คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8088/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยกระทำละเมิดเป็นเหตุให้มารดาโจทก์ทั้งสองถึงแก่ความตาย มารดาโจทก์ทั้งสองจึงเป็นผู้เสียหายโดยตรงจากการทำละเมิดของจำเลย โจทก์ที่ 1 ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง การที่โจทก์ที่ 1 ฟ้องเรียกค่าขาดแรงงานในครัวเรือนจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 445
แม้ก่อนถึงแก่ความตายมารดาโจทก์ทั้งสองรับผิดชอบดูแลบุตรผู้เยาว์ของโจทก์ที่ 1 แต่เมื่อมารดาโจทก์ทั้งสองไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องทำการงานให้เป็นคุณในครัวเรือน หรืออุตสาหกรรมแก่โจทก์ที่ 1 กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 445 โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดแรงงาน

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์ทั้งสอง คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่โจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยต้องรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองเพียงใด เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองซึ่งจำเลยไม่ได้ให้การโต้แย้งฟังได้ว่า วันเกิดเหตุเป็นวันขึ้นปีใหม่ 2556 จำเลยขับรถกระบะด้วยความเร็วสูง และตามพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าไม่ได้คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่นที่สัญจรร่วมทาง การกระทำละเมิดของจำเลยซึ่งผลเกิดเป็นความตายของมารดาโจทก์ทั้งสองและความเสียหายแก่ทรัพย์สินจึงเป็นเรื่องร้ายแรง สำหรับค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ที่ 2 เรียกร้องเป็นค่าซ่อมรถจักรยานยนต์นั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองได้รับค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งตามข้อ 2 ได้รวมถึงความเสียหายต่อทรัพย์สินแล้ว อีกทั้งจำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1402/2556 ของศาลชั้นต้น ตามใบเสร็จรับเงินไปแล้วเป็นเงินจำนวน 20,000 บาท จึงไม่จำต้องกำหนดค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ให้อีกแต่ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้องนั้น โจทก์ทั้งสองมีรายการและรายละเอียดของค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มาแสดง โดยเมื่อหักค่ารักษาพยาบาลจำนวน 30,000 บาท ที่โจทก์ทั้งสองไม่ได้ฟ้องเรียกร้องออกแล้ว คงเป็นค่าใช้จ่ายที่เรียกร้องในส่วนนี้ 269,000 บาท ซึ่งจำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่โจทก์ทั้งสองนำสืบว่าค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นนั้นเหมาะสมแก่ประเพณีและฐานะของมารดาโจทก์ทั้งสองแล้ว และแม้โจทก์ทั้งสองจะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ไปแล้ว แต่ค่าเสียหายเบื้องต้นดังกล่าวก็เป็นเพียงค่าสินไหมทดแทนส่วนหนึ่งเท่านั้น โจทก์ทั้งสองยังมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้เพิ่มเติมได้ โดยเมื่อพิจารณาว่าค่าเสียหายเบื้องต้นนั้นตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวย่อมชดใช้เป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลมารดาโจทก์ทั้งสองก่อนถึงแก่ความตาย รวมทั้งค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอย่างอื่นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของโจทก์ทั้งสองในเบื้องต้นไปส่วนหนึ่งแล้ว ส่วนที่เหลือจึงเป็นค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดการศพในเบื้องต้น ซึ่งแม้จะนำมาหักออกจากค่าสินไหมทดแทนในค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้องแล้ว ยังเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้แก่โจทก์ทั้งสองเพิ่มอีกเป็นเงิน 200,000 บาท สำหรับที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ในค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาลมารดาโจทก์ทั้งสองก่อนที่จะถึงแก่ความตายนั้น โจทก์ทั้งสองไม่ได้เรียกร้องมาในคำฟ้อง จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนค่าขาดแรงงานในครัวเรือนที่โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในข้อกฎหมายนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสองอ้างว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อมารดาโจทก์ทั้งสองเป็นเหตุให้มารดาโจทก์ทั้งสองได้รับอันตรายสาหัสและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา จึงเป็นกรณีที่มารดาโจทก์ทั้งสองเป็นผู้เสียหายโดยตรงจากการทำละเมิดของจำเลย โจทก์ที่ 1 หาใช่ผู้เสียหายโดยตรงจากการทำละเมิดของจำเลยในกรณีนี้ไม่ ที่โจทก์ที่ 1 ฟ้องเรียกค่าขาดแรงงานในครัวเรือน จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 445 แม้ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ที่ 1 โดยจำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งได้ความว่า ก่อนมารดาโจทก์ทั้งสองถึงแก่ความตายได้รับผิดชอบดูแลบุตรผู้เยาว์ของโจทก์ที่ 1 เป็นการงานที่มารดาโจทก์ทั้งสองกระทำในครัวเรือนเป็นประโยชน์แก่โจทก์ที่ 1 แต่มารดาโจทก์ทั้งสองหามีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องทำการงานให้เป็นคุณในครัวเรือน หรืออุตสาหกรรมแก่โจทก์ที่ 1 กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 445 โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดแรงงานตามฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์ที่ 1 ชอบแล้ว และเมื่อเป็นค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิด ซึ่งถือว่าจำเลยผิดนัดมานับแต่เวลาที่ทำละเมิด แต่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จึงไม่อาจกำหนดให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยเกินไปจากที่โจทก์ทั้งสองมีคำขอได้เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
พิพากษากลับ ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยชำระเงิน 200,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 25 มีนาคม 2557) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท

Share