แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ผู้ร้องยื่นคำแก้ฎีกาว่า หลังจากการพิจารณาคดีนี้ผู้ร้องพบว่า ส. น้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ตายซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้วมีบุตรซึ่งยังมีชีวิตอยู่อีก 3 คนบุคคลทั้งสามคนดังกล่าวเป็นทายาทมรดกแทนที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายในลำดับก่อนผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านจึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายนั้น เมื่อมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาย่อมไม่รับวินิจฉัย แม้ผู้ร้องจะมิได้ระบุในคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายว่าผู้คัดค้านเป็นทายาทของผู้ตาย ก็ยังถือ ไม่ได้ว่าเป็นการปิดบังทายาทหรือปิดบังทรัพย์มรดก การที่ผู้ร้องมิได้ระบุว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายในคำร้องดังกล่าวนั้น เมื่อไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดที่บัญญัติให้คำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกจะต้องระบุถึงทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมดและตามคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายของผู้ร้องก็ระบุเพียงว่าผู้ร้องไปขอเบิกเงิน จากธนาคารออมสิน แต่ธนาคารแจ้งว่าจ่ายเงินให้ผู้ร้องไม่ได้และแนะนำให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกเสียก่อน อันเป็นการที่ผู้ร้องอ้างเหตุที่ไม่สามารถถอนเงินที่ผู้ตายฝากไว้กับธนาคารออมสินเป็นข้ออ้างที่ผู้ร้องต้องมายื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเท่านั้น ผู้ร้องหาได้ระบุว่านอกจากเงินฝากในธนาคารออมสินแล้ว ผู้ตายไม่มีทรัพย์มรดกอื่นอีกแต่อย่างใดไม่ และหากศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว ผู้ร้องก็ย่อมมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกให้เสร็จภายใน 1 เดือน และแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทให้เสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันเริ่มหน้าที่ผู้จัดการมรดก ดังนั้น การที่ผู้ร้องมิได้อ้างถึงที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ว่าเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายในคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดก ของผู้ตาย จึงมิใช่เป็นการปิดบังทรัพย์มรดกที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้างนั้น อันจะเป็นเหตุให้ผู้ร้องถูกกำจัด มิให้ได้มรดกตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะสั่งถอนผู้ร้อง จากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ย่อยาว
กรณีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายชวน หัยกิจโกศล ผู้ตาย ผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางประยูร หัยกิจโกศล ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันกับนายชวน หัยกิจโกศล เมื่อนายชวนถึงแก่ความตายนางประยูรย่อมมีสิทธิได้รับมรดกของนายชวนแต่เนื่องจากนางประยูรตายไปก่อนแล้วตั้งแต่ปี 2533 ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิเข้ารับมรดกแทนที่ได้ แต่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของนายชวนโดยมิได้ระบุชื่อผู้คัดค้านเป็นทายาทและมิได้อ้างถึงที่ดินโฉนดเลขที่ 1794 พร้อมบ้านเลขที่ 23 และตึกแถวสามชั้น 31ห้องว่าเป็นทรัพย์มรดกของนายชวน จึงเป็นการปกปิดทายาทและปิดบังทรัพย์มรดกของนายชวน ขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายชวน หัยกิจโกศล และมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนายชวน หัยกิจโกศล แทน ผู้คัดค้านมิได้เป็นบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถหรือเป็นคนล้มละลาย
ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านว่า ภายหลังที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแล้วผู้ร้องค้นพบพินัยกรรมที่ผู้ตายทำไว้โดยยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1794 พร้อมสิ่งปลูกสร้างและเงินฝากในธนาคารให้แก่ผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียวขอให้ยกคำร้องของผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้องของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ร้องเป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของนายชวน หัยกิจโกศล ผู้ตายและผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งของศาลชั้นต้นผู้ร้องกับผู้ตายมีบุตรด้วยกัน 1 คน แต่บุตรถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ตายแล้ว ผู้คัดค้านเป็นบุตรของนางประยูร หัยกิจโกศลซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันกับผู้ตาย นางประยูรถึงแก่ความตายเมื่อปี 2533
มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่ามีเหตุสมควรที่จะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ที่ผู้ร้องยื่นคำแก้ฎีกาว่า หลังจากการพิจารณาคดีนี้ผู้ร้องพบว่า นางเสงี่ยม สรงประภาน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ตายซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้วมีบุตรซึ่งยังมีชีวิตอยู่อีก 3 คน คือ นายมานพ สรงประภานายศักดิ์ชัย สรงประภา และนายเริงชัย สรงประภา บุคคลทั้งสามมีสิทธิรับมรดกแทนที่นางเสงี่ยมเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายในลำดับก่อนผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านจึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยคำร้องมิได้ระบุว่าผู้คัดค้านเป็นทายาทของผู้ตาย และมิได้อ้างถึงที่ดินโฉนดเลขที่ 1794พร้อมสิ่งปลูกสร้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย เป็นการปิดบังทายาทและปิดบังทรัพย์มรดกนั้น เห็นว่า แม้ผู้ร้องจะมิได้ระบุในคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายว่าผู้คัดค้านเป็นทายาทของผู้ตาย ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการปิดบังทายาทหรือปิดบังทรัพย์มรดก ส่วนที่ผู้ร้องมิได้ระบุว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 1794 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายในคำร้องดังกล่าวนั้น เห็นว่า ไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดที่บัญญัติว่า คำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกจะต้องระบุถึงทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมด และตามคำร้องดังกล่าวของผู้ร้องก็ระบุเพียงว่า ผู้ร้องไปขอเบิกเงินจากธนาคารออมสิน แต่ธนาคารแจ้งว่าจ่ายเงินให้ผู้ร้องไม่ได้ และแนะนำให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกเสียก่อนอันเป็นการที่ผู้ร้องอ้างเหตุที่ไม่สามารถถอนเงินที่ผู้ตายฝากไว้กับธนาคารออมสินเป็นข้ออ้างที่ผู้ร้องต้องมายื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเท่านั้น ผู้ร้องหาได้ระบุว่านอกจากเงินฝากในธนาคารออมสินแล้ว ผู้ตายไม่มีทรัพย์มรดกอื่นอีกแต่อย่างใดไม่ ทั้งเมื่อศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว ผู้ร้องก็ย่อมมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกให้เสร็จภายใน 1 เดือน และแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทให้เสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันเริ่มหน้าที่ผู้จัดการมรดก ดังนั้น การที่ผู้ร้องมิได้อ้างถึงที่ดินโฉนดเลขที่ 1794 พร้อมสิ่งปลูกสร้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายในคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จึงมิใช่เป็นการปิดบังทรัพย์มรดก อันจะเป็นเหตุให้ผู้ร้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแทน
พิพากษายืน