คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1950/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลสัญชาติญวนร้องขอต่อศาลให้สั่งนายอำเภอในฐานะนายทะเบียนครอบครัวจดทะเบียนสมรสให้แก่ผู้ร้องทั้งสองนั้นแม้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481 มาตรา 10 และมาตรา 19 จะบัญญัติว่าความสามารถของบุคคลและเงื่อนไขแห่งการสมรสให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น ๆ ก็ตาม แต่ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวผู้ร้องก็หาได้มีหน้าที่พิสูจน์ถึงความสามารถและเงื่อนไขดังกล่าวแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่และเมื่อไม่มีฝ่ายใดนำสืบว่าตามกฎหมายสัญชาติของผู้ร้องในเรื่องนี้มีอยู่อย่างไร จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องทั้งสองมีเงื่อนไขที่จะทำการสมรสได้ครบถ้วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว นายอำเภอก็ไม่ชอบที่จะปฏิเสธไม่ยอมจดทะเบียนสมรสให้ผู้ร้องทั้งสอง.

ย่อยาว

ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องที่ ๑ เป็นคนต่างด้าวผู้ร้องทั้งสองอยู่กินเป็นสามีภริยากันตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๑ และมีบุตรด้วยกัน ๗ คน ได้ยื่นคำร้องต่อนายอำเภอเมืองนครพนมในฐานะนายทะเบียนเพื่อขอจดทะเบียนสมรส แต่นายทะเบียนไม่ดำเนินการให้ขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายทะเบียนอำเภอเมืองนครพนมจดทะเบียนสมรสให้ผู้ร้องทั้งสอง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องทั้งสองเป็นคนสัญชาติญวนความสามารถและเงื่อนไขการสมรสต้องเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของผู้ร้อง เมื่อผู้ร้องไม่แสดงให้ทราบ จึงไม่อาจจดทะเบียนสมรสให้ได้ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นายทะเบียนอำเภอเมืองนครพนมจดทะเบียนสมรสให้ผู้ร้องทั้งสอง
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาในชั้นฎีกาเพียงว่า การที่ผู้ร้องทั้งสองเป็นบุคคลสัญชาติญวนร้องขอต่อศาลให้สั่งผู้คัดค้านจดทะเบียนสมรสให้แก่ผู้ร้องทั้งสองผู้ร้องย่อมมีหน้าที่พิสูจน์ว่าผู้ร้องมีความสามารถและเงื่อนไขแห่งการสมรสครบถ้วนตามกฎหมายของประเทศเวียดนาม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช ๒๔๘๑ นั้น เห็นว่า แม้ตามกฎหมายดังกล่าวมาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๙ จะบัญญัติว่าความสามารถของบุคคลและเงื่อนไขแห่งการสมรสให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น ๆ ก็ตาม แต่ตามกฎหมายดังกล่าว มาตรา ๘ บัญญัติว่า ‘ในกรณีที่จะต้องใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับ ถ้ามิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นให้เป็นที่พอใจแก่ศาลให้ใช้กฎหมายภายในแห่งประเทศสยาม’ ผู้ร้องจึงหามีหน้าที่พิสูจน์ถึงความสามารถและเงื่อนไขดังกล่าวแต่เพียงฝ่ายเดียว และเมื่อไม่มีฝ่ายใดนำสืบว่าตามกฎหมายสัญชาติของผู้ร้องคือประเทศเวียดนามในเรื่องนี้มีอยู่อย่างไร กรณีจึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา ๘ กล่าวคือ ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าผู้ร้องทั้งสองมีเงื่อนไขที่จะทำการสมรสได้ครบถ้วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ผู้คัดค้านก็ไม่ชอบที่จะปฏิเสธไม่ยอมจดทะเบียนสมรสให้ผู้ร้องทั้งสอง
พิพากษายืน

Share