แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
กรมพิธีการทูตจำเลยที่ 2 ปล่อยปละละเลย ย่อหย่อน ไม่ควบคุมการใช้รถให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ จนจำเลยที่ 1 เคยนำรถไปจอดค้างคืนที่บ้านของตนเอง รวมทั้งสามารถนำรถออกไปใช้ในกิจธุระส่วนตัวโดยพลการทั้งที่ขัดต่อระเบียบกฎเกณฑ์การใช้รถราชการ เข้าลักษณะที่จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ใช้รถอันเป็นหน้าที่ของพนักงานขับรถได้แม้เป็นเวลานอกราชการการ การที่จำเลยที่ 1 ขับรถไปเฉี่ยวชนจนทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บโดยประมาท จึงถือได้ว่าเป็นผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง
โจทก์ไม่สามารถเดินได้ตามปกติโดยหลังเกิดเหตุภายหลังการรักษาทำให้ขาข้างขวาสั้นกว่าขาข้างซ้าย ถือว่าเป็นความเสียหายอย่างอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงินซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับชดใช้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 446
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2546 เวลาประมาณ 21.30 นาฬิกา ขณะโจทก์ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน นธว กรุงเทพมหานคร 836 มีนายวิฑูรย์ เป็นเป็นผู้ขับมาตามถนนซอยเทศบาลสำโรงใต้ 11 (ซอยร่มประดู่) จากท้ายซอยไปยังปากซอย เมื่อมาถึงบริเวณกลางซอย จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 ษ-9204 กรุงเทพมหานคร ไปในทางการที่จ้างหรือในกิจการงานของจำเลยที่ 2 แล่นสวนทางมาด้วยความเร็วสูงเกินสมควรและล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของรถจักยานยนต์คันที่โจทก์นั่งซ้อนท้ายเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์คันดังกล่าว จาการเฉี่ยวชนทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส กระดูกขาขวาหัก ไม่สามารถประกอบการงานตามปกติเป็นเวลา 3 เดือน ก่อนเกิดเหตุโจทก์ประกอบอาชีพเป็นพนักงานบริษัทนารายณ์สากลประกันภัย จำกัด มีรายได้เดือนละ 7,000 บาท จึงขาดประโยชน์เดือนละ 7,000 รวมเป็นเงิน 21,000 บาท ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลโดยต้องเสียค่าใช้จ่ายไปเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท และเมื่อแผลหายดีแล้วจะต้องผ่าตัดนำเหล็กที่ดามขาขวาออก โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 30,000 บาท และจากการที่ถูกจำเลยที่ 1 ขับรถเฉี่ยวชนทำให้โจทก์ต้องทุพลภาพไม่สามารถเดินหรือทำงานเยี่ยงบุคคลทั่วไปได้ โจทก์ขอคิดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้นจำนวน 351,000 บาท จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 หรือตัวการต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายดังกล่าว กับดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องรวมจำนวน 372,937.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 351,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ชั้นตรวจฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 เนื่องจากโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิใช่ตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 ษ-9204 กรุงเทพมหานคร ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 แต่นำไปใช้เพื่อกิจธุระของจำเลยที่ 1 โดยพลการ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐให้รับผิดได้ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 6 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 301,677 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 เมษายน 2546 ถึงวันที่ 10 มีนาคม 2547 และอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 มีนาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้เป็นเงิน 3,000 บาท
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2546 เวลาประมาณ 21.30 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำ ตำแหน่งพนักงานขับรถของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 ษ – 9204 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทเลินเล่อเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน นธว กรุงเทพมหานคร 836 ซึ่งมีนายวิฑูรย์ เป็นผู้ขับ และมีโจทก์นั่งซ้อนท้ายที่บริเวณถนนซอยเทศบาลสำโรงใต้ 11 (ซอยร่มประดู่) ตำบลสำโรงใต้ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นเหตุให้โจทก์รับอันตรายสาหัส
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 ประการแรกว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าพยานจำเลยที่ 2 ยืนยันว่าในวันเกิดเหตุไม่มีการส่งเอกสารที่สถานทูตญี่ปุ่นและสถานทูตฟิลิปปินส์ จำเลยที่ 1 นำรถไปใช้โดยพลการจึงไม่ใช่การกระทำในทางการที่จ้างหรือโดยฐานการเป็นตัวแทนจำเลยที่ 2 หรือในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์เบิกความว่า ในระหว่างที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวน จำเลยที่ 1 ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถไปปฏิบัติราชการของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพยานจำเลยที่ 2 เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุได้ขออนุญาตใช้รถยนต์จากนายชูชัย ซึ่งเป็นหัวหน้ามีหน้าที่จัดพนักงานขับรถไปส่งเอกสาร เก็บรักษากุญแจรถ และดูแลรักษารถยนต์ในหมวดยานพาหนะทั้งหมดเพื่อไปส่งเอกสารด่วนให้แก่สถานทูตญี่ปุ่นและสถานทูตฟิลิปปินส์ เนื่องจากส่งในวันศุกร์ที่ 18 เมษายน 2546 ไม่ทัน หลังจากส่งเอกสารแล้วจึงขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปเยี่ยมญาติที่จังหวัดสมุทรปราการ และเกิดเหตุในระหว่างนำรถยนต์กลับไปเก็บที่หมวดยานพาหนะ สำหรับข้อที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าได้รับอนุญาตให้ใช้รถยนต์จากนายชูชัยนั้น ได้ความจากนายชูชัยซึ่งมีตำแหน่งหัวหน้าหมวดยานพาหนะกองการพัสดุ กระทรวงการต่างประเทศ มีหน้าที่ดูแลรถยนต์ส่วนกลางของกระทรวงการต่างประเทศว่า จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานขับรถของจำเลยที่ 2 อยู่ในความดูแลของเลขานุการกรมพิธีการฑูต การนำรถของจำเลยที่ 2 ไปใช้ไม่ต้องขออนุญาตจากพยาน และพยานไม่ได้ไปทำงานในวันที่ 19 เมษายน 2546 นอกจากนี้ยังได้ความตามที่นางสาวสดใส เจ้าหน้าที่ธุรการ ซึ่งควบคุมการส่งเอกสารของจำเลยที่ 2 และนางพิมพ์นิภา เจ้าหน้าที่งานสารบรรณมีหน้าที่ออกเลขที่หนังสือออกของกองรับรอง สังกัดจำเลยที่ 2 เบิกความยืนยันตรงกันว่า ในช่วงวันที่ 17 และ 18 เมษายน 2546 ไม่มีการออกหนังสือเพื่อส่งไปที่สถานทูตญี่ปุ่นและสถานทูตฟิลิปปินส์ตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง ทำให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้นำรถยนต์ออกไปส่งเอกสารจริงตามที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้าง อย่างไรก็ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่า จำเลยที่ 2 ควบคุมการใช้รถอย่างเคร่งครัดตลอดมา การที่จำเลยที่ 1 นำรถออกไปใช้โดยพลการจะถือเป็นการปล่อยปละละเลยอันเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่ได้นั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากนางสาวมณฑา เลขานุการกรมพิธีการทูต พยานจำเลยที่ 2 ว่า ตามระเบียบการใช้รถราชการจะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร รวมถึงกรณีที่นำรถไปส่งข้าราชการร่วมประชุมจะต้องมีแบบพิมพ์การขออนุมัติการใช้รถจากพยานหรือนางสาวสุชาดา เจ้าหน้าที่ธุรการซึ่งได้รับมอบหมายจากพยาน แต่สำหรับการนำรถออกไปส่งเอกสารมีการปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านานโดยพนักงานขับรถจะเป็นผู้ตรวจตะแกรงใส่เอกสารที่จะต้องจัดส่งแล้วลงทะเบียนเป็นหลักฐานก่อนนำเอกสารไปส่งโดยไม่จำต้องขออนุญาตใช้รถเป็นลายลักษณ์อักษรอีก และได้ความจากนางสาวสุชาดา พยานจำเลยที่ 2 อีกปากหนึ่งว่า อำนาจในการอนุญาตนำรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ไปใช้เป็นของนางสาวมณฑาแต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 1 ไม่เคยขออนุญาตใช้รถจากพยาน แต่จำเลยที่ 1 สามารถนำรถออกไปส่งเอกสารโดยไม่ต้องขออนุญาตจากบุคคลใด ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์เกี่ยวกับการควบคุมดูแลการใช้รถคันเกิดเหตุแล้ว นางสาวสุชาดาเบิกความว่า นายชูชัยเป็นผู้เก็บรักษากุญแจรถ แต่กลับได้ความดังกล่าวข้างต้นแล้วว่านายชูชัยเป็นข้าราชการคนละสังกัดกับจำเลยที่ 1 และไม่ได้อยู่ในสังกัดจำเลยที่ 2 ส่วนนางสาวมณฑาซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชามีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงก็เบิกความเพียงว่า กุญแจรถยนต์คันเกิดเหตุจะต้องเก็บไว้ที่ตู้ของหมวดยานพาหนะ ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ดูแลตู้เก็บกุญแจ ไม่ทราบว่าพนักงานขับรถที่ไปรับกุญแจจะต้องขออนุญาตจากผู้รับผิดชอบตู้ใส่กุญแจหรือไม่ นอกจากนี้ที่นางสาวมณฑาทราบถึงเหตุรถชนคดีนี้ก็เนื่องจากได้ทราบจากหนังสือสำนักงานเขตสาทรที่มีถึงอธิบดีกรมการต่างประเทศ (ที่ถูก กรมพิธีการทูต) ตามเอกสารหมาย จ.10 ซึ่งหนังสือฉบับดังกล่าวปรากฏข้อความลงรับวันที่ 6 พฤษภาคม 2546 ร้องเรียนกรณีที่จำเลยที่ 1 ขับรถชนโจทก์ซึ่งเป็นบุตรลูกจ้างสำนักงานเขตสาทรได้รับบาดเจ็บเห็นได้ว่าการที่นางสาวมณฑาซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชามีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับการควบคุมการใช้รถ แต่กลับไม่ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเก็บรักษากุญแจรถ การทราบเหตุคดีนี้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2546 ก็เพิ่งทราบจากการที่มีหนังสือร้องเรียน ทั้งข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 นำสืบได้ความด้วยว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้นำรถไปซ่อมแซมภายหลังเกิดเหตุจากเหตุรถชนคดีนี้ ประกอบกับจำเลยที่ 1 ยังเบิกความอีกว่า จำเลยที่ 1 เคยนำรถคันเกิดเหตุไปจอดค้างคืนที่บ้านของตนประมาณ 10 ครั้ง จากพฤติการณ์ที่นางสาวมณฑาผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 เบิกความว่า ในการใช้รถบางกรณีไม่จำต้องขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรเนื่องจากถือปฏิบัติกันมาช้านานก็ดี จำเลยที่ 1 ไม่เคยขออนุญาตใช้รถจากนางสาวสุชาดาซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้อนุญาตใช้รถจากนางสาวมณฑาก็ดี นางสาวมณฑาไม่ทราบตัวผู้รับผิดชอบเก็บรักษากุญแจรถคันเกิดเหตุ รวมทั้งไม่ทราบเหตุรถชนที่เกิดขึ้น จนกระทั่งมีการร้องเรียนไปที่จำเลยที่ 2 ก็ดี เหล่านี้ย่อมเห็นได้ว่ามีการปล่อยปละละเลย ย่อหย่อนไม่ควบคุมการใช้รถให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ จนจำเลยที่ 1 เคยนำรถคันเกิดเหตุไปจอดค้างคืนที่บ้านของตนเอง รวมทั้งสามารถนำรถออกไปใช้ในกิจธุระส่วนตัวโดยพลการทั้งที่ขัดต่อระเบียบกฎเกณฑ์การใช้รถราชการดังกล่าว เข้าลักษณะที่จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ใช้รถคันเกิดเหตุอันเป็นหน้าที่ของพนักงานขับรถได้แม้เป็นเวลานอกราชการ การที่จำเลยที่ 1 ขับรถไปเฉี่ยวชนจนทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บโดยประมาท จึงถือได้ว่าเป็นผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เจ้าหน้าที่หรือผู้บังคับบัญชาที่ควบคุมดูแลรถของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้แทนจำเลยที่ 2 อธิบดีกรมพิธีการฑูตไม่มีส่วนรู้เห็นการใช้รถของจำเลยที่ 1 การกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวจะถือว่าจำเลยที่ 2 ปล่อยปละละเลยด้วยไม่ได้นั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 แล้วกระทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ไม่ว่าอธิบดีกรมพิธีการฑูตจะรู้เห็นการใช้รถของจำเลยที่ 1 ตามที่ยกขึ้นฎีกาหรือไม่ ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเช่นเดียวกัน ฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นประการต่อไปว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใด สำหรับปัญหานี้จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ค่าเสียหายที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้แก่โจทก์นั้นสูงเกินไป เห็นว่า ในส่วนค่ารักษาพยาบาลโจทก์นำสืบโดยมีใบเสร็จรับเงิน เอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 มาแสดง ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้โต้แย้งว่าใบเสร็จรับเงินดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไร หรือนำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นกรณีจึงรับฟังได้ว่าโจทก์ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลไปเป็นเงินรวม 61,677 บาท ในส่วนค่าขาดประโยชน์ ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า หลังจากโจทก์ถูกจำเลยที่ 1 ขับรถเฉี่ยวชนต้องพักรักษาตัวและกว่าจะเดินได้ต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน การที่โจทก์ต้องพักรักษาตัวดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำงาน ซึ่งได้ความว่าก่อนเกิดเหตุโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัทนารายณ์สากลประกันภัย จำกัด ได้รับค่าจ้างเดือนละ 7,000 บาท ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้เป็นเงิน 10,000 บาท นับว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว ในส่วนค่ารักษาพยาบาลในอนาคต ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้นำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า ในการรักษาอาการอันเกิดจากกระดูกต้นขาขวาของโจทก์หักนั้นจะต้องใช้เหล็กดามกระดูกไว้ ซึ่งการใช้เหล็กดามกระดูกดังกล่าวแม้จะได้ความจากพยานจำเลยที่ 2 ปากนายแพทย์สมศักดิ์ แพทย์ผู้ตรวจรักษาโจทก์ว่า เมื่อบาดแผลหายแล้ว หากไม่เกิดผลข้างเคียงก็ไม่จำต้องผ่าเอาหล็กที่ดามกระดูกออกก็ตาม แต่การจะผ่าตัดเหล็กที่ดามไว้ซึ่งถือได้ว่าเป็นของแปลกปลอมอย่างหนึ่งในร่างกายออกหรือไม่ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ และย่อมเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนว่าในอนาคตเหล็กที่ดามไว้จะก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์จึงย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้ได้ สำหรับจำนวนค่าเสียหายในส่วนนี้นั้น ก็ได้ความจากนายแพทย์สมศักดิ์เบิกความว่า หากไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลเอกชนต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 30,000 บาท ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงินจำนวน 30,000 บาท จึงเหมาะสมแล้ว สำหรับค่าเสียหายอันเนื่องจากโจทก์ไม่สามารถเดินได้ตามปกตินั้น โจทก์เบิกความว่า ภายหลังการตรวจรักษาโจทก์ไม่สามารถเดินได้ตามปกติโดยหลังเกิดเหตุภายหลังการรักษาทำให้ขาข้างขวาสั้นกว่าขาข้างซ้าย ข้อนี้แม้นายแพทย์สมศักดิ์พยานจำเลยที่ 2 เบิกความว่าการรักษากระดูกนั้นหากกระดูดติดดีและมีการฟื้นฟูสมรรถนะกล้ามเนื้อดีจะเดินได้อย่างคนปกติ เห็นว่า นายแพทย์สมศักดิ์เบิกความถึงกรณีผ่าตัดนำเหล็กดามกระดูกออกว่าไม่จำเป็น แต่อาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากโลหะดามหัก หลวมหรือทำอันตรายเนื้อเยื่อข้างเคียงนั้น ทำให้เห็นได้ว่าการรักษาอาการของโจทก์ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ และต้องขึ้นอยู่กับการฟื้นฟูสมรรถนะกล้ามเนื้อด้วย ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าโจทก์ไม่สามารถเดินได้ตามปกติอันเป็นความเสียหายอย่างอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงิน ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท นับว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นประการสุดท้ายว่า ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระดอกเบี้ยภายหลังวันฟ้องในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า แม้ศาลจะมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นกว่าที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมาย แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องหรือวันอื่นหลังจากนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (6) ก็ตาม แต่การที่จะใช้อำนาจเช่นนั้นศาลจะต้องพิจารณาโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการต่อสู้ความหรือการดำเนินคดีของจำเลยที่ 2 ด้วย สำหรับคดีนี้ เห็นว่า ข้อที่จำเลยที่ 2 ยกขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ล้วนแต่เป็นประเด็นโดยตรงและเป็นสาระแก่คดี ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ได้รับวินิจฉัยประเด็นที่จำเลยที่ 2 ต่อสู้มาตลอด หาได้มีข้อเท็จจริงใดที่ส่อให้เห็นถึงความไม่สุจริตในการดำเนินคดีหรือประวิงการชำระหนี้ไม่ จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นกว่าที่โจทก์มีสิทธิได้รับดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิด (วันที่ 19 เมษายน 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ