แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องโจทก์กล่าวว่า จำเลยกับพวกสะสมกำลับเครื่องศาสราวุธ สมคบกันตระเตรียมการและพยายามก่อการขบถช่วยกันปกปิดความผิด ไม่นำความไปร้องเรียน และได้สมคบกันลงมือกระทำการขบถ ทั้งได้บรรยายรายละเอียดแห่งการกระทำของจำเลยไว้โดยชัดแจ้งแล้วย่อมเป็นฟ้องที่ถูกต้องตาม ป.ม.วิอาญามาตรา 158 โจทก์ไม่จำต้องกล่าวเจาะจงจำเลยเป็นคน ๆ ไปว่าผู้ใดกระทำอย่างใด ที่ไหน เวลาใดบ้าง
รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับเป็นหลักแห่งการปกครองพระราชอาณาจักรแต่ละฉบับย่อมมีบทบัญญัติแตกต่างกันราชประเพณีการปกครองย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามรัฐธรรมนูญนั้น การที่จำเลยนำเอารัฐธรรมนูญแห่งประเทศไทยฉบับอื่นมาใช้แทนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครองพระราชอาณาจักร
รัฐบาลที่ได้ตั้งขึ้นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นได้เข้าครอบครองและบริหารราชการแผ่นดินด้วยความสำเร็จเด็ดขาดและรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศชาติตลอดมา เป็นที่ยอมรับนับถือกันทั่วไปว่าเป็นรัฐบาลอันสมบูรณ์มาช้านานจนบัดนี้ ย่อมถือว่าเป็นรัฐบาลอันชอบด้วยกฎหมาย
พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ที่นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 กลับมาใช้ใน พ.ศ.2492 หาได้ไช้แก่ผู้ที่จะนำรัฐธรรมนูญฉบับอื่นมาใช้ไม่
ย่อยาว
คดี ๔ สำนวนนี้ โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยกับพวกสมคบกันกระทำการขบถในราชอาณาจักร ขอให้ลงโทษตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๑๐๑,๑๐๒,๖๓
จำเลยทุกคนให้การปฏิเสธ และตัดฟ้องว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม และพิพากษาว่าจำเลย ๑๑ คนมีความผิดตามมาตรา ๑๐๑,๕๙ ประกอบกับมาตรา ๓๘(๒) ให้จำคุกคนละ ๙ ปี ส่วนจำเลยอีก ๑๖ คนให้ยกฟ้องปล่อยตัวไป
โจทก์และจำเลยที่ต้องโทษอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำคุกพลตรีสมบูรณ์ ร.อ.ล้วนและนายประชุมจำเลย คนละ ๙ ปี และยกฟ้อง ร.อ.เจริญจำเลย นอกนั้นยืนตาม
โจทก์และจำเลยที่ต้องโทษฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาเห็นว่า
(๑) ฟ้องของโจทก์หาว่าจำเลยกับพวกสะสมกำลับเครื่องศาสตราวุธ สมคบกันตระเตรียมการและพยายามก่อการขบถ ช่วยกันปกปิดความผิดโดยไม่นำความไปร้องเรียน และได้สมคบกันลงมือกระทำการขบถ ทั้งได้บรรยายรายละเอียดแห่งการกระทำของจำเลยไว้โดยชัดแจ้งแล้วฟ้องของโจทก์ย่อมเป็นฟ้องที่ถูกต้องตาม ป.ม.วิ.อาญามาตรา ๑๕๘ โจทก์ไม่ต้องกล่าวเจาะจงจำเลยเป็นคน ๆ ไปว่า ผู้ใดกระทำอย่างใด ที่ไหน เวลาใดบ้าง
(๒) จำเลยกล่าวว่า การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในขณะนั้น แล้วนำรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.๒๔๗๕ มาใช้แทนไม่นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครองพระราชอาณาจักร ศาลฎีกาเห็นว่า รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับเป็นหลักแห่งการปกครองพระราชอาณาจักร แต่ละฉบับย่อมมีบทบัญญัติแตกต่างกัน ราชประเพณีการปกครองย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามรัฐธรรมนูญนั้น การที่จำเลยนำเอารัฐธรรมนูญฉบับอื่นมาใช้แทนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครองพระราชอาณาจักร
(๓) จำเลยเถียงว่า รัฐบาลที่โจทก์หาว่าจำเลยกับพวกจะล้มล้างทำลายเป็นรัฐบาลไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเป็นรัฐบาลที่ตั้งขึ้นจากรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลฎีกาเห็นว่ารัฐบาลที่โจทก์หาว่าพวกจำเลยทำลายนั้นเป็นรัฐบาลที่ตั้งขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นคือรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๔๙๐ รัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ได้เข้าครอบครองและบริหารราชการแผ่นดินด้วยความสำเร็จเด็ดขาดและรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศชาติไว้ได้และตลอดมาเป็นที่ยอมรับนับถือว่าเป็นรัฐบาลอันชอบด้วยกฎหมายมาช้านานจนบัดนี้ ไม่มีเหตุอันใดที่จะไม่ถือว่าเป็นรัฐบาลอันชอบด้วยกฎหมาย
(๔) จำเลยเถียงว่า หากจะถือว่าการกระทำของจำเลยเป็นผิด จำเลยก็ได้รับนิรโทษกรรมตามพ.ร.บ. นิรโทษกรรมแก่ผู้ที่นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๔๗๕ กลับมาใช้ใน พ.ศ.๒๔๙๔ ศาลฎีกาเห็นว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าว หาใช่ใช้แก่จำเลยไม่ เพราะความจริงขณะเกิดเหตุ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.๒๔๙๐ ยังใช้บังคับอยู่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำเพื่อให้มีการเลิกใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.๒๔๙๐ หาใช่เลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๙๒ ไม่ การกระทำของจำเลยไม่เข้าข่ายได้รับนิรโทษกรรม
พิพากษาแก้ในข้อเท็จจริง ให้ยกฟ้องปล่อยตัว ร.อ.ล้วนและนายประชุมจำเลย นอกนั้นยืนตาม