แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องเรียกเงินราคาค่าไม้สักที่จำเลยได้รับล่วงหน้าไปคืน ไม่ใช่ฟ้องเรียกเอาค่าที่โจทก์ส่งมอบของ ทำของและค่าดูแลกิจการของผู้อื่น รวมทั้งค่าที่ได้ออกเงินทดรองไป จึงนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) มาบังคับไม่ได้ ต้องใช้อายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาขายไม้สัก ๒,๐๐๐ ท่อน ให้แก่โจทก์ จำเลยผิดสัญญาส่งไม้ไม่ครบ ได้คิดบัญชีกันปรากฏว่าจำเลยได้รับเงินไปจากโจทก์ ๒๖๔,๐๐๐ บาท จำเลยส่งไม้ให้แก่โจทก์คิดเป็นเงิน ๑๖๕,๔๔๐ บาท จำเลยจึงได้รับเงินเกินไป ๙๘,๕๖๐ บาท
จำเลยรับว่า เมื่อคิดบัญชีกันจำเลยได้รับเงินเกินมา ๙๘,๕๖๐ บาทจริง ต่อมาจำเลยได้ชำระครบถ้วนแล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์แล้วพิพากษาว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้ขายได้รับเงินล่วงหน้าไปจากโจทก์ผู้ซื้อ ซึ่งมีความหมายตรงกับเงินทดรองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕(๑) คดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เงินที่จำเลยรับเกินไปนี้ คือ เงินล่วงหน้าค่าไม้ซึ่งโจทก์จ่ายให้จำเลยนั่นเอง ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินทดรองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕(๑) จะใช้อายุความ ๒ ปี มาปรับแก่คดีไม่ได้ ต้องใช้อายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔ พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องเรียกเงินราคาค่าไม้สักที่จำเลยได้รับล่วงหน้าเกินไป ไม่ใช่ฟ้องเรียกเอาค่าที่โจทก์ได้ส่งมอบของทำของและค่าดูแลกิจการของผู้อื่นรวมทั้งค่าที่ได้ออกเงินทดรองไป ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕(๑) แต่อย่างใด จะนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕(๑) มาใช้บังคับแก่คดีนี้หาได้ไม่ ต้องใช้อายุความ ๑๐ ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔ บังคับ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน