คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1336/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทายาทซึ่งไม่ได้ครอบครองมรดก และมิได้เรียกร้องเอาส่วนมรดกภายใน 1 ปี เพิ่งจะเข้ามาอาศัยอยู่ในที่ดินมรดกต่อภายหลังย่อมหมดสิทธิที่จะรับส่วนมรดกและอาจถูกทายาทผู้ครอบครองมรดกฟ้องขับไล่ได้

ย่อยาว

โจทก์จำเลยเป็นบุตรเจ้ามรดกด้วยกัน เจ้ามรดกตายไป 20 ปีเศษที่ดินมรดกเป็นที่มีโฉนด ยังคงมีชื่อเจ้ามรดกอยู่ ทายาทยังมิได้จดทะเบียนรับมรดก โจทก์ฟ้องว่าจำเลยถูกเจ้ามรดกขับไล่ไปจากบ้านตั้งแต่ก่อนเจ้ามรดกตาย เพิ่งจะเข้ามาอยู่ในที่มรดกโดยทางอาศัยแล้วจำเลยกลับไปขอจดทะเบียนรับมรดก จึงขอให้ศาลแสดงว่าจำเลยไม่มีสิทธิรับมรดก และให้ขับไล่จำเลย จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยได้ครอบครองที่พิพาทร่วมกับโจทก์ตลอดมา ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีตามฟ้อง จำเลยฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืนโดยวินิจฉัยว่า

“ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่านายเหรียญได้มอบที่พิพาทให้แก่โจทก์ทั้ง 2 และเรือนให้นางทองสุขจริงเพราะโจทก์มีพยาน ซึ่งเป็นญาติของโจทก์จำเลยบ้าง เป็นบุตรของจำเลยเองบ้างมาเบิกความเช่นนั้นเหตุที่นายเหรียญไม่แบ่งทรัพย์ให้จำเลยก็เพราะจำเลยประพฤติตนไม่ดีจนถูกขับไล่ออกจากบ้านไป แม้ว่าการที่นายเหรียญสั่งตัดมิให้จำเลยรับมรดกจะเป็นการทำด้วยปากเปล่าไม่ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่มีผลเป็นการตัดมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1608 ก็ดี แต่ก็เป็นเหตุให้น่าเชื่อคำพยานโจทก์ว่า เมื่อนายเหรียญถึงแก่ความตายแล้ว โจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทมาอย่างเป็นของตน ส่วนจำเลยหาได้มาใช้อำนาจอย่างเป็นทายาทไม่ จำเลยเที่ยวอาศัยอยู่กับคนอื่น ๆ เช่น ขออาศัยอยู่กับนางทองสุข เมื่อถูกไล่จากนางทองสุขก็ไปอาศัยนางชุน ต่อถูกนางชุนไล่อีกแล้วจำเลยจึงมาขออาศัยโจทก์ปลูกเรือนอยู่ในที่พิพาท เมื่อจำเลยมาอยู่ในที่พิพาทแล้วก็ยังทำตนอย่างเพียงคนอาศัยอยู่เท่านั้น หาได้ถือตนอย่างเป็นเจ้าของไม่ เช่นผู้อื่นที่มาขอเช่าที่ดินปลูกบ้านก็ขอเช่าจากโจทก์ผลไม้ที่มีอยู่ในที่นี้ โจทก์ก็เป็นผู้เก็บกินและขาย ศาลฎีกาจึงเห็นว่า ถึงแม้จำเลยจะเป็นทายาทของนายเหรียญคนหนึ่งแต่จำเลยก็มิได้เข้าครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกับโจทก์ในฐานะที่เป็นทายาทที่มีสิทธิเป็นเจ้าของทรัพย์มรดก และมิได้ว่ากล่าวเรียกร้องเอาส่วนของตนภายใน 1 ปี นับแต่วันเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จำเลยเข้ามาอยู่ในที่พิพาทภายหลังนายเหรียญตายตั้ง 10 ปีเศษ และเข้ามาอยู่โดยขออาศัยโจทก์ จำเลยจึงหมดสิทธิที่จะรับส่วนมรดกในเวลานี้ได้ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเป็นการถูกต้องแล้ว”

Share