แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ตามกฎหมายดังกล่าวมาตรา 46 วรรคสอง กำหนดให้คณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรรเป็นผู้ดำเนินกิจการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร คณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรรจึงทำหน้าที่เป็นผู้แทนนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์โดยที่ประชุมคณะกรรมการมีมติมอบอำนาจให้ ส. ฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองเพื่อบังคับชำระหนี้ค่าสาธารณูปโภคและค่าบริการสาธารณะ อันเป็นกิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 50 เป็นบทบัญญัติกำหนดมาตรการในการลงโทษด้วยการจำกัดสิทธิบางประการแก่สมาชิกผู้ที่ค้างชำระค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายกำหนด หาได้บัญญัติว่าหากโจทก์ใช้มาตรการดังกล่าวแล้วจะถูกจำกัดมิให้ใช้สิทธิทางศาลเพื่อฟ้องร้องบังคับเอาแก่จำเลยทั้งสองอีกแต่อย่างใดไม่ ดังนั้นเมื่อปรากฏจำเลยทั้งสองยังคงค้างชำระหนี้ดังกล่าว โจทก์ย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลฟ้องร้องจำเลยทั้งสองได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 19,281 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 18,781 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้น 1,200 บาท และในศาลอุทธรณ์ 600 บาท แทนโจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 46 วรรคสอง บัญญัติให้นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมีคณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรรเป็นผู้ดำเนินกิจการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตามกฎหมายและข้อบังคับของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรภายใต้การควบคุมดูแลของที่ประชุมใหญ่ของสมาชิก อันเป็นการกฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรรทำหน้าที่เป็นผู้แทนนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรในกิจการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งความประสงค์ของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 วรรคสอง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรศุภาลัยธานีผู้เป็นโจทก์โดยที่ประชุมคณะกรรมการของโจทก์มีมติมอบอำนาจให้นายสนั่น ฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองเพื่อบังคับชำระหนี้ค่าจัดการดูแลรักษาสาธารณูปโภค และบริการสาธารณะ อันเป็นกิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ตามสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการของโจทก์ เมื่อวันที่9 ตุลาคม 2548 ถือได้ว่าการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแก่จำเลยทั้งสองเป็นไปโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 50 เป็นกฎหมายพิเศษที่กำหนดมาตรการบังคับแก่สมาชิกผู้ค้างชำระเงินค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคไว้โดยเฉพาะแล้วว่าผู้ที่ค้างชำระเงินค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคติดต่อกันตั้งแต่สามเดือนขึ้นไป อาจถูกระงับการให้บริการหรือการใช้สิทธิในสาธารณูปโภคและในกรณีที่ค้างชำระติดต่อกันตั้งแต่หกเดือนขึ้นไป พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินจัดสรรของผู้ค้างชำระจนกว่าจะชำระให้ครบถ้วนเมื่อโจทก์ดำเนินการระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินจัดสรรแก่จำเลยทั้งสองแล้วจึงไม่มีอำนาจฟ้องอีกนั้น เห็นว่า บัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงการกำหนดมาตรการในทางลงโทษด้วยการจำกัดสิทธิบางประการแก่สมาชิกผู้ที่ค้างชำระค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น หาได้บัญญัติว่าหากโจทก์ใช้มาตรการบังคับดังกล่าวแล้วจะถูกจำกัดไม่ให้ใช้สิทธิทางศาลเพื่อฟ้องร้องบังคับเอาแก่จำเลยทั้งสองอีก แต่อย่างใดไม่ ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองยังคงค้างชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ