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเบี้ยประกัน 4,496.14 บาท และดอกเบี้ยค้างชำระ 1,407.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 4,496.14 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 มกราคม 2546) จนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดห้องชุดเลขที่ 114/16 ชั้นที่ 5 อาคารเลขที่ 1 อาคารโมเดอร์นโฮมเพลส 3 ทะเบียนอาคารชุดเลขที่ 30/2536 ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 1172 ตำบลสวนหลวง อำเภอประเวศ กรุงเทพมหานคร ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2537 จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญากู้เงินกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นวธนกิจ จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,269,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.15 มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตามเอกสารหมาย จ.16 และ จ.17 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองห้องชุดเลขที่ 114/16 ชั้นที่ 5 อาคารเลขที่ 1 อาคารโมเดอร์นโฮมเพลส 3 ทะเบียนอาคารชุดเลขที่ 30/2536 ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 1172 ตำบลสวนหลวง อำเภอประเวศ กรุงเทพมหานคร เป็นประกันหนี้ โดยตกลงทำประกันภัยทรัพย์จำนองทุกปีและเป็นผู้ชำระค่าเบี้ยประกันเอง หากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นวธนกิจ จำกัด (มหาชน) ชำระแทนไปก่อนก็ยอมชำระคืนให้ ตามเอกสารหมาย จ.20 จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาและยังค้างชำระต้นเงิน 689,580.41 บาท และค้างชำระค่าเบี้ยประกันที่โจทก์ชำระแทนไปก่อน 4,496.14 บาท เมื่อโจทก์ได้รับโอนหนี้ดังกล่าวตามโครงการรวมกิจการระหว่างโจทก์กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเงินทุน 12 บริษัท ซึ่งรวมทั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นวธนกิจ จำกัด (มหาชน) แล้วโจทก์มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยทั้งสามให้ชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองแล้วตามเอกสารหมาย จ.22 ถึง จ.27
จำเลยที่ 3 ฎีกาประการแรกว่า… จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นวธนกิจ จำกัด (มหาชน) หรือไม่ เห็นว่า ตามคำให้การจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ให้การว่า ตามสำเนาหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 13 จำเลยที่ 1 กู้เงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นวธนกิจ จำกัด (มหาชน) ไปจำนวน 1,269,000 บาท และกำหนดชำระภายในวันที่ 21 มิถุนายน 2552 หลังจากที่จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ชำระคืนให้แก่บริษัทดังกล่าวตลอดมา แม้จำเลยที่ 1 จะปฏิบัติไม่ตรงตามที่ตกลงกันไว้ตามสัญญาที่ให้ไว้กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นวธนกิจ จำกัด (มหาชน) โดยชำระไม่ตรงตามวันที่ต้องชำระวันสุดท้ายของสิ้นเดือน อีกทั้งจำนวนเงินที่ชำระก็ไม่ครบตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงินก็ตาม แต่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นวธนกิจ จำกัด (มหาชน) ก็ไม่ได้เรียกร้องทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้หรือบอกเลิกสัญญาแต่อย่างใด จึงถือว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นวธนกิจ จำกัด (มหาชน) ไม่ถือว่าการผิดนัดชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นสาระสำคัญอันสามารถบอกเลิกสัญญาได้จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ก่อนครบกำหนดเท่านั้น ซึ่งเห็นได้ว่าตามคำให้การของจำเลยที่ 1 นั้น ยอมรับว่าได้กู้เงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นวธนกิจ จำกัด (มหาชน) ตามสำเนาหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 13 จริง ซึ่งตรงกับหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.15 นั่นเอง ทั้งยอมรับว่าได้ชำระคืนแก่ผู้ให้กู้ดังกล่าวตลอดมา เพียงแต่ชำระเงินไม่ครบจำนวนตามที่ตกลงกันและชำระไม่ตรงตามเวลาที่กำหนดในสัญญาและต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาเท่านั้น จำเลยที่ 1 มิได้ให้การต่อสู้ว่าลายมือชื่อในสัญญากู้เงินดังกล่าวไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 หรือเป็นลายมือชื่อปลอมแต่อย่างใด เท่ากับจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ในสัญญากู้เงินดังกล่าวเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของจำเลยที่ 1 มิใช่ลายมือชื่อปลอมแล้วนอกจากนี้หนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.15 มีเพียงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ผู้กู้ โดยไม่มีลายมือชื่อของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นวธนกิจ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้กู้อยู่ด้วยจึงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคแรก แม้จะมีข้อความว่าหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารดังกล่าวก็มิใช่ตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 104 และบัญชีอากรแสตมป์ลักษณะ 5 แต่อย่างใด ดังนั้น แม้จำเลยที่ 3 จะได้ยกข้อต่อสู้ว่าลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ในสัญญากู้เงินดังกล่าวไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 หรือเป็นลายมือชื่อปลอมได้ตามที่ให้การไว้ก็ตาม ก็เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 3 จะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบให้ฟังได้ตามที่ยกขึ้นให้การต่อสู้ดังกล่าว แต่เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่นำพยานหลักฐานมาสืบโดยแถลงไม่ขอสืบพยาน ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวจึงฟังไม่ได้และกรณีการกู้ยืมเงินเกินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไป ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคแรก ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะทำสัญญาบัญญัติเพียงว่า “ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่” เท่านั้น ดังนั้น หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินหาจำต้องทำเป็นสัญญากู้ยืมเงินไม่ เพียงแต่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้มาแสดงเท่านั้นก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้กู้เงินโจทก์ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 13 ดังวินิจฉัยมาข้างต้นซึ่งเอกสารท้ายฟ้องเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง หนังสือสัญญากู้เงินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 13 ดังกล่าวซึ่งตรงกับเอกสารหมาย จ.15 จึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ผู้กู้ตามความหมายของมาตรา 653 วรรคแรก ดังกล่าวมา ศาลย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นวธนกิจ จำกัด (มหาชน) ไปตามฟ้องโดยไม่จำต้องปิดอากรแสตมป์ ข้ออ้างของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวจึงไม่มีเหตุให้รับฟัง ฎีกาจำเลยที่ 3 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 3 ฎีกาในประการต่อไปว่า …การโอนสินทรัพย์และหนี้สินระหว่างบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) กับโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 3 ให้การในเรื่องดังกล่าวเพียงว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นวธนกิจ จำกัด (มหาชน) ไม่ได้ควบรวมกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) ไม่ได้ควบรวมกับโจทก์ ทั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทั้งสองบริษัทดังกล่าวก็ไม่ได้โอนสินทรัพย์และหนี้สินกัน รวมทั้งไม่ได้โอนสินทรัพย์และหนี้สินกับโจทก์ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 9, 10 และ ไม่มีต้นฉบับ เป็นเอกสารปลอม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 เท่านั้น ซึ่งเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 9 และ 10 ตรงกับเอกสารหมาย จ.9 ถึง จ.12 ตามลำดับเอกสารหมาย จ.9 คือสำเนาประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องให้ความเห็นชอบโครงการรวมกิจการระหว่างธนาคารสหธนาคาร จำกัด (มหาชน) บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเงินทุน 12 บริษัท ซึ่งมีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นวธนกิจ จำกัด (มหาชน) รวมอยู่ด้วย เอกสารหมาย จ.10 ถึง จ.12 คือ สำเนาพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540 และ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2541 กับพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่ศาลรู้ได้เองคู่ความไม่จำต้องนำสืบ และปรากฏว่าประกาศกระทรวงการคลังและพระราชกำหนดทั้งสามฉบับดังกล่าวได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นที่ทราบกันทั่วไป ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ศาลย่อมรับฟังสำเนาเอกสารดังกล่าวเป็นพยานได้ จึงชอบแล้ว กรณีจึงรับฟังตามเอกสารดังกล่าวได้ว่า กระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นชอบให้ดำเนินการรวมกิจการระหว่างธนาคารสหธนาคาร จำกัด (มหาชน) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโจทก์กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเงินทุน 12 บริษัท ซึ่งมีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นวธนกิจ จำกัด (มหาชน) รวมอยู่ด้วย โดยกำหนดให้ดำเนินการโอนสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดของบริษัทเงินทุนทั้ง 12 บริษัทดังกล่าวให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) ก่อน จากนั้นจึงให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) โอนสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดให้แก่โจทก์ ซึ่งปรากฏว่าบริษัทเงินทุนทั้ง 12 บริษัท รวมทั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นวธนกิจ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) ก็ได้ดำเนินการตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว โดยบริษัทเงินทุนทั้ง 12 บริษัทได้โอนสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 29 มกราคม 2542 ตามหนังสือสัญญาโอนสินทรัพย์และหนี้สินเอกสารหมาย จ.13 และในวันเดียวกันบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) ก็โอนสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดให้แก่โจทก์ตามหนังสือสัญญาโอนสินทรัพย์และหนี้สินเอกสารหมาย จ.14 ซึ่งเอกสารหมาย จ.13 ตรงกับเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 11 และเอกสารหมาย จ.14 ตรงกับเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 12 ตามคำให้การของจำเลยที่ 3 คัดค้านเฉพาะเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 11 คือเอกสารหมาย จ.13 ว่าไม่มีต้นฉบับ เป็นเอกสารปลอม มิได้ให้การคัดค้านเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 12 คือเอกสารหมาย จ.14 ซึ่งเป็นสำเนาเช่นกันว่าไม่มีต้นฉบับหรือเป็นเอกสารปลอมแต่อย่างใด ซึ่งเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารท้ายฟ้องเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง เมื่อจำเลยที่ 3 มิได้ให้การคัดค้านเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 12 หรือเอกสารหมาย จ.14 จึงถือว่าจำเลยที่ 3 ยอมรับการมีอยู่และความแท้จริงของหนังสือสัญญาโอนสินทรัพย์และหนี้สินระหว่างบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) กับโจทก์และไม่คัดค้านการอ้างเอกสารหมาย จ.14 เป็นพยาน ศาลจึงรับฟังเอกสารหมาย จ.14 เป็นพยานได้ ซึ่งตามเอกสารหมาย จ.14 มีข้อความระบุชัดแจ้งว่า สินทรัพย์ซึ่งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) ตกลงโอนให้โจทก์และโจทก์ตกลงรับโอนประกอบด้วย สินทรัพย์ตามประกาศกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2541 ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) และรวมตลอดถึงสินทรัพย์ที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) ได้รับโอนมาจากบริษัทเงินทุน 12 บริษัท ซึ่งมีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นวธนกิจ จำกัด (มหาชน) รวมอยู่ด้วย การโอนดังกล่าวเป็นการโอนตามขั้นตอนของประกาศกระทรวงการคลังตามเอกสารหมาย จ.9 ดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น แม้หลักฐานการโอนสินทรัพย์และหนี้สินระหว่างบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นวธนกิจ จำกัด (มหาชน) กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) จะเป็นเพียงสำเนาไม่ใช่ต้นฉบับ ซึ่งต้องห้ามมิให้รับฟังสำเนาเอกสารเป็นพยานตามที่จำเลยที่ 3 ฎีกาก็ตาม แต่เมื่อการโอนสินทรัพย์และหนี้สินระหว่างบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.14 ซึ่งรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ระบุชัดแจ้งว่าสินทรัพย์และหนี้สินที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) โอนให้แก่โจทก์นั้นรวมทั้งสินทรัพย์และหนี้สินที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) ได้รับโอนมาจากบริษัทเงินทุน 12 บริษัทด้วย ซึ่งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นวธนกิจ จำกัด (มหาชน) รวมอยู่ใน 12 บริษัทดังกล่าว เช่นนี้ศาลจึงไม่จำต้องรับฟังเอกสารหมาย จ.13 ซึ่งเป็นสำเนาหนังสือสัญญาการโอนสินทรัพย์และหนี้สินระหว่างบริษัทเงินทุน 12 บริษัทดังกล่าวกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) เป็นพยาน เพียงแต่รับฟังเอกสารหมาย จ.14 ดังกล่าวก็ฟ้งได้แล้วว่าบริษัทเงินทุนทั้ง 12 บริษัท ซึ่งรวมถึงบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นวธนกิจ จำกัด (มหาชน) ได้โอนสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) ได้โอนสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) แล้วบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) ได้โอนสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดของตนรวมทั้งที่ได้รับโอนมาจากบริษัทเงินทุน 12 บริษัท ให้แก่โจทก์อีกต่อหนึ่งเพื่อให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวมาข้างต้น ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ของจำเลยทั้งสามให้แก่โจทก์เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 3 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 3 ฎีกาประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 3 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำนวน 689,580.41 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และโจทก์มิได้นำสืบว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราดังกล่าว ทั้งดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นการกำหนดไว้ล่วงหน้าจึงเป็นเบี้ยปรับ การที่ศาลกำหนดให้จำเลยที่ 3 ชำระดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นการกำหนดเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นซึ่งพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 689,580.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยที่ 3 มิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นพิพากษาไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยเหตุผลใด และที่ถูกต้องเป็นอย่างไร เพิ่งยกปัญหาดังกล่างขึ้นฎีกา จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน โจทก์มิได้แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้

Share