คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 357/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งห้าฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดเป็นคดีเดียวกันโดยอ้างว่าโจทก์ทั้งห้ามีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี เพราะ ส.ผู้ตายเป็นผู้กระทำการแทนนิติบุคคลโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 บริษัท ค.และห้าง ส.ลูกหนี้ของโจทก์ด้วย เห็นได้ชัดว่า ส.กระทำการในนามของนิติบุคคลแยกต่างหากจากกันผูกพันกันเฉพาะชื่อผู้ทำการแทนคือ ส.เท่านั้น หาทำให้กิจการของนิติบุคคลต่าง ๆ เหล่านั้นเข้าผูกพันกันด้วยไม่ โจทก์หลายคนฟ้องเรียกทรัพย์จากจำเลยบางรายแต่ละข้อหาและมูลคดีส่วนใหญ่แตกต่างจากกันไป โจทก์ทั้งห้าจึงหามีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีพอที่จะฟ้องร่วมกันมาเป็นคดีเดียวไม่
การที่ศาลจะสั่งจำหน่ายคดีมิใช่มีเพียงที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 เท่านั้น แต่เป็นอำนาจทั่วไปของศาลเมื่อเห็นว่าฟ้องของโจทก์ไม่ชอบที่จะฟ้องร่วมกัน ศาลก็ย่อมที่จะจำหน่ายคดีเสียได้เพื่อให้โจทก์นำไปฟ้องใหม่ให้ถูกต้อง มิใช่ต้องยกฟ้องโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ เป็นนิติบุคคล มีนายสมบูรณ์ผู้ถึงแก่กรรมมีอำนาจกระทำแทนได้ โจทก์ที่ ๔ ที่ ๕ เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทเคมีอุตสาหกรรมปุ๋ยไทย จำกัด และนายสมบูรณ์มีอำนาจทำแทนบริษัทได้ นายสมบูรณ์ยังเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดเสรีพาณิชย์ แอนด์โก ลูกหนี้ของโจทก์ที่ ๑ ด้วยการประกอบธุรกิจของโจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ กับบริษัทเคมีอุตสาหกรรมปุ๋ยไทย จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัดเสรีพาณิชย์ แอนด์โก มีผลประโยชน์ร่วมกันจากความสัมพันธ์และการกระทำของนายสมบูรณ์ นายสมบูรณ์เป็นพี่คนโตของโจทก์ที่ ๔ ที่ ๕ และนายอาภรณ์ซึ่งเป็นกรรมการของนิติบุคคลดังกล่าว ทำให้นายสมบูรณ์ได้เป็นประธานกรรมการบริษัทและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เพื่อประโยชน์ร่วมกันในหมู่เครือญาติ โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ จึงใช้ทรัพย์สินและเงินทุนร่วมกัน ทำให้นายสมบูรณ์มีฐานะเป็นตัวแทนโจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ กับบริษัทเคมีอุตสาหกรรมปุ๋ยไทย จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัดเสรีพาณิชย์ แอนด์โก โดยมิได้เปิดเผยชื่อตัวการ ครั้นนายสมบูรณ์ถึงแก่กรรมลงจำเลยที่ ๑ ฐานะภริยาและผู้จัดการมรดกของนายสมบูรณ์ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ฐานะส่วนตัวและทายาทของนายสมบูรณ์ กับจำเลยที่ ๗ จะต้องรับผิดคืนทรัพย์และชำระหนี้ที่มีอยู่แก่โจทก์และร่วมกันคืนและใช้ราคารถยนต์ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องรวมเป็นเงิน ๙๕,๘๘๘,๑๐๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๑ ให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน ๙,๖๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ร่วมกันคือหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาทแก่โจทก์ที่ ๑ กับบริษัทเคมีอุตสาหกรรมปุ๋ยไทย จำกัด ให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน ๒๘,๗๐๐,๐๐๐ บาทแก่โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ กับบริษัทเคมีอุตสาหกรรมปุ๋ยไทย จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัดเสรีพาณิชย์ แอนด์โกกับให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ชำระหนี้จำนวน ๓๕,๔๔๙,๗๑๐ บาท ๕๘ สตางค์ แก่โจทก์ที่ ๑ กับห้างหุ้นส่วนจำกัดเสรีพาณิชย์ แอนด์โก โดยให้จำเลยที่ ๗ ร่วมรับผิดในวงเงินไม่เกิน ๒๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ ให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ทั้งห้าไม่มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีเดียวกันได้ นายสมบูรณ์มิใช่ผู้กระทำแทนโจทก์
ก่อนสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นเห็นว่ามูลคดีของโจทก์ทั้งห้าต่างเป็นนิติบุคคลแยกจากกันโดยเด็ดขาด จะฟ้องเป็นคดีเดียวกันไม่ได้ เป็นการหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมศาล ฟ้องโจทก์มีหลายข้อหา ยากที่จะคงข้อหาใดข้อหาหนึ่งไว้เพื่อดำเนินการต่อไปได้ ให้จำหน่ายคดีเสียทั้งหมดเพื่อให้โจทก์แยกฟ้องเป็นคดีใหม่
โจทก์ทั้งห้ายื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นและให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์คำสั่ง
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจจำหน่ายคดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งห้าและจำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ที่อ้างว่าโจทก์มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีนั้น ก็โดยอาศัยนายสมบูรณ์สุพรรณธะริดา ผู้ตายเป็นผู้กระทำการแทนนิติบุคคลโจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ บริษัทเคมีอุตสาหกรรมปุ๋ยไทย จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัดเสรีพาณิชย์แอนด์โก ลูกหนี้ของโจทก์ด้วย และเห็นได้ชัดว่านายสมบูรณ์ สุพรรณธะริดา กระทำการในนามของนิติบุคคลแยกต่างหากจากกันผูกพันกันเฉพาะชื่อผู้ทำการแทนคือนายสมบูรณ์ สุพรรณธะริดา เท่านั้น หาทำให้กิจการของนิติบุคคลต่าง ๆ เหล่านั้นเข้าผูกพันกันด้วยไม่ โจทก์หลายคนฟ้องเรียกทรัพย์จากจำเลยบางรายแต่ละข้อหาและมูลคดีส่วนใหญ่แตกต่างจากกันไป โจทก์ทั้งห้าจึงหามีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีพอที่จะฟ้องรวมกันมาเป็นคดีเดียวไม่
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้แล้วว่าโจทก์ทั้งห้าไม่มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี ศาลจึงต้องพิพากษายกฟ้อง มิใช่จำหน่ายคดีนั้น เห็นว่า การที่ศาลจะสั่งจำหน่ายคดีก็มิใช่มีเพียงที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๓๒ เท่านั้น แต่เป็นอำนาจทั่วไปของศาล เมื่อเห็นว่าฟ้องของโจทก์ไม่ชอบที่จะฟ้องรวมกัน ศาลก็ย่อมที่จะจำหน่ายคดีเสียได้ เพื่อให้โจทก์นำไปฟ้องใหม่ให้ถูกต้อง
พิพากษายืน.

Share