คำวินิจฉัยที่ 45/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้คู่ความจะพิพาทกันในเรื่องเงินที่ได้จากการขายที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ แต่จำเลยก็มิได้โต้แย้งว่าเงินที่ได้จากการขายที่ดินตามฟ้องเป็นสินสมรส เมื่อมูลความแห่งคดีไม่ได้เป็นการพิพาทในเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา อันจะต้องนำ ป.พ.พ. บรรพ 5 มาใช้บังคับ จึงมิใช่คดีครอบครัวตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ป่วยเป็นอัมพฤกษ์เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2555 แต่ได้รับแต่งตั้งจากศาลให้เป็นผู้จัดการมรดกของนาง ท. มารดาผู้ตายเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2555 แล้วรับโอนที่ดินมรดกโฉนดเลขที่ 24360 ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ 10 ไร่ 1 งาน 08 ตารางวา โดยใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนทายาทอื่นอีกสองคน ต่อมาวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 ได้แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็น 5 โฉนด คือโฉนดเดิมเลขที่ 24360 กับโฉนดเลขที่ 76752 ถึง 76755 โจทก์ตกลงจะขายที่ดิน 1 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 76754 โดยมอบให้จำเลยไปดำเนินการ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557 จำเลยขายที่ดินดังกล่าวได้ในราคา 600,000 บาท และรับเงินจากผู้ซื้อครบถ้วนแล้ว แต่จำเลยไม่นำเงินมาให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินจำนวน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์กับจำเลยเคยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรผู้เยาว์ 2 คน ระหว่างสมรส ในปี 2556 โจทก์กู้ยืมเงินจากนาง ม. หลายครั้ง โดยมอบที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 24360 ตามฟ้องให้ยึดถือเป็นประกัน ต่อมาโจทก์จะแบ่งขายที่ดินดังกล่าวให้นาย บ. และนาง ภ. ในราคา 600,000 บาท เพื่อนำเงินไปใช้หนี้นาง ม. วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 ก่อนวันทำสัญญาซื้อขายนาย บ. มอบเงิน 500,000 บาท ให้โจทก์นำไปชำระหนี้แก่นาง ม. เพื่อให้ได้โฉนดที่ดินคืนมา เนื่องจากโจทก์เป็นอัมพฤกษ์ จึงมอบให้จำเลยไปจัดการโอนเงินจำนวน 478,306 บาท เข้าบัญชีธนาคารของบุตรนาง ม. เพื่อชำระหนี้เงินกู้ทั้งหมด แล้วรับโฉนดที่ดินคืนมา จากนั้นวันเดียวกันในช่วงบ่ายก็ดำเนินการแบ่งแยกโฉนดที่ดินซึ่งมีการรังวัดไว้แล้วออกเป็น 5 แปลงตามฟ้อง แล้วนัดจดทะเบียนโอนขายในวันที่ 21 เดือนเดียวกัน ซึ่งจำเลยได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ไปดำเนินการเพราะโจทก์เดินไม่สะดวก วันดังกล่าวนาย บ. และนาง ภ. มอบเงิน 100,000 บาท ที่เหลือให้ แต่หักค่าธรรมเนียมโอน ค่าภาษี และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แล้ว คงเหลือประมาณ 50,000 บาท ซึ่งจำเลยได้มอบให้โจทก์แล้ว ต่อมาปี 2558 โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดราชบุรี ผลคดีคู่ความตกลงทำยอมกันในศาล โดยโจทก์ยอมจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร แต่โจทก์ผิดสัญญา จำเลยจึงบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 76755 ซึ่งเป็นหนึ่งในที่ดินแปลงที่แบ่งแยกออกขายทอดตลาด ขณะคดีอยู่ระหว่างการบังคับคดี โจทก์ก็ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เพื่อเป็นการต่อรองกับคดีที่จำเลยกำลังดำเนินการบังคับดังกล่าว การนำคดีมาฟ้องของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดสืบพยานโจทก์และจำเลย ศาลจังหวัดราชบุรีเห็นว่า กรณีมีปัญหาว่าคดีจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่ จึงส่งสำนวนให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 11
วินิจฉัยว่า คดีนี้ โจทก์ซึ่งเคยเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยฟ้องจำเลยโดยอ้างว่า ระหว่างสมรสโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยเป็นตัวแทนทำนิติกรรมขายที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัวให้แก่บุคคลภายนอก เมื่อจำเลยได้รับเงินที่ได้จากการขายที่ดินแล้วไม่ส่งมอบเงินให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยให้การสรุปได้ว่า โจทก์ได้รับเงินจากการขายที่ดินตามฟ้องแล้วโดยโจทก์นำเงินบางส่วนจากการขายที่ดินไปชำระหนี้ของโจทก์ บางส่วนให้จำเลยนำไปชำระค่าธรรมเนียม ค่าภาษีอากร ค่าใช้จ่ายอื่นในการขายที่ดิน และนำมาเป็นค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าขายที่ดินจากจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์หรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และความรับผิดของตัวแทนต่อตัวการที่ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 15 แม้คู่ความจะพิพาทกันในเรื่องเงินที่ได้จากการขายที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ แต่จำเลยก็มิได้โต้แย้งว่าเงินที่ได้จากการขายที่ดินตามฟ้องเป็นสินสมรส เมื่อมูลความแห่งคดีไม่ได้เป็นการพิพาทในเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา อันจะต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 มาใช้บังคับ จึงมิใช่คดีครอบครัวตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3)
วินิจฉัยว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว
วินิจฉัย ณ วันที่ 1 เดือน สิงหาคม พุทธศักราช 2559

วีระพล ตั้งสุวรรณ
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ)
ประธานศาลฎีกา

Share