คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13570/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่อนุญาโตตุลาการตีความว่าคู่สัญญามีเจตนาที่แท้จริงและแน่นอนว่าจะให้มีการใช้อนุญาโตตุลาการภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายไทยในการระงับข้อพิพาท และตีความให้ใช้ พ.ร.บ อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันบังคับนั้น เป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบของอนุญาโตตุลาการและมิใช่เป็นการใช้อำนาจนอกขอบเขตอำนาจ ทั้งไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ผู้คัดค้านยื่นข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.2005 (พ.ศ.2548) แต่ผู้คัดค้านพิมพ์ปีที่ยื่นข้อเรียกร้องเป็น ค.ศ.2004 (พ.ศ.2547) อนุญาโตตุลาการจึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า นับตั้งแต่การชำระเงินครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2546 จนถึงวันที่ผู้เรียกร้อง (ผู้คัดค้าน) ยื่นข้อเรียกร้องต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2547 สิทธิเรียกร้องของผู้เรียกร้อง (ผู้คัดค้าน) ไม่ขาดอายุความ แต่ความจริงผู้คัดค้านยื่นข้อเรียกร้องต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ซึ่งสิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านสิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2548 แล้ว ผู้คัดค้านยื่นข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2548 จึงขาดอายุความ เมื่อคู่พิพาทตกลงให้ใช้กฎหมายไทยในการระงับข้อพิพาทและข้อพิพาทนี้เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างทำของซึ่งมีกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ มาตรา 193/34 (1) การชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2546 เป็นการรับสภาพหนี้ด้วยการชำระหนี้บางส่วน ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/14 (1) และเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น อายุความการใช้สิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านจึงสิ้นสุดวันที่ 16 พฤษภาคม 2548 เมื่อผู้คัดค้านไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องภายในระยะเวลาดังกล่าวสิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านจึงเป็นอันขาดอายุความ ผู้ร้องมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ การที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นเรื่องอายุความโดยผิดหลงเช่นนี้หากมีการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มีเหตุให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเสียตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 (2) (ข) และกรณีเช่นนี้ไม่ถือว่าต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นตามมาตรา 45 (1) ผู้ร้องจึงมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องอนุญาโตตุลาการชี้ขาดประเด็นข้อกฎหมายเรื่องอายุความว่านับตั้งแต่การชำระเงินครั้งสุดท้ายซึ่งเป็นการชำระหนี้ตามสัญญาก่อสร้างระหว่างคู่สัญญาเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2546 และผู้เรียกร้อง (ผู้คัดค้าน) ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2547 จึงชี้ขาดว่า ผู้เรียกร้อง (ผู้คัดค้าน)ยังคงมีสิทธิที่จะนำสิทธิเรียกร้องมายื่นต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ โดยไม่เป็นการขาดอายุความโดยความเป็นจริงแล้ว คดีนี้ผู้คัดค้านยื่นข้อเรียกร้องในปี 2548 อายุความการใช้สิทธิตามสัญญาย่อมสิ้นสุดลงในวันที่ 16 พฤษภาคม 2548 แต่ผู้คัดค้านได้ทำหนังสือมอบอำนาจและยื่นข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2548 มิใช่วันที่ 15 สิงหาคม 2547 ดังที่อนุญาโตตุลาการหยิบยกข้อเท็จจริงมาวินิจฉัย ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการคดีหมายเลขแดงที่ 25/2550
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า มีเหตุให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือไม่ เห็นว่า การที่อนุญาโตตุลาการตีความว่าคู่สัญญามีเจตนาที่แท้จริงและแน่นอนว่าจะให้มีการใช้อนุญาโตตุลาการภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายไทยในการระงับข้อพิพาท และตีความให้ใช้พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันบังคับนั้น เป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบของอนุญาโตตุลาการและมิใช่เป็นการใช้อำนาจนอกขอบเขตอำนาจ ทั้งไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ส่วนฎีกาของผู้ร้องที่ว่า อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดว่าสิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านไม่ขาดอายุความนั้นเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดโดยผิดหลงเนื่องจากอาศัยข้อเท็จจริงที่ผู้คัดค้านยื่นข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.2005 (พ.ศ.2548) แต่ผู้คัดค้านพิมพ์ปีที่ยื่นข้อเรียกร้องเป็น ค.ศ.2004 (พ.ศ.2547) อนุญาโตตุลาการจึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า นับตั้งแต่การชำระเงินครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2546 จนถึงวันที่ ผู้เรียกร้อง (ผู้คัดค้าน) ยื่นข้อเรียกร้องต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2547 สิทธิเรียกร้องของผู้เรียกร้อง (ผู้คัดค้าน) ไม่ขาดอายุความ แต่ความจริงผู้คัดค้านยื่นข้อเรียกร้องต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ซึ่งสิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านสิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2548 แล้ว ผู้คัดค้านยื่นข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2548 จึงขาดอายุความ นั้น เห็นว่าตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ อนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดไว้ในเบื้องต้นประเด็นเรื่องอายุความสิทธิเรียกร้องของผู้เรียกร้อง (ผู้คัดค้าน) ว่า “นับตั้งแต่การชำระเงินครั้งสุดท้ายซึ่งดำเนินการตามสัญญาก่อสร้างระหว่างคู่สัญญาถูกทำเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2546 (ปรากฏตามเอกสารแนบหมายเลข 7 ของพยานเอกสารของผู้ร้อง) และผู้เรียกร้องยื่นข้อเรียกร้องต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2547 ยังคงมีสิทธิที่จะนำสิทธิเรียกร้องมายื่นต่อ ผู้ตัดสินพิจารณาพิพากษาอรรถคดีและกระบวนพิจารณาตัดสินนี้ได้ ไม่ถูกสกัดกั้นโดยระยะเวลาของอายุความ ดังนั้น ผมปฏิเสธข้อเรียกร้องของผู้คัดค้านในการพิจารณาเรื่องนี้” แสดงว่าผู้ร้องได้หยิบยกประเด็นเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้ไว้แล้ว ผู้ร้องจึงมีสิทธิยกประเด็นเรื่องอายุความขึ้นอ้างเพื่อให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ เมื่อพิจารณาใบรับ ปรากฏว่าสถาบันอนุญาโตตุลาการรับข้อเรียกร้องหรือคำเสนอข้อพิพาทของผู้คัดค้านไว้เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.2005 (พ.ศ.2548) แต่ข้อเรียกร้องหรือคำเสนอข้อพิพาทของผู้คัดค้าน กลับพิมพ์วันเดือนปีที่ยื่นว่า วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.2004 (พ.ศ.2547) ซึ่งพิมพ์ปีที่ยื่นไม่ถูกต้อง ดังนั้น การที่อนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นเรื่องอายุความว่า สิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านไม่ขาดอายุความโดยฟังข้อเท็จจริงว่าผู้คัดค้านยื่นข้อเรียกร้องหรือคำเสนอข้อพิพาทเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.2005 (พ.ศ.2548) จึงเป็นการฟังข้อเท็จจริงที่ผิดไปจากที่ปรากฏในสำนวน เมื่อคู่พิพาทตกลงให้ใช้กฎหมายไทยในการระงับข้อพิพาทและข้อพิพาทนี้เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างทำของซึ่งมีกำหนดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) การชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2546 เป็นการรับสภาพหนี้ด้วยการชำระหนี้บางส่วน ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/14 (1) และเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น อายุความการใช้สิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านจึงสิ้นสุดวันที่ 16 พฤษภาคม 2548 เมื่อผู้คัดค้านไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องภายในระยะเวลาดังกล่าวสิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านจึงเป็นอันขาดอายุความ ผู้ร้องมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ การที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นเรื่องอายุความโดยผิดหลงเช่นนี้หากมีการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มีเหตุให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเสียตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 (2) (ข) และกรณีเช่นนี้ไม่ถือว่าต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นตามมาตรา 45 (1) ผู้ร้องจึงมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในคดีหมายเลขดำที่ 90/2548 หมายเลขแดงที่ 25/2550 ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม เสีย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share