คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 175/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยยักยอกเงินของบริษัท แต่ขณะที่ฟ้องนี้โจทก์เป็นเพียงผู้ถือหุ้น โดยถ้อยคำและความหมายย่อมชัดเจนอยู่ว่าไม่ใช่ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของบริษัทอันจะฟ้องความหรือจัดการแทนบริษัทในคดีอาญาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (3) จะขอให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาบังคับก็ไม่มีทางจะอนุโลมได้ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 ที่โจทก์อ้างมาก็เป็นเรื่องฟ้องเรียกเอาสินไหมทดแทนแก่กรรมการอันเป็นเรื่องทางแพ่ง
ศาลไม่จำเป็นจะต้องวินิจฉัยปัญหาทุกข้อ เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทำผิดจริงตามฟ้องแล้ว จะไม่วินิจฉัยข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้องก็ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า (ก) จำเลยที่ ๒ ลักใบเสร็จรับเงินค่าโดยสารเครื่องบินของโจทก์ที่ ๒ ไป (ข) จำเลยทั้งสองสมคบกันปลอมใบสั่งจ่ายเงินเท็จว่าโจทก์ที่ ๒ ไปต่างประเทศในกิจธุระของบริษัทเพื่อนำไปเบิกเงินจากบริษัท โดยจำเลยที่ ๑ สั่งให้จำเลยที่ ๒ เบิกได้ แล้วจำเลยที่ ๒ เอาใบสั่งจ่ายของบริษัท แล้วสมคบกันยักยอกเอาเงินนั้นเสีย ทำให้บริษัทและผู้ถือหุ้นโดยเฉพาะโจทก์ที่ ๒ เสียหาย กรรมการผู้อำนวยการของบริษัทไม่ฟ้องร้องว่ากล่าวจำเลย โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ จึงฟ้องจำเลยโดยอาศัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๖๙ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๘ ของให้ลงโทษ
โจทก์ร่วมที่ ๑ และที่ ๒ ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม โดยอ้างบทกฎหมายอย่างโจทก์เดิม และว่าเป็นผู้เสียหายจากการกระทำของจำเลยด้วย โดยเฉพาะเงินที่จำเลยยักยอกไปนั้นมีเงินปันผลส่วนได้ของโจทก์ร่วมที่ ๒ รวมอยู่ด้วย ศาลอนุญาต
จำเลยให้การตัดฟ้องว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจดำเนินคดีเพราะโจทก์ที่ ๑ เป็นนิติบุคคล ต้องมีกรรมการบริหารเป็นตัวแทน นายอัญไม่ใช่กรรมการ ไม่มีอำนาจทำการแทนบริษัท ส่วนโจทก์ที่ ๒ และโจทก์ร่วมก็ไม่มีอำนาจดำเนินคดีเพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๖๙ บัญญัติให้ผู้ถือหุ้นฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการผู้ทำความเสียหายแก่บริษัท ซึ่งเป็นทางแพ่งมิใช่ทางอาญาและจำเลยปฏิเสธการกระทำผิดดังที่โจทก์หา
ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ ไม่มีอำนาจดำเนินคดีเฉพาะฟ้องข้อ (ข) ได้แต่โจทก์ที่ ๒ ดำเนินคดีฟ้องตามข้อ (ก) ได้ และฟังว่าจำเลยที่ ๒ มีความผิดฐานลักทรัพย์ พิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๒ ฐานนี้ ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ ให้หนักขึ้น และขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้อง
จำเลยทั้งสองอุธรณ์ขอให้ยกฟ้องในปัญหาตัดฟ้องและในปัญหาข้อเท็จจริงเรื่องลักทรัพย์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าข้อหาว่าจำเลยที่ ๒ ลักทรัพย์ฟังไม่ได้ ส่วนข้อหาอื่นตามข้อ (ข) ฟังว่าโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงไม่สมฟ้อง ไม่ต้องวินิจฉัยข้อกฎหมาย พิพากษาแก้ให้ยกฟ้อง ปล่อยจำเลยที่ ๒
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาว่าศาลอุทธรณืจะต้องวินิจฉัยข้อกฎหมายเรื่องอำนายฟ้องเสียก่อนแล้วจึงวินิจฉัยข้อเท็จจริง โจทก์มีอำนาจฟ้องแทนบริษัทได้ ข้อเท็จจริงโจทก์นำสืบสมขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในชั้นอุทธรณ์มีทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ถ้ามี จำเลยได้ทำผิดจริงตามฟ้องหรือไม่ แต่เพราะศาลอุทธรณ์เห็นว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้แล้ว หมายความว่า ถึงแม้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลย ๆ ก็ไม่ต้องรับโทษ จึงไม่วินิจฉัยข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยว่าศาลไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยปัญหาทุกข้อ
การฟ้องความหรือจัดการแทนผู้เสียหายในคดีอาญา ถ้าผู้เสียหายเป็นนิติบุคคล จะต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๕ (๓) กรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้องข้อ (ข) นี้ ก็ต้องอยู่ภายใต้มาตรานี้ด้วย ขณะที่ฟ้องโจทก์เป็นเพียงผู้ถือหุ้น ทั้งโดยถ้อยคำและความหมายย่อมชัดเจนอยู่ว่ามิใช่ผู้จัดการหรือตัวแทน เมื่อความหมายชัดเจนอยู่แล้ว ที่โจทก์ขอให้นทบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจขารณาความแพ่งมาบังคับ จึงไม่มีทางที่จะอนุโลมได้ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๖๙ ที่โจทก์อ้างมาก็เป็นเรื่องฟ้องเรียกเอาสินไหมทดแทนแก่กรรมการอันเป็นทางแพ่ง โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีอำนาจดำเนินคดีอาญาตามฟ้องข้อ (ข) ไม่ต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็นข้อนี้ต่อไป ส่วนฟ้องข้อ (ก) เรื่องลักทรัพย์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าข้อนำสืบของโจทก์ยังน่าสงสัยอยู่ พยานจำเลยสามารถหักล้างได้ พิพากษายืน

Share