แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ขณะที่โจทก์ร่วมที่ 2 นอนอยู่ที่ห้องโถงซึ่งมีหลอดไฟนีออนขนาดใหญ่เปิดไว้ ได้ยินเสียงคนขึ้นบันไดบ้านจึงลืมตาดู เห็นจำเลยที่ 2 กับคนร้ายอีกสองคน ต่างถืออาวุธปืนสั้นคนละกระบอกเดินขึ้นบันได จำเลยที่ 2เดินเข้าไปในห้องนอนของบุตรสาวโจทก์ร่วมที่ 1ซึ่งอยู่อีกห้องนอนหนึ่ง แล้วจำเลยที่ 2 ออกจากห้องนั้นมาค้นตัวโจทก์ที่ 2 ถามหาทรัพย์สิน จำเลยที่ 2 ให้โจทก์ร่วมนอนตะแคงหันหน้าเข้าข้างฝา จากนั้นจำเลยที่ 2 ลงไปข้างล่าง หลังจากนั้นคนร้ายอีกคนหนึ่งก็พาโจทก์ร่วมที่ 2 ลงมาข้างล่าง ซึ่งมีไฟฟ้าเปิดไว้อยู่แล้ว เห็นจำเลยที่ 2 จะไม่ได้บอกถึง ลักษณะคนร้ายให้โจทก์ร่วมที่ 1 และเจ้าพนักงานตำรวจ ที่มาที่เกิดเหตุฟังก็ไม่พิรุธถึงขนาดที่จะรับฟังไม่ได้ เพราะโจทก์ร่วมที่ 2 ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนถึงลักษณะ ของคนร้าย หลังจากเกิดเหตุในวันนั้นเป็นเวลาไม่นาน ข้อเท็จจริงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าโจทก์ร่วมที่ 2เห็นและจำเลยที่ 2 ได้ว่าเป็นคนร้าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 340, 340 ตรี พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4ประกาศของคณะปฏิบัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514ข้อ 14, 15 และให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินคิดเป็นเงิน 45,450 บาทแก่ผู้เสียหายทั้งสอง จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ระหว่างพิจารณานายสุพจน์ พลสวัสดิ์ ผู้เสียหายที่ 1 และนางอนงค์ จีนสีคงผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาตศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14, 51ให้จำคุก 20 ปี และให้จำเลยที่ 2 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 45,450 บาทแก่โจทก์ร่วมทั้งสอง ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายสามคนร่วมกันปล้นทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์เอกสารหมาย จ.2 รวมราคา 44,600 บาทของโจทก์ร่วมที่ 1 และตามบัญชีทรัพย์เองสารหมาย จ.3 ราคา 850 บาท ของโจทก์ร่วมที่ 2 ไป ในการปล้นทรัพย์คนร้ายสามคนร่วมกันใช้ปืนเป็นอาวุธ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่าจำเลยที่ 2เป็นคนร้ายคนหนึ่งหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว โจทก์มีโจทก์ร่วมทั้งสองและนางสมหมาย จีนสีคง ภรรยาโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นประจักษ์พยานขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมที่ 1 และนางสมหมายจำคนร้ายไม่ได้ส่วนโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งอ้างว่าจำคนร้ายได้คนหนึ่งซึ่งจะต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง พยานจะต้องเบิกความประกอบชอบด้วยเหตุผลจึงจะรับฟังได้ ศาลฎีกาได้พิเคราะห์คำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ 2 แล้ว โจทก์ร่วมที่ 2 เบิกความยืนยันว่าขณะที่พยานนอนอยู่ที่ห้องโถงซึ่งมีหลอดไฟนีออนขนาดใหญ่เปิดไฟไว้ได้ยินเสียงคนขึ้นบันไดบ้านจึงลืมตาดู เห็นจำเลยที่ 2 กับคนร้ายอีกสองคนต่างถืออาวุธปืนสั้นคนละกระบอกเดินขึ้นบันได คนร้ายคนหนึ่งเข้าไปห้องนอนของโจทก์ร่วมที่ 1 คนร้ายอีกคนหนึ่งยืนอยู่ที่หน้าประตู จำเลยที่ 2 เดินเข้าไปในห้องนอนของบุตรสาวโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งอยู่อีกห้องนอนหนึ่ง แล้วจำเลยที่ 2 ออกจากห้องนั้นมาค้นตัวพยานถามหาทรัพย์สิน จำเลยที่ 2 ให้พยานนอนตะแคงหันหน้าเข้าข้างฝา จากนั้นจำเลยที่ 2 ลงไปข้างล่าง ต่อมาคนร้ายที่เข้าห้องนอนโจทก์ร่วมที่ 1 ได้พานางสมหมายออกจากห้องลงไปข้างล่างไม่นานคนร้ายก็พานางสมหมายขึ้นมาเข้าไปในห้อง หลังจากนั้นคนร้ายคนนี้ก็ออกมาค้นตัวพยานถามหาทรัพย์สิน แล้วพาพยานลงมาข้างล่างซึ่งมีไฟฟ้าเปิดไว้อยู่แล้ว ระหว่างนั้นจำเลยที่ 2 ได้เอานาฬิกาแขวนกับเครื่องเทปไปตั้งไว้ที่โต๊ะ ซึ่งโจทก์ร่วมที่ 1 และนางสมหมายก็เบิกความรับรองคำของโจทก์ร่วมที่ 2 ที่ว่าขณะเกิดเหตุห้องโถงที่โจทก์ร่วมที่ 2 นอนอยู่ได้มีหลอดไฟนีออนเปิดไฟไว้อยู่แล้วข้อเท็จจริงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าโจทก์ร่วมที่ 2 มีโอกาสเห็นและสังเกตหน้าตาของจำเลยที่ 2 ได้ชัดเจน ตอนที่จำเลยที่ 2 กับคนร้ายสองคนเดินขึ้นบันไดบ้าน และตอนจำเลยที่ 2 ค้นตัวโจทก์ร่วมที่ 2ถามหาทรัพย์สิน กับอีกช่วงหนึ่งตอนที่โจทก์ร่วมที่ 2 ถูกพาตัวลงไปชั้นล่างคนร้ายเปิดไฟฟ้ารวบรวมทรัพย์อยู่ เห็นจำเลยที่ 2เอานาฬิกาแขวนและเครื่องเล่นเทปไปตั้งไว้ที่โต๊ะ เมื่อจับกุมจำเลยที่ 2 ได้ โจทก์ร่วมที่ 2 ชี้ตัวจำเลยที่ 2 ว่าเป็นคนร้ายตามบันทึกการชี้ตัวผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.4 และภาพถ่ายหมาย จ.5ซึ่งโจทก์มีร้อยตำรวจตรีวินิจฉัย ชมประคต พนักงานสอบสวนเบิกความยืนยันประกอบ พยานหลักฐานดังกล่าวประกอบกันสมเหตุสมผลฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า โจทก์ร่วมที่ 2 จำหน้าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายได้จริง ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งน่าจะรู้จักกับจำเลยที่ 2 มาก่อน หากโจทก์ร่วมที่ 2 เห็นและจำจำเลยที่ 2ได้ว่าเป็นคนร้ายคนหนึ่งได้ หลังเกิดเหตุในวันนั้น โจทก์ร่วมที่ 2น่าจะบอกเล่าให้โจทก์ร่วมที่ 1 และเจ้าพนักงานตำรวจที่มาที่เกิดเหตุฟัง แต่โจทก์ร่วมที่ 2 หาได้กระทำไม่จึงไม่น่าเชื่อว่าโจทก์ร่วมที่ 2 เห็นและจำคนร้ายได้นั้น ความข้อนี้โจทก์ร่วมที่ 2 เบิกความยืนยันว่า ไม่เคยรู้จักกับจำเลยที่ 2 มาก่อนและตอนตอบทนายโจทก์ร่วมถามติงก็เบิกความยืนยันว่า ตอนพยานมาบ้านโจทก์ร่วมที่ 1 พยานไม่เคยไปพูดคุยกับเพื่อนบ้านข้างเคียงและไม่เคยไปนั่งที่บ้านคนอื่นเลย ที่พยานไม่ได้บอกถึงตัวคนร้ายขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจมาที่เกิดเหตุนั้น เนื่องจากพยานต้องเตรียมหุงข้าวและเตรียมตัวให้เด็กไปโรงเรียนโดยเจ้าพนักงานตำรวจมาถามพยานเพียงแต่ว่า มีคนร้ายกี่คนและตอนตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านก็เบิกความยืนยันว่าพยานไปให้การต่อเจ้าพนักงานตำรวจในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 9 นาฬิกาถึงลักษณะเสื้อผ้าของคนร้ายและคนร้ายรูปร่างสูงซึ่งร้อยตำรวจตรีวินิจฉัย พนักงานสอบสวนเบิกความรับรองคำของโจทก์ร่วมที่ 2 ตอนตอบโจทก์ถามติงว่า โจทก์ร่วมที่ 2บอกรูปพรรณสัณฐานของคนร้ายพยานได้บันทึกไว้ในเอกสารหมาย จ.17จากคำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ 2 ดังกล่าวเห็นว่า ข้อเท็จจริงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า โจทก์ร่วมที่ 2 ไม่เคยรู้จักกับจำเลยที่ 2มาก่อน แม้โจทก์ร่วมที่ 2 จะไม่ได้บอกถึงลักษณะคนร้ายให้โจทก์ร่วมที่ 1 และเจ้าพนักงานตำรวจที่มาที่เกิดเหตุฟังก็ไม่เป็นพิรุธถึงขนาดที่จะไม่รับฟังเสียเลยทีเดียว เพราะโจทก์ร่วมที่ 2 ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนถึงลักษณะของคนร้ายหลังจากเกิดเหตุในวันนั้นเป็นเวลาไม่นานนัก ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่ามีสาเหตุกับโจทก์ร่วมที่ 1เนื่องจากจำเลยที่ 2 ให้ที่พักแก่เพื่อนที่พาน้องภรรยาของโจทก์ร่วมที่ 1 ลอบหนีนั้น เห็นว่าโจทก์ร่วมที่ 1 จำหน้าคนร้ายไม่ได้อยู่แล้ว สาเหตุโกรธเคืองดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา จึงไม่เป็นสาระอันควรวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยที่ 2 นำสืบอ้างฐานที่อยู่นั้นไม่มีน้ำหนักพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้เชื่อว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายดังกล่าวคนหนึ่ง ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน