คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6734/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

กำหนดอายุความตามมาตรา 563 หมายถึงผู้ให้เช่าฟ้องผู้เช่าให้รับผิดเพราะผู้เช่าฝ่าฝืนต่อหน้าที่ของตนตามสัญญาเช่า แต่ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ ค่าขาดราคาเมื่อนำรถที่เช่าออกขาย ค่าเบี้ยประกันภัยและค่าภาษีรถยนต์ที่โจทก์ชำระแทนไป เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายตามสัญญาเช่าไม่ใช่เป็นการเรียกค่าเสียหายเพราะผู้เช่าฝ่าฝืนต่อหน้าที่จึงไม่อยู่ในอายุความตามมาตรา 563
เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าแก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์คืน โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายเพราะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เช่าไป จำเลยที่ 2 จะอ้างว่าระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้รถยนต์และโจทก์ไม่ติดตามเอารถยนต์คืนหาได้ไม่ เพราะเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าคืนตามสัญญาและตาม ป.พ.พ. มาตรา 561
การผ่อนเวลาชำระหนี้แก่ลูกหนี้ซึ่งทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดนั้นจะต้องมีการตกลงผ่อนเวลากันแน่นอน และมีผลว่าในระหว่างผ่อนเวลานั้นเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องร้องมิได้ หากเพียงแต่หนี้ถึงกำหนดชำระ เจ้าหนี้ไม่ได้เรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระยังไม่ถือว่าเป็นการผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้เพราะเจ้าหนี้อาจใช้สิทธิเรียกร้องเมื่อใดก็ได้ ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่งวดที่ 19 เป็นต้นไปเท่านั้น โดยไม่มีการตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ยอมผ่อนเวลาชำระหนี้กันแต่ประการใด ดังนี้ จำเลยที่ 2 จึงไม่หลุดพ้นจากหนี้ตามมาตรา 700

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 321,469 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ 522/2543 ศาลจึงได้งดการพิจารณาคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 และจำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ไว้ชั่วคราว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 105,469 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้หากโจทก์ได้รับชำระหนี้ในคดีที่จำเลยที่ 1 ถูกฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลางในคดีหมายเลขแดงที่ 522/2543 แล้วเพียงใด ให้สิทธิที่ได้รับชำระหนี้ในคดีนี้ลดเพียงนั้น กับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์ 4,000 บาท
จำเลยที่ 2 ฎีกาโดยผู้พิพากษาที่ได้นั้งพิจารณาในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2538 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่ารถยนต์เก๋งโตโยต้าจีแอลโอ หมายเลขทะเบียน 9ศ-6203 กรุงเทพมหานคร ไปจากโจทก์ในอัตราเช่าเดือนละ 23,660 บาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม รวม 36 งวด ชำระค่าเช่าทุกวันที่ 7 ของเดือน เริ่มชำระค่าเช่างวดแรกวันที่ 7 กรกฎาคม 2538 หากจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าครบถ้วน จำเลยที่ 1 มีสิทธิซื้อทรัพย์สินที่เช่าในราคา 155,705 บาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ปรากฏตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาหนังสือสัญญาพิเศษ โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมปรากฏตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าตั้งแต่งวดที่ 20 วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2540 โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสามเพิกเฉยปรากฏตามสำเนาหนังสือทวงถามและไปรษณีย์ตอบรับ
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 หรือไม่ เห็นว่า กำหนดอายุความตามมาตรา 563 หมายถึงผู้ให้เช่าฟ้องผู้เช่าให้รับผิดเพราะผู้เช่าฝ่าฝืนต่อหน้าที่ของตนตามสัญญาเช่า แต่ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ ค่าขาดราคาเมื่อนำรถที่เช่าออกขาย ค่าเบี้ยประกันภัย และค่าภาษีรถยนต์ที่โจทก์ชำระแทนไป เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายตามสัญญาเช่า ไม่ใช่เป็นการเรียกค่าเสียหายเพราะผู้เช่าฝ่าฝืนต่อหน้าที่จึงไม่อยู่ในอายุความตามมาตรา 563 ดังที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้าง ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการที่สองว่า โจทก์ขาดประโยชน์จากการไม่ได้ใช้รถยนต์ที่เช่าหรือไม่เพียงใด เห็นว่า เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าแก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 จำต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าแก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์คืน โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายเพราะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากรถยนต์ที่ให้จำเลยที่ 1 เช่าไป จำเลยที่ 2 จะอ้างว่าระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้รถยนต์และโจทก์ไม่ติดตามเอารถยนต์คืนหาได้ไม่ เพราะเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าคืนตามสัญญาและตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 561 ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถยนต์เป็นเงินเดือนละ 6,000 บาท เป็นเวลา 4 เดือน รวมเป็นเงินจำนวน 24,000 บาท เหมาะสมแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการที่สามว่า โจทก์เสียหายจากค่าขาดราคาที่นำรถยนต์ออกขายหรือไม่เพียงใด เห็นว่า โจทก์ซื้อรถยนต์มาในราคา 833,000 บาท ตกลงให้จำเลยที่ 1 เช่าเดือนละ 23,660 บาท มีกำหนด 36 งวด และจำเลยที่ 1 มีสิทธิซื้อในราคา 155,705 บาท เมื่อครบกำหนดการเช่า ซึ่งหากเป็นไปตามสัญญาโจทก์จะได้รับเงินทั้งสิ้น 1,007,465 บาท ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าเพียง 19 งวด ก็ผิดสัญญา โจทก์นำรถยนต์ออกขายได้เงินเพียง 420,000 บาท เมื่อรวมกับค่าเช่าที่ได้รับ 19 งวด จำนวน 449,540 บาท กับค่าขาดประโยชน์จำนวน 24,000 บาท รวมโจทก์ได้รับเงินเพียง 893,540 บาท ซึ่งน้อยกว่าจำนวนเงินที่หากจำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาถึง 113,925 บาท นอกจากนี้ตามสำเนาหนังสือส่งมอบรถคืนเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 1 ก็ระบุว่ากันชนหน้ามีรอยยุบ ไฟหน้าซ้ายมีรอยขูด ด้านขวาโก่ง ตะแกรงหน้าแตก ประตูหลังซ้ายมีรอยขูด ฝาถังน้ำมันอันนอกมีรอยขูดข้างบน สภาพเครื่องยนต์ 60 เปอร์เซ็นต์ ยาง 4 เส้น สภาพ 60 เปอร์เซ็นต์ ดังนี้ส่อให้เห็นว่ารถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เช่าไปและโจทก์ได้รับคืนมีสภาพทรุดโทรมเกินกว่าการใช้รถยนต์ที่เช่าตามปกติในระยะเวลาเพียง 19 เดือน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เสียหายจากค่าขาดราคาที่นำรถยนต์ออกขายจริง ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ 50,000 บาท เหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการที่สี่มีว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดใช้ค่าเบี้ยประกันและค่าภาษีรถยนต์ให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาเช่าจำเลยที่ 1 จะต้องเป็นผู้ชำระค่าเบี้ยประกันและค่าภาษีรถยนต์ในระหว่างระยะเวลาที่เช่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2540 สำหรับเบี้ยประกันภัยตามใบเสร็จรับเงินระบุวันที่ 18 มีนาคม 2540 เริ่มสัญญาประกันวันที่ 8 เมษายน 2540 ดังนี้ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ชำระเบี้ยประกันภัยไปแทนจำเลยที่ 1 ในระหว่างอายุสัญญาเช่า ดังนั้น จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้คืนแก่โจทก์ ส่วนค่าภาษีรถยนต์ตามใบเสร็จรับเงิน ระบุว่า ชำระเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2540 ภายหลังที่สัญญาเลิกกันแล้ว ดังนี้ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระ ฉะนั้นโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าภาษีรถยนต์จากจำเลยที่ 1 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยที่ 3 จะไม่ฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 3 ด้วย เพราะเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) และมาตรา 247
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเพราะโจทก์ผ่อนเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700 หรือไม่ เห็นว่า การผ่อนเวลาชำระหนี้แก่ลูกหนี้ซึ่งทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดนั้นจะต้องมีการตกลงผ่อนเวลากันแน่นอน และมีผลว่าในระหว่างผ่อนเวลานั้นเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องร้องมิได้ หากเพียงแต่หนี้ถึงกำหนดชำระเจ้าหนี้ไม่ได้เรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระยังไม่ถือว่าเป็นการผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้เพราะเจ้าหนี้อาจใช้สิทธิเรียกร้องเมื่อใดก็ได้ ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่งวดที่ 19 เป็นต้นไปเท่านั้น โดยไม่มีการตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ยอมผ่อนเวลาชำระหนี้กันแต่ประการใด ดังนี้ จำเลยที่ 2 จึงไม่หลุดพ้นจากหนี้ตามมาตรา 700 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์สั่งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้ค่าทนายความเท่านั้นโดยไม่ได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมอื่น จึงเป็นการสั่งไม่ครบถ้วน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องชำระค่าภาษีรถยนต์จำนวน 5,784 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์ 4,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share