แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การกระทำความผิดฐานให้ที่พักอาศัย ซ่อนเร้นหรือช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นการจับกุม ซึ่งศาลจะมีอำนาจใช้ดุลพินิจไม่ลงโทษผู้กระทำก็ได้ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคท้าย นั้น จะต้องเป็นการกระทำเพื่อช่วยบิดามารดา สามีหรือภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้กระทำเท่านั้น ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความตามบันทึกการจับกุมซึ่งเป็นเอกสารแนบท้ายคำร้องขอให้ศาลออกหมายขังครั้งที่ 1 ของพนักงานสอบสวนว่า ขณะจับกุมจำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากันกำลังร่วมกันแผ้วถางวัชพืชและไม้ขนาดเล็กในที่ดินเกิดเหตุโดยไม่มีเอกสารสิทธิ แต่ตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยทั้งสองของเจ้าพนักงานคุมประพฤติคงปรากฏว่าจำเลยที่ 2 อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 1 โดยไม่ปรากฏว่าได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่อาจใช้ดุลพินิจไม่ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามมาตรานี้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31, 35 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54, 72 ตรี, 74 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 , 81 และริบมีดพร้าของกลาง ให้จำเลยทั้งสอง คนงานผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยทั้งสองออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 (ที่ถูก 54 วรรคหนึ่ง), 72 ตรี วรรคหนึ่ง วรรคสาม, 74 ทวิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง, วรรคสาม, 35 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 (ที่ถูก 64 วรรคหนึ่ง) การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัย ก่นสร้าง แผ้วถางหรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ อันเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 1 ปี ฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 เดือน ฐานให้ที่พักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยเหลือด้วยประการใดๆ เพื่อให้บุคคลต่างด้าวพ้นจากการจับกุม จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 2 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 7 เดือน คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 9 เดือน ให้จำเลยทั้งสอง คนงานผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยทั้งสองออกจากป่าสงวนแห่งชาติ ริบมีดพร้าของกลาง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ตัดฟันต้นไม้ในที่เกิดเหตุโดยมีผู้อื่นแผ้วถางและตัดฟันต้นไม้ใหญ่ในที่เกิดเหตุก่อนแล้ว จำเลยที่ 2 เพียงแต่แผ้วถางสวนยางพาราไม่ให้รกเท่านั้นเป็นทำนองว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำความผิดนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพตามฟ้องโดยไม่ได้ต่อสู้เป็นประการอื่น จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจยกข้อต่อสู้ดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้เพราะเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ ปัญหาต่อไปมีว่า การที่จำเลยที่ 2 ให้ที่พักอาศัยซ่อนเร้นหรือช่วยเหลือด้วยประการใดๆ เพื่อให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคนต่างด้าวและเป็นสามีของจำเลยที่ 2 พ้นการจับกุม ศาลจะไม่ลงโทษจำเลยที่ 2 ได้หรือไม่ เห็นว่า การกระทำความผิดฐานให้ที่พักอาศัย ซ่อนเร้นหรือช่วยเหลือด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นการจับกุม ซึ่งศาลจะมีอำนาจใช้ดุลพินิจไม่ลงโทษผู้กระทำก็ได้ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคท้าย นั้น จะต้องเป็นการกระทำเพื่อช่วยบิดา มารดา สามีหรือภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้กระทำเท่านั้นดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความตามบันทึกการจับกุมซึ่งเป็นเอกสารแนบท้ายคำร้องขอให้ศาลออกหมายขังครั้งที่ 1 ของพนักงานสอบสวนว่า ขณะจับกุมจำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากันกำลังร่วมกันแผ้วถางวัชพืชและไม้ขนาดเล็กในที่ดินเกิดเหตุโดยไม่มีเอกสินธิ และตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยทั้งสองของเจ้าพนักงานคุมประพฤติคงปรากฎว่า จำเลยที่ 2 อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 1 โดยไม่ปรากฏว่าได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาจึงไม่อาจใช้ดุลพินิจไม่ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามมาตรานี้ได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคนต่างด้าวบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองและปลูกต้นยางพาราในเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นเนื้อที่ 8 ไร่ การกระทำของจำเลยที่ 2 กับพวกเป็นการร่วมกันทำลายทรัพยากรป่าไม้ที่สำคัญของประเทศเป็นต้นเหตุให้ป่าไม้เสื่อมสภาพและมีจำนวนลดน้อยลงย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 เป็นภัยแก่สภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 โดยไม่รอการลงโทษให้นั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เช่นกัน แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานบุกรุกยึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติก่อนลดโทษมีกำหนด 1 ปี หนักเกินไป สมควรวางโทษเสียใหม่ให้เบาลง ปัญหาดังกล่าวเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองในความผิดฐานบุกรุกยึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติ มีกำหนดคนละ 6 เดือน ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุกจำเลยทั้งสองมีกำหนดคนละ 3 เดือน เมื่อรวมกับโทษจำคุก 1 เดือน ฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตของจำเลยที่ 1 และโทษจำคุก 3 เดือน ฐานให้ที่พักอาศัย ซ่อนเร้น ช่วยเหลือด้วยประการใดๆ เพื่อให้บุคคลต่างด้าวพ้นจากการจับกุมตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 แล้ว คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8