แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจ้าของที่ดินเดิมซึ่งที่ดินอยู่ในแนวเขตเวนคืนตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 225 ที่มีผลใช้บังคับเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ได้ขอรังวัดแบ่งเวนคืนที่ดินส่วนหนึ่งที่อยู่ในแนวเขตเวนคืนตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 225 ให้แก่กรมทางหลวงใช้สร้างถนนจนแล้วเสร็จ แต่ที่ดินอีกส่วนหนึ่งที่เหลือจากการจดทะเบียนแบ่งเวนคืนและที่ดินที่ยังไม่มีการจดทะเบียนเวนคืนอันเป็นที่ดินพิพาทนั้นก็อยู่ในแนวเขตเวนคืนเพื่อใช้สำหรับงานทาง ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 225 ด้วย ที่ดินพิพาทย่อมถูกเวนคืนตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 225 เป็นของรัฐแล้ว การจดทะเบียนแบ่งเวนคืนหรือจดทะเบียนเวนคืนสำหรับที่ดินทั้งสองส่วนนี้อาจกระทำคนละครั้งได้ มิใช่ว่า เมื่อมีการจดทะเบียนแบ่งเวนคืนที่ดินเป็นของกรมทางหลวงและมีการเปิดใช้ทางหลวงแผ่นดินฯ แล้ว จะถือว่าการเวนคืนเสร็จสิ้นและทำให้ที่ดินที่อยู่ภายในแนวเขตเวนคืนของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 225 ที่ยังมิได้ดำเนินการให้มีการจดทะเบียนเวนคืน ปลอดพ้นจากการเวนคืนแต่อย่างใด
โจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิในที่ดินทั้งสามแปลงมิใช่เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสามแปลงในขณะที่มีการเวนคืน หากมีการใช้ที่ดินที่ถูกเวนคืนนอกวัตถุประสงค์ของกฎหมายเวนคืนอสังหาริมทรัพย์อันเป็นเหตุให้เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนมีสิทธิอ้างได้ ก็เป็นสิทธิของเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมในขณะที่มีการเวนคืน มิใช่เป็นสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือโฉนดที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวในภายหลัง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการเวนคืนที่ดิน
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่ไม่มีสิทธิหรืออำนาจคืนที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ ๓๘๒๕ เนื้อที่ ๒ งาน ๗ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๓๘๓๗ เนื้อที่ ๓ งาน ๑ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๔๐๑๐ เนื้อที่ ๕ ไร่ ๓ งาน ๘๑ ตารางวา ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลบางโทรัด อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ให้เพิกถอนการเวนคืนที่ดินของโจทก์ทั้งสามแปลงดังกล่าว ให้จำเลยทั้งสี่คืนที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวแก่โจทก์ และให้เพิกถอนการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่หรือตัวแทนของจำเลยทั้งสี่เข้าไปครอบครอง หรือใช้ที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าว และห้ามมิให้เจ้าหน้าที่หรือตัวแทนของจำเลยทั้งสี่เข้าไปดำเนินการใด ๆ ในที่ดินของโจทก์ในส่วนที่ถูกเวนคืนเพิ่มเติม กับให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๕๐,๐๐๐ บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ ๕๐,๐๐๐ บาท แทนโจทก์
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว วินิจฉัยว่า
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาต่อไปว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๘๒๕ เนื้อที่ ๒ งาน ๗ ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๘๓๗ เนื้อที่ ๓ งาน ๑ ตารางวา และที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๐๑๐ เนื้อที่ ๕ ไร่ ๓ งาน ๘๑ ตารางวา ตกเป็นของรัฐแล้วหรือไม่ ในปัญหานี้มีข้อต้องวินิจฉัยก่อนว่า ที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวอยู่ในแนวเขตเวนคืนที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๒๕ หรือไม่ จากการตรวจสอบพยานได้ความว่า ที่ดินตามฟ้องทั้งสามแปลงอยู่ในแนวเขตเวนคืนที่กำหนดไว้ทั้งในพระราชกฤษฎีกาฯ และในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๒๕ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวอยู่ในเขตเวนคืนที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ของประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๒๕ เมื่อที่ดินพิพาท ทั้งสามแปลงดังกล่าวอยู่ในแนวเขตเวนคืนที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ของประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๒๕ ซึ่งมีผลใช้บังคับเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งออกตามความในมาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๗ แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๔๘๒ ที่ดินส่วนดังกล่าวย่อมถูกเวนคืนตกเป็นของรัฐ ส่วนที่ได้ความว่าเคยมีการจดทะเบียนแบ่งเวนคืนที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๘๒๕ และ ๓๘๓๗ ให้เป็นทางหลวงแผ่นดิน สายธนบุรี.. – ปากท่อ ไปแล้ว จำนวนเนื้อที่ ๒ ไร่ ๙๒ ตารางวา และเนื้อที่ ๖ ไร่ ๓ งาน ๒๖ ตารางวา นั้นเป็นการจดทะเบียนแบ่งเวนคืนเฉพาะที่ดินส่วนที่เป็นถนนดังที่แสดงในแผนผัง R.O.W. เอกสารหมาย ล.๓ ที่ระบายสีน้ำเงิน ส่วนที่โฉนดเลขที่ ๓๘๒๕ และที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๘๓๗ ที่เหลือจากการ จดทะเบียนแบ่งเวนคืนดังกล่าวและที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๐๑๐ ที่ไม่มีการจดทะเบียนแบ่งเวนคืนและเวนคืนดังที่แสดงในเอกสารหมาย ล.๓ ที่ระบายสีแดงเป็นส่วนที่เวนคืนเพื่อใช้สำหรับงานทาง การจดทะเบียนแบ่งเวนคืนและเวนคืนสำหรับที่ดินทั้งสองส่วนนี้จึงอาจกระทำคนละครั้งได้ มิใช่ว่าเมื่อมีการจดทะเบียนแบ่งเวนคืนที่ดินเป็นของจำเลยที่ ๑ และมีการเปิดใช้ทางหลวงแผ่นดินฯ แล้ว จะถือว่าการเวนคืนเสร็จสิ้นและทำให้ที่ดินที่อยู่ภายในแนวเขตเวนคืนที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ ของประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๒๕ ที่ยังมิได้ดำเนินการจดทะเบียนเวนคืน ปลอดพ้นจากการเวนคืนแต่อย่างใด ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงดังกล่าวยังคงเป็นของรัฐอยู่ การดำเนินการของฝ่ายจำเลยแก่ที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวมิใช่เป็นการเวนคืนเพิ่มเติมดังที่โจทก์อ้างในฟ้อง อนึ่ง ถึงแม้แผนผังเอกสารหมาย ล.๓ ระบุว่าที่ดินพิพาททั้งสามแปลงจะใช้เป็นสถานที่ตั้งสถานีบริการเชื้อเพลิง (gas station) อันเป็นปัญหาว่าเป็นการเวนคืนนอกวัตถุประสงค์ของกฎหมายดังที่โจทก์อ้างในฟ้องหรือไม่ ในข้อนี้ศาลฎีกาคณะคดีปกครองเห็นว่า โจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิในที่ดิน ทั้งสามแปลงมิใช่เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสามแปลงในขณะที่มีการเวนคืน หากมีการใช้ที่ดินที่ถูกเวนคืนนอกวัตถุประสงค์ของกฎหมายเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ อันเป็นเหตุให้เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนมีสิทธิอ้างได้ ก็เป็นสิทธิของเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมในขณะที่ที่ดินถูกเวนคืน มิใช่เป็นสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือโฉนดที่ดิน ทั้งสามแปลงดังกล่าวในภายหลัง ดังที่ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๒๒/๒๔๙๕ ระหว่าง เจ้าจอมพิศว์ ในรัชกาลที่ ๕ โจทก์ กระทรวงมหาดไทย จำเลย นางไพโรจน์ ปัจจุสานนท์ ผู้ร้องสอด ข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้ศาลฎีกาคณะคดีปกครองไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสี่ฟังขึ้น โจทก์จึงฟ้องขอให้บังคับตามคำขอ ท้ายฟ้องไม่ได้
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ