แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยประกอบธุรกิจห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ต้องให้ความสำคัญด้านบริการ ทั้งเรื่องสินค้า ความปลอดภัยและความสะดวกสบาย เพื่อสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้ามาใช้บริการและซื้อสินค้าอันจะส่งผลต่อรายได้ของจำเลย โดยเฉพาะการบริการเกี่ยวกับสถานที่จอดรถ ดังนั้นจำเลยย่อมมีหน้าที่ดูแลและรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินของลูกค้าที่มาใช้บริการรวมถึงรถยนต์ของลูกค้าที่นำมาจอดบริเวณลานจอดรถด้วย แต่จำเลยมิได้จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยเพื่อดูแลทรัพย์สินของลูกค้าและไม่มีมาตรการในการระมัดระวังมิให้คนร้ายเข้ามาลักรถยนต์ของลูกค้า คงมีเพียงกล้องวงจรปิดที่ใช้บันทึกภาพรถยนต์ที่ผ่านเข้าออกเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยทำประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกกับจำเลยร่วมไว้ โดยกรมธรรม์ดังกล่าวระบุความรับผิดในเรื่องความเสียหายของผู้มาเยือนในข้อ 4.8 ว่า ความเสียหายต่อทรัพย์สินจากผลกระทบส่วนบุคคล (รวมถึงยานพาหนะและส่วนที่เกี่ยวข้อง) ครอบครองโดยกรรมการ ผู้มาเยือนและลูกจ้างของผู้เอาประกันภัย ซึ่งความเสียหายดังกล่าวหมายความรวมถึงความสูญหายด้วยตามนิยามศัพท์ข้อ 11.11 โดยจำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างให้เห็นว่าเงื่อนไขความรับผิดส่วนแรกที่ระบุในกรมธรรม์ประกันภัยไม่ถูกต้องอย่างไร จำเลยร่วมจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลย จำเลยร่วมเป็นเพียงผู้รับประกันภัยจากจำเลยมีความผูกผันที่จะร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์เท่านั้นไม่ใช่ผู้ทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดกับผู้ทำละเมิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อกรมธรรม์ประกันภัยมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและโจทก์มิได้ทวงถามให้จำเลยร่วมชำระหนี้ จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยร่วมตกเป็นผู้ผิดนัดก่อนโจทก์ฟ้องคดี โดยจำเลยร่วมต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยขอให้หมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ปัญหาเรื่องการกำหนดความรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมายเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
อนึ่ง คดีนี้จำเลยและจำเลยร่วมซึ่งเป็นคู่ความร่วมในคดีที่มีมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้โดยจำเลยและจำเลยร่วมต่างยื่นอุทธรณ์และฎีกาแยกกัน ต่างเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา เมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนสูงกว่าที่จำเลยและจำเลยร่วมจะต้องชำระในกรณียื่นอุทธรณ์และฎีการ่วมกัน กรณีจึงต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 150 วรรคห้า ที่จะต้องมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่จำเลยและจำเลยร่วม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 476,630 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 450,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกบริษัทไทยศรีประกันภัย จำกัด (มหาชน) เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 450,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 26 มีนาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 มกราคม 2557) ต้องไม่เกิน 26,630 บาท ตามที่โจทก์ขอ โดยให้จำเลยร่วมร่วมรับผิดในเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงิน 253,668 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 253,668 บาท นับแต่วันที่ 26 มีนาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท
จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยและจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน บน 376 สุรินทร์ ไว้จากนางสาวเกนียง ผู้เอาประกันภัย จำเลยประกอบธุรกิจห้างสรรพสินค้าจำหน่ายสินค้าแก่ลูกค้าทั่วไปใช้ชื่อ ห้างบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2556 ในระหว่างระยะเวลารับประกันภัย ผู้เอาประกันภัยนำรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไปจอดบริเวณลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าของจำเลย สาขาพระราม 2 เพื่อซื้อสินค้าและปิดล็อกประตูรถยนต์ไว้ ปรากฏว่ามีคนร้ายลักรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไป โดยบริเวณทางเข้าออกห้างสรรพสินค้าของจำเลยไม่มีพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำอยู่ คงมีเพียงกล้องวงจรปิดที่จะบันทึกภาพรถยนต์เข้าออกเท่านั้น ผู้เอาประกันภัยแจ้งเรื่องที่รถยนต์สูญหายให้โจทก์ทราบ โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนจำนวน 450,000 บาท ให้แก่บริษัทตรีเพชรอีซูซุลิสซิ่ง จำกัด ผู้รับประโยชน์ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2556 ส่วนจำเลยร่วมรับประกันภัยจากจำเลยในกรณีประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมว่า จำเลยและจำเลยร่วมจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ จำเลยและจำเลยร่วมฎีกาในทำนองเดียวกันว่า จำเลยมิได้มีนิติสัมพันธ์กับผู้เอาประกันภัยและจำเลยมิได้รับฝากรถยนต์ การที่จำเลยจัดสถานที่จอดรถให้ลูกค้านั้นเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 เท่านั้น จำเลยมิได้มีหน้าที่ต้องจัดหาพนักงานรักษาความปลอดภัยเพื่อป้องกันมิให้คนร้ายลักรถยนต์ของลูกค้ารวมทั้งรถยนต์ของผู้เอาประกันภัย ดังนั้นจำเลยจึงมิได้กระทำละเมิดต่อผู้เอาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยและโจทก์ผู้รับช่วงสิทธิไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย เห็นว่า การที่จำเลยซึ่งประกอบธุรกิจห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จำหน่ายสินค้าและให้บริการแก่ลูกค้าจำเลยต้องให้ความสำคัญด้านบริการ ทั้งเรื่องสินค้า ความปลอดภัยและความสะดวกสบายเพื่อสร้างความพึงพอใจเป็นแรงจูงใจให้ลูกค้ามาใช้บริการและซื้อสินค้า อันจะส่งผลต่อรายได้ของจำเลย โดยเฉพาะการบริการเกี่ยวกับสถานที่จอดรถที่กว้างขวาง มีปริมาณเพียงพอสะดวกสบายย่อมมีผลต่อการตัดสินใจของลูกค้าที่จะมาใช้บริการห้างสรรพสินค้า ดังนั้นจำเลยย่อมมีหน้าที่ต้องดูแลและรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินของลูกค้าที่มาใช้บริการซึ่งรวมถึงรถยนต์ของลูกค้าที่นำมาจอดบริเวณลานจอดรถห้างสรรพสินค้าด้วย จำเลยควรมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดรัดกุมโดยจัดหาพนักงานรักษาความปลอดภัยไว้คอยตรวจสอบดูแลเพื่อป้องกันมิให้รถยนต์ของลูกค้าสูญหาย เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้เอาประกันภัยได้ใช้ความระมัดระวังด้วยการล็อกรถยนต์เพื่อมิให้คนร้ายสามารถเข้าไปในรถยนต์ได้โดยสะดวกอันเป็นการป้องกันทรัพย์ของตนตามปกติแล้ว แต่การที่จำเลยมิได้จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยเพื่อดูแลทรัพย์สินของลูกค้าและไม่มีมาตรการในการระมัดระวังมิให้คนร้ายเข้ามาลักรถยนต์ของลูกค้าคงมีเพียงกล้องวงจรปิดที่ใช้บันทึกภาพรถยนต์ที่ผ่านเข้าออกเท่านั้นซึ่งมาตรการดังกล่าวยังไม่พอเพียงต่อการรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้า การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง เมื่อคนร้ายลักรถยนต์ของผู้เอาประกันภัยไปจึงถือว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อผู้เอาประกันภัย จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัย เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยชำระค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยจำนวน 450,000 บาท ให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้วโดยไม่ปรากฏว่ามีการกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยไว้สูงเกินกว่าราคาและสภาพรถยนต์ในขณะที่ตกลงทำสัญญาประกันภัย โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยจึงรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวจากจำเลยได้ โดยโจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์วันที่ 26 มีนาคม 2556 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากจำเลยนับแต่วันดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยในส่วนของจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยร่วมว่า จำเลยร่วมต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด โดยจำเลยร่วมฎีกาว่า สัญญาประกันภัยที่จำเลยร่วมรับประกันภัยจากจำเลย มีวัตถุประสงค์คุ้มครองเฉพาะความเสียหายของทรัพย์สินที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการกระทำของกรรมการหรือลูกจ้างของจำเลย เนื่องจากการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยเท่านั้นไม่มีข้อความใดระบุให้จำเลยร่วมต้องรับผิดเนื่องจากบุคคลภายนอกลักรถยนต์ สัญญาดังกล่าวไม่ได้ระบุให้จำเลยร่วมต้องรับผิดในความสูญหายของทรัพย์สินของกรรมการหรือผู้มาเยือน นั้น เห็นว่า กรมธรรม์ประกันภัยระบุความรับผิดในเรื่องความเสียหายของผู้มาเยือนในข้อ 4.8 ว่า ความเสียหายต่อทรัพย์สินจากผลกระทบส่วนบุคคล (รวมถึงยานพาหนะและส่วนที่เกี่ยวข้อง) ครอบครองโดยกรรมการ ผู้มาเยือนหรือลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยซึ่งความเสียหายดังกล่าวหมายความรวมถึงความสูญหายด้วยตามนิยามศัพท์ ข้อ 11.11 เมื่อรถยนต์ของลูกค้าสูญหายในบริเวณพื้นที่ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าของจำเลยแม้จะเกิดจากการกระทำของบุคคลภายนอก แต่จำเลยในฐานะผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยต้องรับผิดในความสูญหายของรถยนต์เนื่องจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น จำเลยร่วมในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องร่วมรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวระบุถึงความรับผิดส่วนแรกว่า ในความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งจำเลยจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายส่วนแรกเป็นเงิน 196,332 บาท ของความเสียหายในแต่ละครั้งและจำเลยร่วมต้องรับผิดเฉพาะความเสียหายที่เกิน 196,332 บาทเท่านั้น โดยจำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างให้เห็นว่าเงื่อนไขความรับผิดส่วนแรกที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไร จำเลยร่วมจึงต้องรับผิดเฉพาะในส่วนที่เกิน 196,332 บาทเท่านั้น ดังนั้นจำเลยร่วมจึงต้องร่วมกับจำเลยรับผิดต่อโจทก์จำนวน 253,668 บาท ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยในส่วนของจำเลยร่วมมาศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน แต่ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยร่วมรับผิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 มีนาคม 2556 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์นั้นยังไม่ถูกต้องเพราะจำเลยร่วมเป็นเพียงผู้รับประกันภัยจากจำเลยมีความผูกพันที่จะร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยเท่านั้นไม่ใช่ผู้ทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดกับผู้ทำละเมิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อกรมธรรม์ประกันภัยกำหนดเพียงวงเงินความเสียหายที่ต้องรับผิดไม่ได้ระบุให้ร่วมรับผิดเช่นเดียวกับผู้ทำละเมิด จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิด เมื่อหนี้ตามกรมธรรม์ประกันภัยมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและโจทก์มิได้ทวงถามให้จำเลยร่วมชำระหนี้จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยร่วมตกเป็นผู้ผิดนัดก่อนที่โจทก์ฟ้องคดี จำเลยร่วมจึงต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 ที่จำเลยขอให้หมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) เป็นต้นไป ปัญหาเรื่องการกำหนดความรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมายเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
อนึ่ง คดีนี้จำเลยและจำเลยร่วมซึ่งเป็นคู่ความร่วมในคดีที่มีมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้โดยจำเลยและจำเลยร่วมต่างได้ยื่นอุทธรณ์และยื่นฎีกาแยกกัน ต่างเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา โดยจำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาชั้นศาลละ 9,532 บาท จำเลยร่วมเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาชั้นศาลละ 5,395 บาท เมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนสูงกว่าที่จำเลยและจำเลยร่วมจะต้องชำระในกรณียื่นอุทธรณ์และยื่นฎีการ่วมกัน กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150 วรรคห้า ที่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจะต้องมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่จำเลยและจำเลยร่วมตามส่วนของค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาตามที่แต่ละคนได้ชำระเกินไป เมื่อศาลอุทธรณ์มิได้สั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนเกินแก่จำเลยและจำเลยร่วม ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรสั่งแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยร่วมรับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 253,668 บาท นับแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแก่จำเลยชั้นศาลละ 2,687.50 บาท และแก่จำเลยร่วมชั้นศาลละ 2,687.50 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ