แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามสัญญาค้ำประกันหนี้สินที่จำเลยทั้งสี่ทำไว้กับบริษัทเงินทุน ย. นั้น เป็นการค้ำประกันเพื่อชำระหนี้ในเมื่อบริษัท ก. ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เมื่อต่อมาบริษัท ก. ลูกหนี้จดทะเบียนเลิกบริษัท อันมีผลให้ลูกหนี้สิ้นสภาพนิติบุคคล สัญญาค้ำประกันที่จำเลยทั้งสี่ทำไว้จึงไม่มีลูกหนี้ที่จำเลยทั้งสี่จะต้องค้ำประกันอีกต่อไป สัญญาค้ำประกันจึงสิ้นผลไปโดยปริยาย แม้เช็คทั้ง 17 ฉบับ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัท ก. ลูกหนี้จะลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและประทับตราสำคัญของบริษัทก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าเช็คดังกล่าวเป็นเช็คของลูกหนี้ ดังนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดต่อบริษัทเงินทุน ย. ในฐานะผู้ค้ำประกันตามสัญญาวงเงินขายตั๋วลดเช็คที่เกิดขึ้นภายหลังจากลูกหนี้สิ้นสภาพนิติบุคคลไปแล้ว
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัท ก. ลูกหนี้ รู้ดีว่าในวันที่จำเลยทั้งสองสั่งจ่ายเช็คทั้ง 17 ฉบับ พร้อมประทับตราสำคัญของบริษัทนั้น บริษัท ก. ลูกหนี้ได้สิ้นสภาพนิติบุคคลไปแล้ว แต่จำเลยทั้งสองยังถือโอกาสที่บริษัทเงินทุน ย. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่รู้ถึงการบอกเลิกบริษัทของตนนำเช็คที่สั่งจ่ายในนามของบริษัท ก. ไปขายลดให้แก่บริษัทเงินทุน ย. อีก ซึ่งการกระทำดังกล่าวจำเลยที่ 1 และที่ 3 ย่อมได้เงินจากการขายลดเช็ค โดยทราบดีว่าเจ้าหนี้ไม่อาจจะบังคับเอาจากบริษัท ก. ลูกหนี้ได้เพราะลูกหนี้ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทไปก่อนแล้ว อันเป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 5 ซึ่งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเช็คพิพาทเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสี่ได้ยกขึ้นให้การต่อสู้โจทก์ และจำเลยที่ 4 นำสืบในศาลชั้นต้นแล้วไม่ใช่ข้อเท็จจริงใหม่ที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาก่อน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจนำข้อกฎหมายมาปรับวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตได้ จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงไม่อาจอ้างการสิ้นสภาพบุคคลแห่งบริษัท ก. เป็นข้อแก้ตัวเพื่อให้ตนพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้ เพราะเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 7,375,835.62 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงิน 4,250,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงจากทางนำสืบและที่โจทก์ไม่ฎีกาโต้แย้งฟังได้ว่า บริษัทโกลเด้นฮิลล์รีสอร์ท จำกัด ทำสัญญาวงเงินขายลดตั๋วเงินกับบริษัทเงินทุน ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) โดยมีจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาบริษัทโกลเด้นฮิลล์รีสอร์ท จำกัด จดทะเบียนเลิกบริษัทและมีการชำระบัญชีแต่ยังไม่ปิดบัญชีกระแสรายวันซึ่งบริษัทโกลเด้นฮิลล์รีสอร์ท จำกัด ทำไว้กับธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) หลังจากเลิกบริษัทแล้วระหว่างวันที่ 4 มีนาคม 2540 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2540 จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทโกลเด้นฮิลล์รีสอร์ท จำกัด ได้ลงลายมือชื่อและประทับตราบริษัทสั่งจ่ายเช็คธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) รวม 17 ฉบับ แล้วนำไปขายลดแก่บริษัทเงินทุน ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) แต่เช็คทั้ง 17 ฉบับ ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ต่อมาบริษัทเงินทุน ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) ถูกกระทรวงการคลังสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการและให้องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินนำสินทรัพย์ของบริษัทเงินทุน ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) ออกประมูลขายซึ่งโจทก์เป็นผู้ประมูลได้ เมื่อผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายคดีของโจทก์ตรวจดูสินทรัพย์ของบริษัทเงินทุน ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) และพบว่าบริษัทโกลเด้นฮิลล์รีสอร์ท จำกัด เป็นหนี้ตามสัญญาวงเงินขายลดตั๋วเงินจากการนำเช็คธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) 17 ฉบับ มาขายลดแก่บริษัทเงินทุน ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) แล้ว โจทก์ได้ทวงถามไปยังบริษัทโกลเด้นฮิลล์รีสอร์ท จำกัด เพื่อให้ชำระหนี้จึงทราบว่าบริษัทโกลเด้นฮิลล์รีสอร์ท จำกัด ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทไปก่อนที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 จะนำเช็คทั้ง 17 ฉบับ มาขายลดแก่บริษัทเงินทุน ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) โจทก์จึงเรียกร้องให้จำเลยทั้งสี่รับผิดแทนในฐานะผู้ค้ำประกัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการเดียวว่า จำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ตามสัญญาค้ำประกันหนี้สินที่จำเลยทั้งสี่ทำไว้กับบริษัทเงินทุน ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) นั้น เป็นการค้ำประกันเพื่อชำระหนี้ในเมื่อบริษัทโกลเด้นฮิลล์รีสอร์ท จำกัด ลูกหนี้ไม่ชำระ เมื่อต่อมาปรากฏว่าบริษัทโกลเด้นฮิลล์รีสอร์ท จำกัด ลูกหนี้จดทะเบียนเลิกบริษัท อันมีผลทำให้ลูกหนี้สิ้นสภาพนิติบุคคล สัญญาค้ำประกันที่จำเลยทั้งสี่ทำไว้กับบริษัทเงินทุน ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) จึงไม่มีลูกหนี้ที่จำเลยทั้งสี่จะต้องค้ำประกันอีกต่อไป สัญญาค้ำประกันหนี้สินที่จำเลยทั้งสี่ทำไว้กับบริษัทเงินทุน ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) จึงสิ้นผลไปโดยปริยาย แม้เช็คทั้ง 17 ฉบับ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทลูกหนี้จะลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและประทับตราสำคัญของบริษัทก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าเช็คดังกล่าวเป็นเช็คของบริษัทโกลเด้นฮิลล์รีสอร์ท จำกัด เพราะบริษัทโกลเด้นฮิลล์รีสอร์ท จำกัด ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทไปแล้ว ดังนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดต่อบริษัทเงินทุน ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ค้ำประกันตามสัญญาวงเงินขายลดตั๋วเงินที่เกิดขึ้นหลังจากบริษัทโกลเด้นฮิลล์รีสอร์ท จำกัด ลูกหนี้สิ้นสภาพนิติบุคคลไปแล้ว แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันและเป็นกรรมการของบริษัทโกลเด้นฮิลล์รีสอร์ท จำกัด รู้ดีว่าในวันที่จำเลยทั้งสองสั่งจ่ายเช็คทั้ง 17 ฉบับ พร้อมประทับตราสำคัญของบริษัทนั้น บริษัทโกลเด้นฮิลล์รีสอร์ท จำกัด ได้สิ้นสภาพนิติบุคคลไปแล้ว แต่จำเลยทั้งสองก็ยังถือโอกาสที่บริษัทเงินทุน ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) ที่เป็นบุคคลภายนอกไม่รู้ถึงการเลิกบริษัทของตน นำเช็คที่สั่งจ่ายในนามของบริษัทไปขายลดให้แก่บริษัทเงินทุน ยูไนเต็ด จำกัด อีก ซึ่งการกระทำดังกล่าวจำเลยที่ 1 และที่ 3 ย่อมได้เงินจากการขายลดเช็คทั้ง 17 ฉบับ ไปจากบริษัทเงินทุน ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) โดยทราบดีว่าบริษัทเงินทุน ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้ไม่อาจจะบังคับเอาจากบริษัทโกลเด้นฮิลล์รีสอร์ท จำกัด ได้เพราะบริษัทโกลเด้นฮิลล์รีสอร์ท จำกัด ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทไปก่อนแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงไม่อาจอ้างการสิ้นสภาพนิติบุคคลของบริษัทโกลเด้นฮิลล์รีสอร์ท จำกัด เป็นข้อแก้ตัวเพื่อให้ตนพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้ เพราะเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต อันเป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 ที่บัญญัติว่า “ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต” ซึ่งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเช็คพิพาท เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสี่ได้ยกขึ้นมาให้การต่อสู้โจทก์และจำเลยที่ 4 นำสืบในศาลชั้นต้นแล้ว ไม่ใช่ข้อเท็จจริงใหม่ที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาก่อน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจนำกฎหมายมาปรับวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ใช้สิทธิไม่สุจริตได้ ดังนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 3 ต้องร่วมกันชดใช้เงินตามเช็คทั้ง 17 ฉบับ ให้แก่บริษัทเงินทุน ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินในแต่ละฉบับจนกว่าจะชำระเสร็จแก่บริษัทเงินทุน ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) ซึ่งจากเช็คและใบคืนเช็คได้ความว่า เช็คทั้ง 17 ฉบับ สั่งจ่ายเงินจำนวน 250,000 บาท เท่ากัน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินไม่ตรงกัน คือปฏิเสธการจ่ายเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2540, 11 มีนาคม 2540, 14 มีนาคม 2540, 18 มีนาคม 2540, 21 มีนาคม 2540, 8 เมษายน 2540, 11 เมษายน 2540, 16 เมษายน 2540, 18 เมษายน 2540, 22 เมษายน 2540, 25 เมษายน 2540, 6 พฤษภาคม 2540, 9 พฤษภาคม 2540, 14 พฤษภาคม 2540, 16 พฤษภาคม 2540 และ 21 พฤษภาคม 2540 โดยมีเฉพาะวันที่ 11 มีนาคม 2540 ที่ปฏิเสธการจ่ายเงินพร้อมกัน 2 ฉบับ เมื่อโจทก์ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องของบริษัทเงินทุน ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) มาโดยถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยดังได้วินิจฉัยมาแก่โจทก์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทุกคนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 4,250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 250,000 บาท นับแต่วันที่ 10 มีนาคม 2540, 14 มีนาคม 2540, 18 มีนาคม 2540, 21 มีนาคม 2540, 8 เมษายน 2540, 11 เมษายน 2540, 16 เมษายน 2540, 18 เมษายน 2540, 22 เมษายน 2540, 25 เมษายน 2540, 6 พฤษภาคม 2540, 9 พฤษภาคม 2540, 14 พฤษภาคม 2540, 16 พฤษภาคม 2540, 21 พฤษภาคม 2540 และของต้นเงิน 500,000 บาท นับแต่วันที่ 11 มีนาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 4 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์