คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6637/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ก็เป็นเพียงเหตุบรรเทาโทษที่ศาลสามารลดโทษให้ได้ไม่เกินกึ่งหนึ่ง ตาม ป.อ. มาตรา 78 ส่วนที่จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนโดยซัดทอดว่าได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 และต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 2 ได้นั้น ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ให้การในรายละเอียดของคดีเท่านั้น การที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 2 ได้ก็เป็นคดีเดียวกันกับที่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิด ซึ่งโจทก์มีพยานรู้เห็นการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 อยู่แล้ว การที่จะถือว่าจำเลยที่ 1 ให้ข้อมูลสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวนอันจะเป็นเหตุให้ศาลลงโทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำได้นั้น จะต้องเป็นเรื่องที่นำไปสู่การจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษรายอื่น หรือนำไปสู่การยึดได้ยาเสพติดให้โทษอีกจำนวนหนึ่ง โดยไม่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษของกลางคดีนี้ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจยึดได้จากที่เกิดเหตุ กรณีของจำเลยที่ 1 จึงไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2
การใช้ดุลพินิจลดโทษกึ่งหนึ่ง เป็นจำคุกตลอดชีวิตหรือโทษจำคุกตั้งแต่ 25 ปี ถึง 50 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 52 (2) นั้น ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงในแต่ละคดีเป็นการเฉพาะ เนื่องจากข้อเท็จจริงในแต่ละคดีไม่เหมือนกัน แม้เป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษเช่นเดียวกันก็ตาม ข้อเท็จจริงในคดีอื่นไม่อาจนำมาใช้แก่คดีนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 138, 289, 371 และริบเมทแอมเฟตามีนที่เหลือจากการตรวจวิเคราะห์ของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 66 วรรคสอง (เดิม) ให้ลงโทษประหารชีวิต จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) คงจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ริบเมทแอมเฟตามีนที่เหลือจากการตรวจวิเคราะห์ของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง (เดิม), 66 วรรคสอง (เดิม), 102 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 80 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม), 66 วรรคสอง (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ศาลชั้นต้นได้รับหนังสือจากเรือนจำกลางบางขวางแจ้งว่าจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2552 โจทก์รับว่าเป็นความจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่า มีเหตุให้ลงโทษจำเลยที่ 1 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ก็เป็นเพียงเหตุบรรเทาโทษที่ศาลสามารถจะลดโทษให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ไม่เกินกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ซึ่งคดีนี้ศาลล่างทั้งสองก็ได้ลดโทษให้แก่จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนโดยซัดทอดว่าได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 และต่อมาภายหลังเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 2 ได้นั้น ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ให้การในรายละเอียดของคดีเท่านั้น การที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 2 ได้เป็นการจับกุมในคดีเดียวกันกับที่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดซึ่งโจทก์มีพยานรู้เห็นการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 อยู่แล้ว การที่จะถือว่าจำเลยที่ 1 ให้ข้อมูลสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวนอันจะเป็นเหตุให้ศาลลงโทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำได้นั้นจะต้องเป็นเรื่องที่นำไปสู่การจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษรายอื่นหรือนำไปสู่การยึดได้ยาเสพติดให้โทษอีกจำนวนหนึ่ง โดยไม่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษของกลางคดีนี้ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจยึดได้จากที่เกิดเหตุ กรณีของจำเลยที่ 1 จึงไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อสุดท้ายมีว่า ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลดโทษให้แก่จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52 (2) คงให้จำคุกตลอดชีวิตเหมาะสมแล้วหรือไม่ โดยในข้อนี้จำเลยที่ 1 ฎีกาอ้างคดีอื่นและขอให้ลดโทษเป็นโทษจำคุกตั้งแต่ 25 ปี ถึง 50 ปี เห็นว่า การใช้ดุลพินิจลดโทษกึ่งหนึ่ง เป็นจำคุกตลอดชีวิตหรือโทษจำคุกตั้งแต่ 25 ปี ถึง 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 52 (2) นั้น ศาลจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงในแต่ละคดีเป็นการเฉพาะเนื่องจากข้อเท็จจริงในแต่ละคดีไม่เหมือนกัน แม้เป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษเช่นเดียวกันก็ตาม สำหรับคดีที่จำเลยที่ 1 อ้างมาในฎีกานั้นมีการลดโทษให้จริงหรือไม่ จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีหลักฐานมาแสดง อย่างไรก็ดีข้อเท็จจริงในคดีอื่นไม่อาจนำมาใช้แก่คดีนี้ได้ ปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางคดีนี้มีจำนวนมากถึง 40,000 เม็ด สามารถแพร่กระจายไปในวงกว้างย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจและสังคมของชาติเป็นอย่างมาก พฤติการณ์การกระทำความผิดจึงร้ายแรง ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลดโทษด้วยเหตุบรรเทาโทษให้แก่จำเลยที่ 1 ลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุกตลอดชีวิต นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุให้ศาลฎีกาแก้ไขเปลี่ยนแปลงอีก ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
พิพากษายืน

Share