คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 866/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 61 (เดิม) ที่ใช้ในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ระบุเพียงว่า “เมื่อความปรากฏว่าได้ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์… ให้แก่ผู้ใดโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้ดำรงตำแหน่งต่อไปนี้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งเพิกถอนแก้ไข…(2) ผู้ว่าราชการจังหวัด สำหรับจังหวัดอื่น…” หมายความว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดนอกจากกรุงเทพมหานครเป็นผู้มีอำนาจสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกผิดพลาดนั้นได้ ซึ่งเป็นอำนาจทางปกครองเท่านั้น ส่วนอำนาจในการฟ้องร้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกโดยไม่ชอบนั้นกฎหมายไม่ได้ระบุว่าเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดแต่เพียงผู้เดียว ทั้งตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 มาตรา 67, 117, 122 ประกอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 62 บัญญัติกำหนดให้อำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินสาธารณะประโยชน์อันเป็นของกลางสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันนั้นเป็นของนายอำเภอ เมื่อจำเลยครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 29 ที่โจทก์อ้างว่าออกทับที่สาธารณประโยชน์ “หนองหว้า” ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน โจทก์ซึ่งเป็นนายอำเภอเมืองยโสธรจึงมีอำนาจฟ้องห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวนั้นได้ และหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 29 ที่ออกให้ในนาม ว. นั้นออกโดยผิดพลาดไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ก็ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์นั้นได้ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 61 วรรคท้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 29 ตำบลน้ำคำใหญ่ อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร เนื้อที่ 4 ไร่ ที่ออกให้ในนามนายวันดีทั้งแปลง ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์ฟ้องมีใจความสรุปได้ว่า โจทก์มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในเขตอำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร มีหน้าที่ดูแลรักษาที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 29 ตำบลน้ำคำใหญ่ อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร เนื้อที่ 4 ไร่ ที่ออกให้นายวันดี นั้น เป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่สาธารณประโยชน์ “หนองหว้า” ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน หนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 29 ดังกล่าวออกทับที่สาธารณประโยชน์ “หนองหว้า” จึงออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนายวันดีถึงแก่ความตาย จำเลยซึ่งเป็นบุตรได้เข้าครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวต่อมา จึงเป็นการครอบครองที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีคำขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 29 ดังกล่าว ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 29 ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินด้วย จำเลยให้การต่อสู้สรุปได้ว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 29 ที่ทางราชการออกให้นายวันดี นั้นไม่ใช่ที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แต่เป็นที่ดินของนายวันดี และทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้นายวันดีโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เช่นนี้ ประเด็นหลักหรือประเด็นสำคัญแห่งคดี คือ ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 29 ที่ออกให้ในนามนายวันดี เป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันหรือไม่ เพราะหากฟังว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันแล้ว บุคคลใดรวมทั้งจำเลยและบริวารก็ไม่สามารถเข้าครอบครองยึดถือที่ดินดังกล่าวเป็นของตนได้ นายอำเภอก็ไม่มีอำนาจที่จะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่ผู้ใดได้ การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 29 จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นประเด็นต่อเนื่องมาจากประเด็นดังกล่าว ดังนั้นการขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 29 จึงหาใช่ประเด็นหลักหรือประเด็นสำคัญแห่งคดีดั่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยไม่ และตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61 (เดิม) ที่ใช้ในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ก็ระบุเพียงว่า “เมื่อความปรากฏว่าได้ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์…ให้แก่ผู้ใดโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้ดำรงตำแหน่งต่อไปนี้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งเพิกถอนแก้ไข…(2) ผู้ว่าราชการจังหวัด สำหรับจังหวัดอื่น…” หมายความว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดนอกจากกรุงเทพมหานครเป็นผู้มีอำนาจสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกผิดพลาดนั้นได้ ซึ่งเป็นอำนาจทางปกครองเท่านั้น ส่วนอำนาจในการฟ้องร้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกโดยไม่ชอบนั้น กฎหมายก็หาได้ระบุว่าเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดแต่เพียงผู้เดียวไม่ ทั้งตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 มาตรา 67, 117, 122 ประกอบพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 62 บัญญัติกำหนดให้อำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินสาธารณประโยชน์ อันเป็นของกลางสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันนั้นเป็นของนายอำเภอ เมื่อจำเลยครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 29 ที่โจทก์อ้างว่าออกทับที่สาธารณประโยชน์ “หนองหว้า” ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน โจทก์ซึ่งเป็นนายอำเภอเมืองยโสธรจึงมีอำนาจฟ้องห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวนั้นได้ และหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 29 ที่ออกให้ในนามนายวันดีนั้นออกโดยผิดพลาดไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ก็ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์นั้นได้ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61 วรรคท้าย ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 29 ที่พิพาทนั้นเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันหรือไม่ และฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาด จึงสมควรย้อนสำนวนให้ศาลล่างทั้งสองพิจารณาพิพากษาในประเด็นดังกล่าวเสียก่อน
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาในประเด็นที่ยังมิได้วินิจฉัยตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งในคำพิพากษา

Share