แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ในคำบรรยายฟ้องของโจทก์จะกล่าวอ้างเพียงว่า จำเลยทั้งสองไปคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์ต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยไม่ระบุว่าเป็นที่ดินที่มีหลักฐานแสดงถึงสิทธิการครอบครองแปลงใดก็ตาม แต่เมื่อจำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามส.ค.1 เลขที่ 180 โจทก์ก็ไม่ปฏิเสธว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินแปลงอื่นแต่กลับแถลงรับในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นว่า ที่ดินพิพาทตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดินของโจทก์เป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินพิพาทซึ่งคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2294/2522ดังนั้น ที่โจทก์ฎีกาว่า ที่ดินพิพาทในคดีนี้เป็นที่ดินแปลงอื่นจึงขัดกับข้อเท็จจริงที่โจทก์แถลงรับในคดี และโจทก์จะฎีกาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินแปลงอื่นไม่ได้ เมื่อปรากฏว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินพิพาทในคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2294/2522 ซึ่งวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายยิ้ม จึงเป็นคำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงความเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทของทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายมิ้มที่ผูกพันโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ได้แสดงสิทธิอื่นขึ้นใหม่โจทก์จะนำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 2 บุตรของนายมิ้มซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 ชั้นผู้สืบสันดาน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1629 ผู้มีสิทธิรับมรดกของนายมิ้มขอให้ขับไล่จำเลยที่ 2ออกจากที่ดินพิพาทไม่ได้ เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ส่วนจำเลยที่ 1ต่อสู้คดีโดยอ้างว่า เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลยที่ 2จึงเป็นคำให้การที่อาศัยสิทธิของจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กับบริวารปลูกบ้านเรือนอยู่อาศัยในที่ดินมือเปล่า อันเป็นที่สวนของโจทก์ โดยไม่ได้จดทะเบียนอาศัยโจทก์ขอออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าว แต่จำเลยทั้งสองร่วมกันคัดค้านการออกโฉนดต่อเจ้าพนักงานที่ดิน โดยอ้างว่า ได้รับยกให้ที่ดินพิพาทจากนายมิ้ม บุดดีตุ้ย บิดาจำเลยทั้งสอง การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองมิให้รบกวนและแย่งการครอบครองที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และบริวารรื้อเรือนออกจากที่ดินของโจทก์ ระหว่างที่ยังไม่รื้อเรือนให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 1 กับบริวารจะรื้อเรือนออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ไม่เคยขอซื้อหรืออาศัยที่ดินของโจทก์ปลูกเรือน นายมิ้ม บุดดีตุ้ย ได้ยกที่ดินให้แก่จำเลยทั้งสองเพื่อเป็นที่ปลูกเรือนโดยให้เป็นเจ้าของร่วมกัน จำเลยที่ 1ครอบครองทำประโยชน์เพื่อตนเองและแทนจำเลยที่ 2 มาเป็นเวลา20 ปีแล้ว โจทก์เคยฟ้องผู้จัดการมรดกของนายมิ้มว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ไม่ใช่มรดกของนายมิ้ม คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นมรดกของนายมิ้ม โจทก์ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท คดีดังกล่าวกับคดีนี้มีคู่ความรายเดียวกัน ประเด็นพิพาทอ้างเหตุเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์และจำเลยทั้งสองแถลงรับว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินพิพาทในคดี ซึ่งถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2294/2522 และโจทก์รับว่าจำเลยที่ 2เป็นบุตรนายมิ้ม จำเลยที่ 1 เป็นน้องสาวนายมิ้มจริง ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยทั้งสอง 800 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า แม้ในคำบรรยายฟ้องของโจทก์จะกล่าวอ้างเพียงว่า จำเลยทั้งสองไปคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน โดยไม่ระบุว่าเป็นที่ดินที่มีหลักฐานแสดงถึงสิทธิการครอบครองแปลงใดก็ตาม แต่เมื่อจำเลยทั้งสองให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 180 โจทก์ก็ไม่ปฏิเสธว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินแปลงอื่น แต่กลับแถลงรับในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นว่า ที่ดินพิพาทตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดินของโจทก์เป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินพิพาทซึ่งคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2294/2522 ดังนั้นที่โจทก์ฎีกาว่า ที่ดินพิพาทในคดีนี้เป็นที่ดินแปลงอื่น จึงขัดกับข้อเท็จจริงที่โจทก์แถลงรับในคดี และโจทก์จะฎีกาว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินแปลงอื่นไม่ได้
เมื่อปรากฏว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินพิพาทในคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2294/2522 ซึ่งวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายมิ้ม จึงเป็นคำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงความเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทของทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายมิ้มที่ผูกพันโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ได้แสดงสิทธิอื่นขึ้นใหม่โจทก์จะนำคดีมาฟ้อง จำเลยที่ 2 บุตรของนายมิ้มซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 ชั้นผู้สืบสันดาน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1629 ผู้มีสิทธิรับมรดกของนายมิ้มขอให้ขับไล่จำเลยที่ 2ออกจากที่ดินพิพาทไม่ได้ เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ส่วนจำเลยที่ 1 ต่อสู้คดีโดยอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลยที่ 2 จึงเป็นคำให้การที่อาศัยสิทธิของจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง
พิพากษายืน