แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเบิกความเท็จ แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีข้อหาใด และข้อความที่จำเลยเบิกความอันเป็นเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร อีกทั้งความจริงเป็นอย่างไรแน่ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5).(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเบิกความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘แม้โจทก์จะกล่าวถึงคดีเดิมว่า โจทก์ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาของศาลมณฑลทหารบกที่ 7 (ศาลจังหวัดเชียงใหม่) หมายเลขดำที่ 844/2522 ระหว่าง พนักงานอัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 7 (อัยการจังหวัดเชียงใหม่) โจทก์ นายอดุลย์บุญเรือง จำเลย และว่าศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ประหารชีวิตโจทก์ ตามสำเนาคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6/2525 ของศาลมณฑลทหารบกที่ 7 ซึ่งโจทก์จะได้เสนอต่อศาลในชั้นพิจารณาต่อไป เมื่อโจทก์ไม่ส่งสำเนาคำพิพากษาดังกล่าวแนบมากับฟ้องจึงไม่อาจทราบได้ว่าคดีดังกล่าวโจทก์ถูกฟ้องข้อหาอะไรฉะนั้น ฟ้องโจทก์จึงไม่อาจเข้าใจได้ว่า ข้อความที่จำเลยเบิกความต่อศาลนั้นเป็นข้อสำคัญแห่งคดีหรือไม่ เพราะโจทก์มิได้บรรยายมาว่าข้อสำคัญแห่งคดีเดิมนั้นมีว่าอย่างไรทั้งฟ้องโจทก์ก็ขัดกันอยู่ในตัว ไม่แจ้งว่าที่จำเลยเบิกความเท็จนั้น ความจริงเป็นอย่างไรแน่ โจทก์กล่าวรวมๆ มาว่าความจริงจำเลยมิได้อยู่ในที่เกิดเหตุหรือไม่เห็นเหตุการณ์ที่คนร้ายกระทำความผิด รวมทั้งไม่เห็นโจทก์ในบริเวณที่เกิดเหตุแต่อย่างหนึ่งอย่างใดเลย จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.