คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 137/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ร้องฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งและทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเพื่อจะให้ผู้ร้องเข้ามาขอเฉลี่ยทรัพย์ เป็นการสมคบกับจำเลยเพื่อจะมิให้มีการนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยไปชำระหนี้ให้โจทก์ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ศาลยกคำร้อง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับผิดตามสัญญากู้ และศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับจากวันที่ 16 ตุลาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ โจทก์จึงขอหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดรถยนต์ หมายเลขทะเบียน กค 144 นครศรีธรรมราช ของจำเลยออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 4/2544 ของศาลชั้นต้น ผู้ร้องขอเฉลี่ยทรัพย์หรือเงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นได้จากการขายทอดตลาด
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องกับจำเลยสมคบกันใช้กลฉ้อฉลและทุจริตเพื่อขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีนี้เพราะจำเลยมิได้เป็นหนี้ผู้ร้องทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน ทั้งจำเลยยังมีทรัพย์สินอื่นซึ่งผู้ร้องสามารถบังคับคดีนำมาชำระหนี้ให้เพียงพอได้ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง ให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ให้ผู้ร้องใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,000 บาท แทนโจทก์
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2542 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ต่อมาจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์จำเลยมาชำระหนี้ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2543 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำเลยคือรถยนต์นั่งส่วนบุคคล หมายเลขทะเบียน กค144 นครศรีธรรมราช ออกขายทอดตลาด โดยขายทอดตลาดไปเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2543 ต่อมาวันที่ 9 มกราคม 2544 ผู้ร้องได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 28/2544 และในวันเดียวกันผู้ร้องกับจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยจำเลยยอมชำระเงินจำนวน 300,000 บาท ให้แก่โจทก์ภายในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น แต่จำเลยไม่ชำระ ผู้ร้องจึงเข้ามาขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีนี้ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องจะขอเข้าเฉลี่ยทรัพย์ในคดีนี้ได้หรือไม่ ผู้ร้องนำสืบว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำเลยตามสัญญากู้เงินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 4/2544 ของศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งตามสัญญากู้เงินดังกล่าวระบุว่า จำเลยได้นำใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลหมายเลขทะเบียน กค 144 นครศรีธรรมราช มาวางเป็นประกันไว้กับผู้ร้อง แต่เมื่อตรวจดูใบคู่มือดังกล่าว คือ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 แล้ว ปรากฏว่า จำเลยเพิ่งเป็นเจ้าของในรถยนต์คันดังกล่าวเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2540 ดังนั้น ในวันทำสัญญากู้เงินคือวันที่ 1 พฤษภาคม 2540 จำเลยย่อมไม่มีใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของจำเลยเป็นแน่ จำเลยย่อมไม่อาจนำไปมอบให้ผู้ร้องในวันที่ 1 พฤษภาคม 2540 ได้ สัญญากู้เงินดังกล่าวจึงเป็นพิรุธไม่น่าเชื่อว่าจะมีการทำสัญญากันจริงในวันดังกล่าว นอกจากนี้สัญญากู้เงินระบุว่าจำเลยจะชำระเงินคืนภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2541 แต่เมื่อถึงกำหนดจนถึงวันที่ผู้ร้องมาฟ้องคดีก็ไม่ปรากฏว่ามีการทวงถามแต่อย่างใด และเมื่อพิจารณาถึงวันที่ผู้ร้องมาฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 4/2544 ดังกล่าว คือวันที่ 9 มกราคม 2544 ซึ่งเป็นวันก่อนวันที่จะถึงกำหนดขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีนี้เพียง 2 วัน และในวันดังกล่าวก็มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในวันนั้น โดยตกลงจะชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นในวันดังกล่าว หากจำเลยมีเจตนาจะชำระหนี้ในวันดังกล่าว จำเลยก็จะต้องมีเงินมาชำระในทันทีไม่จำเป็นที่ผู้ร้องต้องมาฟ้องคดีหรือควรถอนฟ้องไป เพื่อมิให้ต้องเสียค่าธรรมเนียมโดยใช่เหตุ ยิ่งเมื่อดูเวลาในวันที่ผู้ร้องนำคดีมายื่นฟ้องแล้วเป็นเวลา 15.30 นาฬิกา จำเลยมาทำสัญญาประนีประนอมยอมความในเวลา 16 นาฬิกา และในวันรุ่งขึ้นผู้ร้องก็นำคำพิพากษาไปขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีนี้ ซึ่งเป็นวันก่อนวันสุดท้ายของการขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีนี้เพียง 1 วัน ดังนั้น เมื่อนำสัญญากู้ยืมเงินที่มีเหตุพิรุธว่าจะไม่ได้กู้เงินกันจริงกับกำหนดเวลาการฟ้องคดีและการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันมาพิจารณาประกอบกับกำหนดเวลาขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีนี้แล้ว เชื่อได้ว่า การที่ผู้ร้องมาฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งและมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเป็นการกระทำเพื่อจะให้ผู้ร้องเข้ามาขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีนี้ เป็นการสมคบกับจำเลยเพื่อจะมิให้มีการนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไปชำระหนี้ให้โจทก์เท่านั้น การกระทำของผู้ร้องเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกคำร้องของผู้ร้องจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ให้ผู้ร้องใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,000 บาท แทนโจทก์

Share