คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4718/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 บัญญัติให้ผู้อุทธรณ์ยื่นสำเนาอุทธรณ์ต่อศาลเพื่อส่งให้แก่จำเลยอุทธรณ์และตามแบบพิมพ์ของศาลท้ายอุทธรณ์ได้ระบุไว้ว่าโจทก์ได้ยื่นสำเนาอุทธรณ์โดยข้อความถูกต้องเป็นอย่างเดียวกันมาด้วยหนึ่งฉบับดังนั้นการที่ทนายโจทก์ได้ลงลายมือจริงไว้ในอุทธรณ์หาใช่เป็นการยื่นสำเนาอุทธรณ์โดยมีการรับรองข้อความถูกต้องเป็นอย่างเดียวกันไม่ เมื่อโจทก์ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้โจทก์หรือทนายโจทก์มาลงชื่อรับรองสำเนาอุทธรณ์เสียให้ถูกต้อง แต่โจทก์กลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดถือได้ว่าโจทก์ทิ้งอุทธรณ์ ศาลย่อมมีอำนาจที่จะสั่งจำหน่ายคดีโจทก์ออกจากสารบทความ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 132,174(2) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ฉบับแรกของโจทก์โดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์หรือทนายโจทก์จะต้องมาลงชื่อรับรองสำเนาอุทธรณ์ภายใน 15 วัน แต่โจทก์กลับส่งอุทธรณ์และสำเนาอุทธรณ์ฉบับที่สองซึ่งมีข้อความเหมือนอุทธรณ์ฉบับแรกมายังศาลโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ถือไม่ได้ว่าเป็นการยื่นอุทธรณ์ และสำเนาอุทธรณ์โดยชอบเพราะอุทธรณ์เป็นคำคู่ความ โจทก์จะต้องนำมายื่นต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 และมาตรา 229ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จึงไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 90, 91 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งในวันที่ 26 มกราคม 2533ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ว่า “รับอุทธรณ์ของโจทก์ ให้โจทก์หรือทนายโจทก์มารับรองสำเนาอุทธรณ์ก่อน โดยให้มาดำเนินการรับรองสำเนาใน 15 วัน แล้วจึงค่อยสำเนาให้จำเลยแก้” แต่เมื่อครบกำหนดแล้วเจ้าพนักงานของศาลรายงานว่าไม่ปรากฏว่าโจทก์หรือทนายโจทก์รับรองสำเนาอุทธรณ์ดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพื่อพิจารณาสั่งเป็นฉบับแรก ต่อมาวันที่14 กุมภาพันธ์ 2533 เจ้าพนักงานของศาลชั้นต้นได้รับอุทธรณ์และสำเนาอุทธรณ์จากโจทก์รวม 2 ชุด ซึ่งโจทก์ส่งมาทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งอุทธรณ์ดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพื่อพิจารณาสั่งอีกเป็นฉบับที่สอง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 สั่งอุทธรณ์ฉบับแรกของโจทก์ว่า “โจทก์เพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด ถือว่าโจทก์ทิ้งอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) จึงให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ” และสั่งอุทธรณ์ฉบับที่สองว่า–ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2532 โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ฉบับลงวันที่26 มกราคม 2533 (ฉบับที่สอง) แต่ศาลได้รับเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์2533 เลยระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงไม่รับอุทธรณ์”
โจทก์ฎีกาคำสั่งศาลอุทธรณ์ทั้งสองฉบับ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 229 บัญญัติให้ผู้อุทธรณ์ยื่นสำเนาอุทธรณ์ต่อศาลเพื่อส่งให้แก่จำเลยอุทธรณ์และตามแบบพิมพ์ของศาลท้ายอุทธรณ์ได้ระบุไว้ชัดเจนแล้วว่า โจทก์ได้ยื่นสำเนาอุทธรณ์โดยข้อความถูกต้องเป็นอย่างเดียวกันมาด้วยหนึ่งฉบับที่ทนายโจทก์ได้ลงลายมือชื่อจริงไว้ในอุทธรณ์หาใช่เป็นการยื่นสำเนาอุทธรณ์โดยมีการรับรองข้อความถูกต้องเป็นอย่างเดียวกันไม่ ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจสั่งให้โจทก์หรือทนายโจทก์มาลงชื่อรับรองสำเนาอุทธรณ์เสียให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 เมื่อโจทก์ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นโดยชอบแล้วเพิกเฉยไม่ดำเนินการภายในเวลาตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด ถือได้ว่าโจทก์ทิ้งอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1ย่อมมีอำนาจที่จะสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ออกจากสารบบความ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132, 174(2) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนอุทธรณ์ฉบับที่สอง ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับอุทธรณ์ฉบับแรกของโจทก์แล้วแต่ก็เป็นการสั่งรับโดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์หรือทนายโจทก์จะต้องมาลงชื่อรับรองสำเนาอุทธรณ์ภายใน15 วันด้วย เนื่องจากอุทธรณ์เป็นคำคู่ความ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(5) ฉะนั้นการยื่นอุทธรณ์และสำเนาอุทธรณ์ฉบับที่สอง แม้จะมีข้อความเหมือนอุทธรณ์ฉบับแรกที่โจทก์ยื่นต่อศาลหรือไม่ก็ตามโจทก์จะต้องนำมายื่นต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 และ มาตรา 229ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 การที่โจทก์ส่งอุทธรณ์และสำเนาอุทธรณ์ฉบับที่สองมายังศาลชั้นต้นโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้นำอุทธรณ์และสำเนาอุทธรณ์ฉบับที่สองมายื่นต่อศาล
พิพากษายืน

Share