คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6337/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามข้อตกลงในเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.2 ทั้งสองฝ่ายแสดงเจตนาว่า จะหย่ากันตามกฎหมาย โดยจะไปจดทะเบียนหย่ากันต่อไป ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1514, 1515 และ 1532 บัญญัติความว่า การหย่านั้นจะทำได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย… การหย่าโดยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน เมื่อได้จดทะเบียนสมรส… การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว และเมื่อหย่ากันแล้วให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยา…ตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า จึงเป็นที่เห็นได้ว่าเมื่อหญิงชายได้สมรสกันแล้วตามกฎหมาย ความสัมพันธ์เชิงทรัพย์สินของทั้งสองฝ่ายมิได้มีเพียงที่เป็นสินสมรสและที่แยกไว้เป็นสินส่วนตัวเท่านั้น ยังมีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ ที่สามีภริยามีต่อกันและมีต่อบุคคลภายนอกซึ่งกฎหมายจะต้องให้ความคุ้มครองด้วย ดังเห็นได้จากบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะครอบครัว เหตุนี้ เมื่อจะตกลงยุติความสัมพันธ์ฉันสามีภริยา กฎหมายจึงกำหนดให้สามีภริยาต้องทำความตกลงเป็นหนังสือ ต้องมีพยานอีกอย่างน้อยสองคนลงลายมือชื่อเป็นพยาน และยังต้องจดทะเบียนการหย่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย ทั้งนี้ก็เพราะกฎหมายมิได้ต้องการเพียงความแน่นอนในการแสดงเจตนาการหย่าระหว่างสามีกับภริยาเท่านั้น แต่เพื่อให้เป็นที่รับรู้และอ้างอิงแก่บุคคลภายนอกได้ด้วย โดยบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว จึงทำให้ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยในเรื่องการแบ่งทรัพย์สินตามที่ได้ระบุไว้นั้นยังไม่มีผลระหว่างกันตราบใดที่ยังไม่ได้จดทะเบียนการหย่า และแม้จำเลยจะสั่งจ่ายเช็คให้ไว้แก่โจทก์หลังจากทำข้อตกลงดังกล่าวแล้ว เช็คฉบับนี้ก็มีสถานะเป็นเพียงตราสารแทนค่าการแบ่งทรัพย์สินที่เป็นตัวเงินไว้ล่วงหน้า ก่อนเวลาที่การหย่าโดยความยินยอมจะได้จดทะเบียนมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย เพื่อจัดการแบ่งทรัพย์สินตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่าต่อไป แต่เมื่อโจทก์กับจำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนการหย่า มูลหนี้ตามเช็คก็ยังไม่อาจที่จะบังคับกันได้เพราะยังไม่อาจรู้ได้ว่า ณ เวลาใดจะเป็นเวลาที่จดทะเบียนการหย่า จำเลยจึงยังไม่ต้องรับผิดตามเช็ค

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 2,147,068 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงิน 2,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 พฤศจิกายน 2549) ต้องไม่เกิน 147,068 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า เช็คพิพาทมีมูลหนี้ที่จะบังคับกันได้หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า แม้บันทึกข้อตกลงจะมีผลใช้บังคับได้ แต่เมื่อโจทก์กับจำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนการหย่า การสมรสจึงยังไม่สิ้นสุด จึงไม่อาจแบ่งทรัพย์สินและสินสมรสระหว่างสามีภริยาได้ เห็นว่า ตามข้อตกลง ทั้งสองฝ่ายแสดงเจตนาว่า จะหย่ากันตามกฎหมาย โดยจะไปจดทะเบียนหย่ากันต่อไป ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514, 1515 และ 1532 บัญญัติความว่า การหย่านั้นจะทำได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย… การหย่าโดยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน เมื่อได้จดทะเบียนสมรส… การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว และเมื่อหย่ากันแล้วให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยา… ตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า จึงเป็นที่เห็นได้ว่า เมื่อหญิงชายได้สมรสกันแล้วตามกฎหมาย ความสัมพันธ์ในเรื่องทรัพย์สินของทั้งสองฝ่ายมิได้มีเพียงที่เป็นสินสมรสและที่แยกไว้เป็นสินส่วนตัวเท่านั้น ยังมีสิทธิหน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ ที่สามีภริยามีต่อกันและมีต่อบุคคลภายนอกซึ่งกฎหมายจะต้องให้ความคุ้มครองด้วย ดังเห็นได้จากบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะครอบครัว เหตุนี้ เมื่อจะตกลงยุติความสัมพันธ์ฉันสามีภริยา กฎหมายจึงกำหนดให้สามีภริยาต้องทำความตกลงเป็นหนังสือ ต้องมีพยานอีกอย่างน้อยสองคนลงลายมือชื่อเป็นพยาน และยังต้องจดทะเบียนการหย่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย ทั้งนี้ก็เพราะกฎหมายมิได้ต้องการเพียงความแน่นอนในการแสดงเจตนาหย่าระหว่างสามีกับภริยาเท่านั้น แต่เพื่อให้เป็นที่รับรู้และอ้างอิงแก่บุคคลภายนอกได้ด้วย ศาลฎีกาจึงเห็นว่า โดยบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว จึงทำให้ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยในเรื่องการแบ่งทรัพย์สินตามที่ได้ระบุไว้นั้นยังไม่มีผลระหว่างกันตราบใดที่ยังไม่ได้จดทะเบียนการหย่า และแม้จำเลยจะสั่งจ่ายเช็คให้ไว้แก่โจทก์หลังจากทำข้อตกลงดังกล่าวแล้ว เช็คฉบับนี้ก็มีสถานะเป็นเพียงตราสารแทนค่าการแบ่งทรัพย์สินที่เป็นตัวเงินไว้ล่วงหน้า ก่อนเวลาที่การหย่าโดยความยินยอมจะได้จดทะเบียนมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย เพื่อจัดการแบ่งทรัพย์สินตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่าต่อไป แต่เมื่อโจทก์กับจำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนการหย่า มูลหนี้ตามเช็คก็ยังไม่อาจที่จะบังคับกันได้เพราะยังไม่อาจรู้ได้ว่า ณ เวลาใดจะเป็นเวลาที่จดทะเบียนการหย่า จำเลยจึงยังไม่ต้องรับผิดตามเช็ค ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามาจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลนี้ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share