คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4898/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยสั่งจ่ายเช็คครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2523 แต่ธนาคารโจทก์ทวงถามให้ชำระหนี้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2530 สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเกิดขึ้นเมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระหนี้คงเหลือ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้อง 25 มีนาคม 2539 ไม่ถึง 10 ปี นับแต่วันหักทอนบัญชี คดีไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2520 จำเลยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์สาขาบางจาก ตกลงให้เป็นบัญชีเดินสะพัดโดยจำเลยจะนำเงินเข้าฝากในบัญชีและจะเบิกถอนเงินออกจากบัญชีโดยเช็คที่โจทก์มอบให้และเมื่อโจทก์ผ่อนผันจ่ายเงินเกินกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีให้ถือว่าจำเลยเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีต่อโจทก์และจำเลยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยตามประเพณีทางค้าของธนาคารพาณิชย์โดยคิดเบี้ยเป็นรายวันแล้วนำดอกเบี้ยมาหักบัญชีเป็นรายเดือน หากจำเลยไม่ชำระดอกเบี้ยยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระมาทบเข้ากับเงินที่เบิกเกินบัญชีของยอดหนี้ในเดือนถัดไปไปจนกว่าจะมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระหนี้ที่ค้างอยู่ให้เสร็จสิ้นไปทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย ต่อมาจำเลยนำเงินเข้าฝากและถอนเงินจากบัญชีหลายครั้งเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์เรื่อยมาจนถึงวันที่ 30 มีนาคม 2530 โจทก์ได้หักทอนบัญชีกับจำเลย ปรากฏว่าจำเลยเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 67,711.90 บาท โจทก์บอกกล่าวทวงถามแล้ว จำเลยไม่ชำระให้จึงขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2530 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 91,355.41 บาท รวมเป็นเงิน 159,067.31 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจากต้นเงิน 67,711.90 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์มิได้ประกอบธุรกิจประเภทธนาคารพาณิชย์ จำเลยรับว่าเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้กับโจทก์จริงแต่ไม่เคยตกลงให้ทำเป็นบัญชีเดินสะพัดและไม่เคยตกลงให้คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยทบต้น ทั้งไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยค้างชำระที่เกินกว่า 5 ปี เพราะขาดอายุความ และฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากโจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 67,711.90 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย (ไม่ทบต้น) อัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 มีนาคม 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า เมื่อวันที่1 ธันวาคม 2520 จำเลยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้กับโจทก์ สาขาบางจาก มีข้อตกลงว่าหากโจทก์ผ่อนผันจ่ายเงินเกินกว่าเงินที่มีอยู่ในบัญชีแล้ว ให้ถือว่าจำเลยเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชี ตามคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.3โดยจำเลยนำเงินเข้าบัญชีครั้งแรก 50,000 บาท หลังจากนั้นจำเลยเดินสะพัดทางบัญชีมาตลอด และจำเลยได้สั่งจ่ายเงินจากบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2523ขณะนั้นจำเลยเป็นหนี้โจทก์ 20,573.36 บาท ต่อจากนั้นจำเลยไม่เคยนำเงินเข้าบัญชีและสั่งจ่ายเงินจากบัญชีอีก คงมีแต่รายการโจทก์คิดดอกเบี้ยประจำเดือน ตามการ์ดบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.5 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2530 ในการ์ดบัญชีกระแสรายวันจำเลยเป็นหนี้โจทก์ 67,711.90 บาท หลังจากนั้นจำเลยก็มิได้ติดต่อกับโจทก์ มิได้นำเงินฝากและสั่งจ่ายเช็คให้โจทก์จ่ายเงินอีกเลยจนถึงวันฟ้องคดีนี้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการเดียวว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าจำเลยนำเงินเข้าบัญชีครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2522 (ที่ถูกคือ 2523) หลังจากนั้นจำเลยไม่ได้นำเงินเข้าบัญชีอีก บัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์จำเลยเลิกกัน เมื่อหักทอนบัญชีครั้งหลังสุดในวันที่ 9 พฤษภาคม 2540 (ที่ถูกคือ 2523) โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2539 จึงเกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความเห็นว่า คำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 12 มีเนื้อความว่าถ้าเงินในบัญชีของผู้ฝากมีไม่พอจ่ายตามเช็ค โดยปกติธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินโดยสิ้นเชิง แต่เมื่อธนาคารได้ผ่อนผันจ่ายให้ไป ผู้ฝากย่อมเป็นอันยอมรับผูกพันตนที่จะจ่ายเงินส่วนที่เกินคืนให้ธนาคารเสมือนหนึ่งได้ขอร้องเปิดเงินเกินบัญชีไว้กับธนาคาร ในกรณีที่เงินในบัญชีเงินฝากมีไม่พอจ่ายตามเช็คหลายฉบับที่นำมาเรียกเก็บพร้อม ๆ กัน ธนาคารทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะจ่ายเงินตามเช็คฉบับใดก็ได้ กับข้อ 19 มีเนื้อความว่า ธนาคารคิดดอกเบี้ยเงินเกินบัญชีเป็นรายวัน (ดอกเบี้ยทบต้น) และจะนำผลดอกเบี้ยนั้นหักบัญชีเป็นรายเดือนข้อตกลงนี้จะใช้ในทุกกรณีจากเนื้อความดังกล่าวจะเห็นได้ว่ามีการตกลงกันซึ่งถือได้ว่าเป็นสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์และจำเลย โจทก์จำเลยจะต้องผูกพันปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว การที่จำเลยทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ ขณะโจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์มีการนำเงินเข้าฝากในบัญชีและเบิกเงินเกินบัญชีอยู่เรื่อย ๆ โดยวิธีใช้เช็คสั่งจ่ายหลายครั้ง และยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นตามธรรมเนียมประเพณีของธนาคารดังนี้เข้าลักษณะสัญญาบัญชีเดินสะพัด ฉะนั้นแม้หลังจากจำเลยใช้เช็คสั่งจ่ายเบิกเงินครั้งสุดท้ายแล้วเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2523 บัญชีของจำเลยได้หยุดเดินสะพัด โดยจำเลยมิได้นำเงินเข้าฝากหรือเบิกเงินจากธนาคารโจทก์อีกเลย จนถึงวันฟ้องคดีนี้จะเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี แล้วก็ตาม กรณีก็ต้องนำบทบัญญัติเกี่ยวด้วยเรื่องบัญชีเดินสะพัดมาปรับ ซึ่งการชำระหนี้ย่อมต้องปฏิบัติตามวิธีการของสัญญาบัญชีเดินสะพัดคือให้กระทำได้เมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลือ ไม่ปรากฏว่าการเบิกเงินเกินบัญชีนี้ได้ตกลงกันชำระหนี้เสร็จสิ้นเมื่อใด สิทธิเรียกร้องให้ชำระเงินเบิกเกินบัญชีจึงเกิดขึ้นเมื่อมีการหักทอนบัญชีกัน และเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลืออันเป็นการเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856, 859 ตามการ์ดบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.5 ปรากฏว่าในวันที่ 30 มีนาคม 2530 จำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่ 67,711.90 บาท ซึ่งโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลย ฝ่ายจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านยอดหนี้และไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ ดังนี้ถือได้ว่าโจทก์ประสงค์บอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดโดยนับแต่วันหักทอนบัญชีกันแล้วเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2530 สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้เงินเบิกเกินบัญชีจึงเกิดขึ้นเมื่อมีการหักทอนบัญชีกันแล้ว และเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลือ เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2539 จึงยังไม่ถึง 10 ปี นับแต่วันหักทอนบัญชีกัน ฟ้องโจทก์ยังไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share