คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3348/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้สัญญาจ้างแรงงานที่ทำกับโจทก์จะมีจำเลยที่ 2 กรรมการของจำเลยที่ 1 ลงชื่อเพียงคนเดียวและประทับตราของบริษัทไว้ ซึ่งไม่ถูกต้องตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ที่ต้องมีกรรมการอย่างน้อย สองคนลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัทก็ตาม แต่สัญญาดังกล่าว เป็นการกระทำที่อยู่ภายในขอบวัตถุที่ประสงค์ของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2ทำสัญญากับโจทก์ไปตามหน้าที่ในฐานะกรรมการ แม้การตั้งตัวแทนระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จะไม่ได้ทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ ก็ถือว่าจำเลยที่ 2 ทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ทั้งจำเลยที่ 1 ได้ยอมรับการเข้าทำงานของโจทก์ตามสัญญา และจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันตามสัญญาที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับโจทก์ โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยใช้เงินค่าน้ำมันรถประจำเดือน โบนัสประจำปี เงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายกรณีผิดสัญญาจ้างตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างและค่าชดเชย เนื่องจากจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด ฉะนั้นปัญหาว่าจำเลยต้องรับผิดจ่ายเงินตามฟ้องหรือไม่ ต้องพิจารณาจากสัญญาจ้างว่ามีการกระทำผิดสัญญาหรือไม่อย่างไร แต่ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยปัญหานี้ใหม่ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่สามารถทำงานให้เป็นไปตามมาตรฐานที่จำเลยที่ 1 ตั้งเป้าหมายไว้ มีเหตุให้จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ได้ ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์อุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานของจำเลยไม่ควรรับฟังดังกล่าว เป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยทั้งสองตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2531 ในตำแหน่งรองประธานอาวุโส มีรายได้เป็นเงินเดือนเดือนละ 77,500 บาท ค่าน้ำมันรถเดือนละ5,000 บาท ดังปรากฏรายละเอียดตามสัญญาจ้างงานเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2532 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิดและจำเลยมิได้จ่ายเงินใด ๆ ให้โจทก์ จำเลยค้างชำระค่าน้ำมันรถเป็นเวลา 4 เดือนเศษ จำเลยไม่ได้ให้ผลประโยชน์แก่โจทก์ตามที่ตกลงเช่น การประกันสุขภาพ การประกันชีวิต รถประจำตำแหน่ง รวมทั้งเงินโบนัส ขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าน้ำมันรถประจำเดือนตุลาคม 2531 ถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์2532 โบนัสประจำปี 2531 เงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตามสัญญาจ้างเป็นเวลา 3 เดือนเงินค่าเสียหายเนื่องจากผิดสัญญาจ้าง เท่ากับเงินเดือนส่วนที่คงเหลือทั้งหมดเป็นเวลา3 เดือนครึ่ง เงินค่าชดเชยเนื่องจากโจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดเท่ากับ 30 วัน เงินค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นธรรม พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี และจำเลยที่ 1 ให้การด้วยว่าสัญญาจ้างที่โจทก์ฟ้องมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อคนเดียว จึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 เพราะตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ต้องมีกรรมการผู้มีอำนาจลงนามกระทำแทนจำเลยที่ 1 จำนวน 2 คนกับจำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ไม่ใช่เลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใด ๆ ทั้งสิ้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2ทำหน้าที่แทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว สัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.จำเลยที่ 2 ชื่อคนเดียว ไม่ถูกต้องตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ซึ่งต้องมีกรรมการลงชื่ออย่างน้อยสองคนและประทับตราของบริษัท จำเลยที่ 1 จึงไม่มีภาระที่จะต้องปฏิบัติตามข้อความในสัญญาเอกสารหมาย จ.2 ไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าน้ำมันรถประจำเดือนโบนัสประจำปี เงินบอกกล่าวล่วงหน้าตามสัญญา ค่าเสียหายเนื่องจากผิดสัญญาจ้างโจทก์ไม่สามารถทำงานให้เป็นไปตามมาตราฐานที่จำเลยที่ 1 ตั้งเป้าหมายไว้การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์มิได้เกิดจากการกลั่นแกล้งโจทก์ การกระทำของโจทก์เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 77,500 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 41,517.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (8 พฤษภาคม 2532) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์คำขออย่างอื่นของโจทก์ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ในประการแรกว่าจำเลยที่ 1ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 ด้วย เห็นว่า ในปัญหานี้ถึงแม้ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 จะต้องมีกรรมการอย่างน้อยสองคนลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัท แต่สัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 มีจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ลงชื่อคนเดียวและประทับตราของบริษัทไว้ และเอกสารหมาย จ.2นั้นเป็นสัญญาจ้างแรงงานอันเป็นการกระทำที่อยู่ภายในขอบวัตถุที่ประสงค์ของจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเอกสารหมาย จ.2กับโจทก์ไปตามหน้าที่ที่จำเลยที่ 2 มีต่อจำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 สัญญาจ้างแรงงานนั้นกฎหมายมิได้กำหนดแบบไว้ว่าต้องทำเป็นหนังสือ หรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 ในกรณีนี้จึงไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือนอกจากนั้นจำเลยที่ 1 ยังยอมรับการเข้าทำงานของโจทก์ตามสัญญาและจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย จ.2 ตลอดมา ศาลฎีกาเห็นว่าไม่ว่าจะพิจารณาทางด้านแบบของนิติกรรมหรือเจตนาในการทำนิติกรรมก็ตามจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการจะต้องผูกพันตามนิติกรรมการจ้างงานที่ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 เมื่อวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 แล้วปัญหาต่าง ๆ ในประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 ที่ศาลแรงงานกลางกำหนดว่า จำเลยต้องรับผิดจ่ายเงินค่าน้ำมันรถประจำเดือน โบนัสประจำปี เงินบอกกล่าวล่วงหน้าตามสัญญา ค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยผิดสัญญาจ้าง ค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยหรือไม่ นั้นจะต้องพิจารณาจากสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 เป็นหลักว่ามีการกระทำผิดสัญญาหรือไม่ อย่างไร แต่ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาจึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 ใหม่
ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ในประเด็นเรื่องเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนั้น ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่สามารถทำงานให้เป็นไปตามมาตรฐานที่จำเลยที่ 1 ตั้งเป้าหมายไว้ มีเหตุให้จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ได้โจทก์อุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานของจำเลยไม่ควรรับฟังดังกล่าว เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้เป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนที่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาประเด็นข้อนี้ใหม่แล้วพิพากษาไปตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share