คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6349/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนจำเลยที่ 3 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีก่อน จำเลยที่ 1ได้เบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญาจากโจทก์แล้ว อันทำให้เกิดมูลหนี้ที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน หนี้ตามสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 3 จึงเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 เด็ดขาด อยู่ในบังคับที่โจทก์จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ แม้หนี้ตามสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 3 จะยังไม่ถึงกำหนดชำระในขณะที่จำเลยที่ 3 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เพราะจำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดนัด โจทก์ก็ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมูลหนี้สัญญาค้ำประกันในคดีล้มละลายคดีก่อนภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 27,91,94 เมื่อโจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายดังกล่าวจนได้มีการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายและศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ของจำเลยที่ 3 แล้ว โจทก์ก็ต้องถูกผูกมัดโดยการประนอมหนี้ด้วยตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 56 โจทก์จะนำหนี้ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดและล้มละลายอีกไม่ได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายในคดีหมายเลขแดงที่ ล.305/2526 ขณะนี้ยังเป็นบุคคลล้มละลายอยู่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 3 เป็นบุคคลล้มละลายในคดีนี้อีก ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสามขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้น มีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ได้ความจากคำเบิกความของนายพรชัย พานิชพยานโจทก์ว่า หลังจากทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแล้วได้มีการเดินสะพัดทางบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินออกไปมากกว่านำเงินเข้าบัญชี และปรากฏตามเช็คที่โจทก์อ้างส่งต่อศาลเป็นหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวโดยสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ 30 กันยายน 2526 จำนวนเงิน 175,019.18 บาทวันที่ 18 ตุลาคม 2526 จำนวนเงิน 2,000,000 บาท วันที่ 12 ตุลาคม2526 จำนวนเงิน 596 บาท วันที่ 31 ตุลาคม 2526 จำนวนเงิน180,853.15 บาท วันที่ 9 พฤศจิกายน 2526 จำนวนเงิน 2,343 บาทวันที่ 10 พฤศจิกายน 2526 จำนวนเงิน 2,500 บาท วันที่ 14 พฤศจิกายน2526 จำนวนเงิน 651 บาท และวันที่ 30 พฤศจิกายน 2526 จำนวนเงิน175,019.18 บาท เป็นต้น ดังนี้ แสดงให้เห็นว่า ก่อนจำเลยที่ 3ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีหมายเลขแดงที่ ล.305/2526ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญาจากโจทก์แล้วอันทำให้เกิดมูลหนี้ที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน หนี้ตามสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 3 จึงเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3เด็ดขาด อยู่ในบังคับที่โจทก์จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ แม้หนี้ตามสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 3 จะยังไม่ถึงกำหนดชำระในขณะที่จำเลยที่ 3 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เพราะจำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดนัดโจทก์ก็ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมูลหนี้สัญญาค้ำประกันในคดีหมายเลขแดงที่ ล.305/2526 ของศาลชั้นต้น ภายในกำหนดเวลา 2 เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 27, 91 และ 94 เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายดังกล่าว จนได้มีการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายและศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ของจำเลยที่ 3แล้ว โจทก์ก็ต้องถูกผูกมัดโดยการประนอมหนี้ด้วยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 56 โจทก์จะนำหนี้ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดและล้มละลายอีกไม่ได้ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 153
พิพากษายืน

Share